in Economics, Technology

Neom เมืองไซไฟในทะเลทราย

อ่านบทความใน Bloomberg Businessweek พูดถึง Neom โครงการเมืองใหม่ในทะเลทรายของซาอุดีอาระเบีย ที่ผลักดันโดยมกุฎราชกุมาร Mohammed bin Salman (MBS) แล้วน่าสนใจ เลยไปค้นข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนใหญ่แล้ว เมืองใหญ่ในโลกล้วนมีประวัติความเป็นมายาวนาน (เช่น Damuscus ที่มีคนอยู่อาศัยมาประมาณ 5 พันปี) ด้วยเหตุว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิ มีน้ำ มีอาหารอุดมสมบูรณ์ คมนาคมสะดวก ประวัติศาสตร์ทดสอบแล้วว่ามาอยู่ตรงนี้แล้วใช้ได้ อยู่สบาย

อาจมีบ้างที่เราเห็นการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาจริงๆ ในยุคหลัง ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากคงหนีไม่พ้นดูไบ (ยุคใหม่) ตัวอย่างอื่นๆ ที่นึกออกก็อย่างเช่น โอไดบะของโตเกียว (ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่นัก), ปุตราจายาของมาเลเซีย หรือล่าสุดคือโปรเจคต์เมืองหลวงใหม่ Nusantara ของอินโดนีเซีย

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนเป็นการสร้างเมืองใหม่ด้วยเหตุผลทางการเมือง (เช่น ย้ายเมืองหลวง) หรือทางเศรษฐกิจ เมืองใหม่เหล่านี้อาจดูไฮเทค แต่ก็สร้างขึ้นเพื่อใช้อยู่อาศัยหรือทำงานแบบดั้งเดิมเป็นหลัก

ถ้าหากเราตั้งโจทย์ว่า ในปี 2020 แล้ว ให้เราออกแบบเมืองยุคใหม่ที่มนุษย์ยุคหน้าจะมาอยู่อาศัย โดยไม่ต้องสนใจของเก่าๆ เลยอย่างสิ้นเชิง เราจะสร้างเมืองหน้าตาแบบไหนออกมา

โจทย์ข้างต้นไม่ใช่คำถามเล่นๆ เพราะซาอุดีอาระเบียมี “พื้นที่” ทะเลทรายว่างๆ ริมทะเลแดงให้พร้อม แถมมี “เงิน” ระดับกองทุนน้ำมัน 5 แสนล้านดอลลาร์ และ “อำนาจ” เบ็ดเสร็จของเจ้าชาย MBS เป็นกองหนุนให้

หน้าตาเมืองมันจึงเริ่มมีความไซไฟเข้ามาไม่น้อย และไม่น่าแปลกใจว่ามีคนจากวงการไซไฟ-ฮอลลีวู้ดเข้ามาในโปรเจคเป็นจำนวนมาก

ถ้าให้อธิบายแบบรวบรัด Neom คือ ดูไบเวอร์ชันอัพเกรด ใส่พลัง Cyberpunk เข้าไปสำหรับการอยู่อาศัยในยุค 2077

Neom อยู่ตรงไหน

ชื่อ Neom มาจากภาษากรีก neo หรือ new ผสมกับคำว่าภาษาอารบิก mustaqbal แปลว่า “อนาคต”

ที่ตั้งของ Neom อยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ใกล้กับแหลมไซนายของอียิปต์ ไม่ไกลจากคลองซุเอซ และไม่ไกลจากชายแดนประเทศจอร์แดน-อิสราเอล

พื้นที่ตรงนี้ถือเป็นบ้านนอกของซาอุดีอาระเบีย เพราะอยู่ไกลจากเมืองใหญ่ๆ มาก ทั้งเมืองหลวง Riyadh, เมืองท่า Jeddah, เมืองสำคัญทางศาสนา Medina และ Mecca ที่อยู่ตอนกลางๆ ของประเทศ

บริเวณตรงนี้ไม่มีเมืองใหญ่ตั้งอยู่เลย แต่มีชาวเผ่าท้องถิ่นอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งบทความของ Bloomberg ก็มีเรื่องการถูกไล่ที่เพื่อนำพื้นที่มาสร้างเมืองใหม่

