นั่งศึกษาประวัติชีวิตของ Franklin D. Roosevelt (FDR) มาสักระยะ ยังไม่แตกฉานนัก แต่คิดว่าได้เวลาเขียนเรื่องนี้
เหตุผลที่ศึกษาเป็นเพราะว่า วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยเอง ตั้งแต่ก่อนวิกฤต COVID-19 ก็ถือว่าโคม่าอยู่แล้ว เติบโตน้อยที่สุดในอาเซียนเมื่อเทียบกับประเทศขนาดเดียวกัน และมองไม่เห็นปัจจัยบวกจากภายนอกเข้ามาช่วยได้เลย
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลก ที่พอเทียบเคียงได้คือ Great Depression ที่เริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1929 และลุกลามไปทั่วโลก มีการประเมินว่าช่วง 4 ปีหลังวิกฤต (1929-1932) GDP รวมของโลกหายไปถึง 15% เลยทีเดียว
ขนาดและผลกระทบนี่เทียบกันไม่ได้เลยกับ วิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 (แค่บางประเทศ และบางเซกเตอร์) หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 (แค่บางประเทศ และบางเซกเตอร์อีกเหมือนกัน)
ผู้นำที่มีบทบาทอย่างสูงในยุค Great Depression ก็คือ FDR นี่ล่ะ
คนยุคนี้อาจจำ FDR ได้จากบทบาทของเขาในฐานะผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่จริงๆ แล้ว FDR นำพาสหรัฐอเมริกาผ่านวิกฤตใหญ่ๆ มาได้ถึง 2 รอบคือ Great Depression กับ สงครามโลก (ระดับรัฐบุรุษเลยทีเดียวแหละ ในประวัติศาสตร์ไม่น่าจะมีใครเผชิญอะไรมาเยอะขนาดนี้แล้ว) เพียงแต่กรณีของ Great Depression คนอาจพูดถึงกันไม่เยอะเท่ากับสงครามโลก
เล่าประวัติของ FDR แบบสั้นๆ ผมคิดว่าเขาเป็นผู้นำที่มี Grit สูงมาก เพราะปัญหาด้านสุขภาพส่วนตัว FDR เกิดมาในตระกูลไฮโซนิวยอร์ก เป็นญาติห่างๆ ของ Teddy Roosevelt มีศักดิ์เป็นอา และเป็นประธานาธิบดีสหรัฐที่เก่งมากด้วยเช่นกัน
ชีวิตช่วงแรกของ FDR ไม่ต้องทำอะไรมาก ไปเรียนโรงเรียนดัง (เขาจบ Harvard) จบมาเล่นการเมืองเป็น ส.ว. ท้องถิ่น และได้มาเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกองทัพเรือในสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วขึ้นไปเป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดี แต่แพ้เลือกตั้ง
แต่หลังจากนั้น ชีวิตเขาก็พลิกผันเพราะเป็นโรคร้ายที่เดินไม่ไหว (สมัยนั้นเรียกว่าเป็นโปลิโอ) ต้องไปพักรักษาตัวอยู่ 7-8 ปี ก่อนกลับมาลงการเมืองเป็นผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ในช่วงที่เกิด Great Depression พอดี (1929)
ประธานาธิบดี ณ ตอนนั้นคือ Herbert Hoover (ชื่อเดียวกับเขื่อน Hoover) ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ในขณะที่ FDR ใช้อำนาจของผู้ว่าการรัฐ ช่วยประคองเศรษฐกิจในนิวยอร์กให้พอไปไหว ความนิยมในตัวเขาทำให้เขาชนะเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดีในห้วงเวลาที่อเมริกาลำบากที่สุดครั้งหนึ่ง
สิ่งที่ FDR ทำในการแก้ปัญหาเศรษฐฏิจคือชุดนโยบายที่ชื่อว่า New Deal
