in Knowledge, Manga

Macross and Transformers

วันก่อนอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ Macross เลยเปิด Wikipedia ดู แล้วพบความรู้ใหม่ว่า ผู้สร้าง Macross กับ Transformers คือคนเดียวกัน!

ฟังดูแล้วอาจเหลือเชื่อเพราะ Macross คือการ์ตูนญี่ปุ่นจัดๆ ในขณะที่ Transformers คืออเมริกันจัดๆ เช่นกัน แต่พอพิจารณาดูแล้วมันมีจุดเชื่อมโยงกันที่ “แปลงร่าง”

ผู้นำทางความคิดของเรื่องนี้คือ Shōji Kawamori วัยรุ่นญี่ปุ่นในยุค 80s (เขาเกิดปี 1960) ที่เป็นติ่งกันดั้มในสมัยมหาวิทยาลัย (กันดั้มภาคแรกฉายปี 1979 ตอนเขาอายุ 19) และเข้าฝึกงานกับ Studio Nue ซึ่งเป็นสตูดิโอแอนิเมชันในยุคนั้น (ถือเป็นแกนนำรุ่นสองของ Nue)

เพื่อนร่วมชั้นของ Kawamori คือ Haruhiko Mikimoto คนออกแบบคาแรกเตอร์ของ Macross ที่มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ และภายหลังก็วาดการ์ตูน Macross เวอร์ชันมังงะด้วยอีก 2-3 ภาค

ภาพจาก Macross Fandom

ผลงานสำคัญของเขาคือ Macross ภาคแรก (ฉายปี 1982) โดยเขารับบททั้งเป็นคนเขียนบท โปรดิวเซอร์ และที่สำคัญที่สุดคือ คนออกแบบหุ่นยนต์ (mecha design) ทำให้เกิดคอนเซปต์ “หุ่นแปลงร่าง” หุ่น Valkyrie ในเรื่องสามารถแปลงจากเครื่องบินมาเป็นหุ่นยนต์ต่อสู้ได้ (มีร่างตรงกลางที่เรียก Gerwalk ด้วย) ถือเป็นของแปลกใหม่มากในสมัยนั้น

หุ่นแปลงร่างของ Kawamori ทรงอิทธิพลต่อการ์ตูนญี่ปุ่นมาก คนทำตามกันทั้งวงการ แม้แต่ Gundam Z (ฉายปี 1985) ยังต้องนำแนวทางนี้มาใช้ด้วย ตัวของ Kawamori ยังเป็นเจ้าพ่อแห่งการออกแบบ Valkyrie มาตลอด เพราะ Macross แทบทุกภาค (ยกเว้นภาค II ที่ Studio Nue ไม่ได้ทำ) ต้องให้เขาเป็นคนออกแบบ Valkyrie เสมอมา ซึ่งรวมถึงภาค Delta ที่เป็นภาคล่าสุดด้วย (2015)

นอกจาก Macross แล้ว Kawamori ยังมีส่วนร่วมกับอนิเมะดังๆ อีกหลายเรื่อง เช่น Cyber Formula (นี่ก็เพิ่งรู้ เป็นคนออกแบบรถ), Escaflowne และ Aquarian (เป็นคนคิดเรื่องเลย), Patlabor (ออกแบบหุ่น), Gundam 0083 (ออกแบบหุ่น) โดยในปี 1995 เขาออกมาตั้งสตูดิโอของตัวเองชื่อ Satelight แต่ก็ยังมีบทบาทกับ Macross อยู่

ประวัติชีวิตของ Kawamori ใน Forbes

แล้ว Kawamori มาเกี่ยวข้องกับ Transformers ได้อย่างไร ต้องดูบริบทของวงการการ์ตูน-ของเล่นในยุคนั้น ที่ญี่ปุ่นเป็นผู้นำทางความคิด ล้ำหน้ากว่าอเมริกา

บริษัทของเล่น Takara ในตอนนั้น (ปัจจุบันคือ Takara Tomy ควบรวมกันในปี 2006) อยากทำของเล่นขาย เลยไปจ้าง Studio Nue มาออกแบบหุ่นให้

คนของ Nue ที่มาทำงานนี้คือ Kazutaka Miyatake หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Nue (และเป็นคนออกแบบหุ่นของเรื่อง Space Battleship Yamato) ร่วมกับ Kawamori ที่เพิ่งเข้าทำงานกับ Nue ใหม่ๆ จึงเกิดเป็นของเล่นซีรีส์ Diaclone ขึ้นมาในปี 1980 (ก่อน Macross สองปี) ผู้บุกเบิกคอนเซปต์ของ “รถแปลงร่างเป็นหุ่น” นั่นเอง

ของเล่นของ Diaclone รุ่นปี 1980 ดูได้ตามคลิป

Diaclone ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นเป็นอย่างดี มีของเล่นตามมาอีกหลายซีรีส์ พอมาถึงปี 1984 บริษัทของเล่น Hasbro ของอเมริกา (ที่โด่งดังจากของเล่นซีรีส์ G.I. Joe ที่เป็นตุ๊กตาทหาร) ต้องการหาของเล่นใหม่ๆ ไปขายในฝั่งอเมริกา เลยมาซื้อไลเซนส์ของเล่นจากญี่ปุ่นไป ของที่ Takara มีขายในตอนนั้นคือ ซีรีส์ Diaclone กับอีกซีรีส์คือ Microman และยังไปซื้อหุ่นของ Bandai ไปใช้ด้วย

วิธีการของ Hasbro คือ ให้ Takara ปั๊มหุ่นจากแม่พิมพ์เดิมของ Diaclone/Microman แล้วเอาไปขายที่อเมริกาใต้แบรนด์ใหม่ชื่อ Transformers

ปัญหาคือของเล่นในยุคนั้นมันมีแต่ตัวของ ไม่มีเรื่องเล่าประกอบ (อย่างมากก็มีแค่ภาพหน้ากล่องให้เด็กๆ จินตนาการเรื่องกันเอง) จึงต้องมีวิธีส่งเสริมการขาย สิ่งที่ Hasbro ทำคือไปจ้าง Marvel ให้ช่วยวาดภาพ-แต่งเรื่องให้ และพัฒนาต่อมาเป็นซีรีส์การ์ตูนทีวี The Transformers (เป็นซีรีส์ที่ Marvel สร้างร่วมกับ Toei ที่เป็นผู้นำด้านอนิเมะในยุคนั้น มาวาดแอนิเมชันให้) ฉายระหว่างปี 1984-1987 และโด่งดังจนเป็นตำนาน (สมัยเด็กๆ ก็เคยดูในยุควิดีโอ น่าจะเป็นซีรีส์แถวๆ นี้)

ข้อตกลงที่ Hasbro ทำกับ Takara นั้น Hasbro ได้สิทธิขาดของ Transformers ในโลกตะวันตก ส่วน Takara ยังเป็นเจ้าของไลเซนส์ในญี่ปุ่นเท่านั้น ภายหลัง Takara หยุดทำแบรนด์ Diaclone ไปในปี 1985 และหันมาใช้แบรนด์ Transformers แทน

ถ้าย้อนดูเส้นทางชีวิตของ Transformers จะเห็นว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของ Hasbro เป็นหลักตั้งแต่ปี 1984 (เรียกว่าเป็นของที่อเมริกาเอาไปทำแล้วดังกว่าญี่ปุ่นทำเอง) แต่จุดเริ่มต้นของ Diaclone/Transformers ในยุคแรกปี 1980 ก็เกิดจากมันสมองและไอเดียของ Kawamori นั่นเอง