Neom มีอะไรบ้าง

เราอาจเรียก Neom ว่าเป็น “เมือง” (city) แต่จริงๆ แล้วมันคือ “พื้นที่” (region) มากกว่า และมีพื้นที่หลายโซนอยู่ในนั้น

เท่าที่มีข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ของ Neom ตอนนี้มีโครงการที่เปิดเผยต่อสาธารณะทั้งหมด 3 โซนคือ

  • Oxagon เมืองท่าลอยน้ำ ริมชายฝั่ง
  • The Line เมืองอยู่อาศัยแนวไซไฟ สร้างเป็นเส้นตรงยาว 170km ไม่มีถนน แต่มีรถไฟความเร็วสูงใต้ดิน
  • Trojena เมืองรีสอร์ทในหุบเขา มีหิมะเทียมกลางทะเลทราย

Oxagon เมืองท่าลอยน้ำ

Oxagon ถูกออกแบบมาเป็นเมืองอุตสาหกรรมและท่าเรือ จุดขายหลักของมันคือเป็นเมืองลอยน้ำ (floating city) รูปแปดเหลี่ยมผ่ากลาง ให้เรือมาจอดเทียบท่าได้ (แล้วทำไมต้องผ่ากลาง?) ตั้งเป้ามีประชากร 90,000 คน ทำงานในโรงงานและท่าเรือ

แต่จริงๆ แล้ว Oxagon ไม่ได้มาเดี่ยวๆ เพราะมีพื้นที่ข้างเคียงเป็น “โรงงาน” ที่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของเมืองอยู่ไม่ไกลออกไปด้วย เช่น โรงงานไฮโดรเจน, โรงงานทำน้ำจืดจากน้ำทะเล (desalination) หรือศูนย์ข้อมูล

ฟีเจอร์อื่นๆ ของ Oxagon คือการเป็นเมืองไฮเทค มีระบบจักรกลอัตโนมัติมากมาย บวกกับการใช้พลังงานสะอาด 100% ซึ่งไอเดียพวกนี้คงเป็นฟีเจอร์พื้นฐานที่ต้องมีของเมืองยุคใหม่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่แปลกมากนัก

จุดที่ผมคิดว่าน่าสนใจของ Oxagon คือทำเลที่ตั้งของมัน (และ Neon ในภาพรวม) อยู่ในทะเลแดง ไม่ไกลจากคลองสุเอซมากนัก ถือเป็นจุดที่มีเรือผ่านมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (ทราฟฟิกการค้า 12% ของโลกผ่านคลองสุเอซ ถ้านับเฉพาะคอนเทนเนอร์คือ 30% ของคอนเทนเนอร์โลก – อ้างอิง)

การที่ Oxagon มาตั้งที่ตรงนี้ ย่อมอาศัยประโยชน์จากทราฟฟิกเรือสินค้าจำนวนมาก ให้ดึงเข้ามายัง Oxagon ได้ไม่ยากเลย ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีในการสร้าง Oxagon ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม อะไรคือเหตุผลที่อุตสาหกรรมไฮเทคควรมาตั้งที่ Oxagon ก็เป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายอีกเหมือนกัน

The Line เมืองเส้นตรงที่ไม่ต้องมีถนน

ถ้าถามว่าอะไรที่ล้ำที่สุดใน Neom ผมยกให้ The Line เมืองที่อยู่อาศัยแนวใหม่ที่ไม่ต้องมีถนนเลย ไอเดียของมันคือถอดถนนออก แล้วสร้างกลุ่มที่อยู่อาศัยเป็นก้อนๆ ที่แต่ละก้อนสามารถเดินไปมาด้วยเท้าภายใน 5-10 นาที

จากนั้นสร้างท่อขนส่งและรถไฟไฮสปีดไว้ใต้ดิน ให้เชื่อมเมืองแต่ละก้อนด้วยกันเป็นเส้นตรงยาว 170 กิโลเมตร เราก็จะได้เมืองอย่างล้ำชื่อว่า The Line ออกมา

ภาพตัดขวางของ The Line

The Line จะเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของโปรเจค Neom โดยระบุว่าจะมีคนอาศัยอยู่ 380,000 คน (ตามแผน)