ปัญหาใหญ่ที่สุดของอเมริกาตอนนั้นคือ คนตกงานเยอะมาก (มากถึง 20% ของประชากรทั้งหมด) พอคนไม่มีงานทำ ไม่มีจะกิน ก็มีปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย เช่น อาชญากรรม ฯลฯ
แกนหลักของ New Deal คือนโยบาย 3 กลุ่ม ได้แก่
- Relief แก้ปัญหาระยะสั้น ช่วยให้คนอเมริกันเอาตัวรอดได้จากภาวะฉุกเฉินเบื้องหน้า
- Recovery ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นปกติ อัดฉีด
- Reform แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำ เป็นชุดนโยบายเชิงกำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤต นโยบายอย่างประกันสังคม (social security) ก็เกิดมาในยุคนี้
รายละเอียดทั้งหมดคงไม่สามารถเขียนได้เพราะยาวมาก แต่ประเด็นสำคัญของนโยบายกลุ่ม Relief ก็คือแก้ปัญหาเรื่องคนตกงานจำนวนมหาศาล
คนตกงานเยอะแล้วทำไง จ้างสิครับ รัฐบาลออกเงินจ้างให้คนมาทำงาน ถึงขนาดต้องมีองค์กรด้านการจ้างงานขึ้นมาโดยเฉพาะ (แถมมีตั้งหลายหน่วยมาแข่งกันด้วย เช่น Public Works Administration กับ Works Progress Administration) จ้างคนตกงานมาสร้างโน่นสร้างนี่ ถนน สะพาน เขื่อน โรงพยาบาล ฯลฯ อะไรที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน สร้างไปเถอะเพราะเป็นประโยชน์ในระยะยาว รัฐได้สิ่งของ คนได้งานทำ เป็นแนวทางที่ Win-Win
หน่วยงานเหล่านี้จ้างงานคนอเมริกันไปทั้งหมด 8.5 ล้านคน ซึ่งถือเป็นนายจ้างที่มีขนาดใหญ่มากๆ ถ้าเทียบกับบริษัทยุคปัจจุบันให้พอเห็นสเกล Walmart มีพนักงานทั่วโลกประมาณ 2 ล้านคน หรือ Foxconn มีคนงานในโรงงานประมาณ 1 ล้านคน
ชุดนโยบาย New Deal ถือว่าได้ผล และสามารถฉุดอเมริกากลับมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แถมยังเป็นการปูพื้นฐานสำคัญให้อเมริกา “ผงาด” ขึ้นมาในตอนสงครามโลกครั้งที่สองและเป็นผู้นำโลกในยุคหลังจากนั้นด้วย
New Deal กลายเป็นตำนานของการกอบกู้เศรษฐกิจ (FDR ได้เป็นประธานาธิบดี 4 สมัย โดย 2 สมัยแรกมาจากความนิยมใน New Deal)
ปัจจุบันในอเมริกาเองก็มีความพยายามเสนอ “Green New Deal” จากฝั่งพรรคเดโมแครต (สายของ Bernie Sanders) แม้ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก ในมุมของประเทศไทยเอง ผมก็คิดว่าเราจำเป็นต้องมีโครงการใหญ่ๆ แบบ New Deal ด้วยเช่นกัน
New Deal ยุคนี้อาจไม่จำเป็นต้องก่อสร้างอย่างเดียว มีอย่างอื่นให้ทำอีกมาก เช่น พัฒนาพลังงานทางเลือก เกษตรยุคใหม่ ฯลฯ แล้วแต่เราจะจินตนาการไปถึงว่า โครงสร้างพื้นฐานของปี 2050 คืออะไร แล้วเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้
กล่าวโดยสรุปคือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ขนาดนี้ มีทางออกเดียวคือ รัฐต้องทำตัวเป็น “นายจ้างรายใหญ่” เพื่ออุ้มคนที่ตกงานให้เอาตัวรอดไปได้
อุปสรรคสำคัญมี 2 ข้อ คือ จะเอาเงินจากที่ไหนมาจ้างคนเยอะขนาดนี้ และรัฐบาลทำโครงการใหญ่ขนาดนี้จะไปรอดไหมในเชิงการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะเขียนถึงต่อไป