ข้อมูลอื่นของ The Line คือความยาว 170km ของมันจะผ่านภูมิประเทศ 4 ชนิด ได้แก่ ชายฝั่งทะเล (ซ้ายสุด) ทะเลทราย (ซ้าย) ภูเขา Jabal al-Lawz (ขวา) และหุบเขา (ขวาสุด) ซึ่งจะไปเชื่อมต่อกับเมือง Tabuk ของซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน

บทความใน Bloomberg บอกว่าไอเดียของเมืองเส้นตรงลักษณะนี้ ต้นกำเนิดมาจากคอนเซปต์ Continuous Monument ของบริษัทสถาปัตย์อิตาเลียนชื่อ Superstudio ในยุค 1960s ที่ลองสร้างเมืองไซไฟ ที่มีโครงสร้างขนาดยักษ์ครอบทับเมืองอยู่ แต่นั่นก็เป็นแค่ไอเดียที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงๆ และไม่มีใครรู้ว่ามันเหมาะสมแค่ไหนในทางปฏิบัติ

Trojena

Trojena คือเขตพักผ่อน ท่องเที่ยวของ Neom ที่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน (เหนือ The Line ขึ้นไปอีก) โดยเป็นหุบเขาที่จะมีทะเลสาบประดิษฐ์ขนาดใหญ่ มีโรงแรมและรีสอร์ทสร้างขึ้นตามไหล่เขา และไฮไลท์คือบนยอดเขาจะมีหิมะเทียมด้วย

ข้อมูลบนเว็บ Neom บอกว่า Trojena จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของซาอุ ที่เที่ยวได้ทั้งปี ฤดูร้อนสามารถดำน้ำ ปีนเขา มีเทศกาลดนตรี ส่วนฤดูหนาวก็เล่นกีฬาพวกสกี สโนว์บอร์ด ไอซ์สเกตได้ด้วย

ประเด็นเรื่องหิมะที่เป็นจุดสนใจ ภูมิอากาศแถบนั้นในฤดูหนาว อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาอยู่แล้ว เพียงแต่แห้งแล้งจึงไม่มีหิมะ จึงต้องใช้เครื่องทำหิมะที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น

ภาพฝันของ Trojena

ส่วนอื่นๆ ของ Trojena คือพวกโรงแรม รีสอร์ท ชาเลต์ บ้านพักสวยๆ ล้ำๆ ที่สร้างขึ้นตามไหล่เขา ตรงนี้ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก

Neom จะเกิดได้จริงหรือ?

อภิมหาโปรเจคแบบนี้ย่อมไม่ง่าย แน่นอนว่า เจ้าชาย MBS มีเงินไม่อั้น สามารถจ้างคนเก่งๆ ทั่วโลกมาช่วยทำโปรเจคนี้ได้ แต่ในแง่ความเป็นไปได้ของโปรเจค (ทั้งในแง่กายภาพ และการเงิน) บวกกับระบอบการเมืองแบบซาอุก็ย่อมเป็นอุปสรรคเช่นกัน

บทความใน Bloomberg เล่าถึงอุปสรรคหลายอย่างของ Neom ในปัจจุบัน เช่น พนักงานในโปรเจคที่มักเป็นฝรั่งเก่งๆ ทยอยกันเวียนเข้าเวียนออกอยู่เรื่อยๆ และโจทย์ของโครงการเองก็ไม่ชัดเจนในรายละเอียด (ซึ่งเป็นปกติของอภิมหาโปรเจค) ทำให้แผนการและการก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดตัวอย่างโปรเจคย่อยอันหนึ่งที่ล้มไปแล้วคือ Silver Beach เมืองท่องเที่ยวริมทะเลที่ปูพื้นด้วย “หินอ่อน” แทนหาดทรายปกติ

สุดท้ายแล้ว ความสำเร็จหรือล้มเหลวของ Neom คงผูกกับตัวของเจ้าภาพโปรเจคคือเจ้าชาย MBS ทั้งในแง่การเมืองภายในประเทศ (เขาย่อมจะได้เป็นกษัตริย์องค์ใหม่ในอีกไม่ช้า) และการเมืองระดับโลกด้วยนั่นเอง