in Economics

Lost Generation

ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจาก COVID-19 จะส่งผลสะเทือนให้นักศึกษาจบใหม่ในช่วงนี้ (ที่อยู่ใน pipeline การออกจากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษา เข้าสู่โลกทำงาน) ประสบปัญหาอย่างมากในการหางาน

วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงและยืดเยื้อ คนทำงานปกติก็ตกงานจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว การมีนักศึกษาจบใหม่อีกจำนวนมากเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะหางานทำได้โดยง่าย

นั่งเช็คสถิติจาก สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ตัวเลขของปี 2562 เทอม 1 ประเทศไทยมีนักศึกษารวมทั้งระบบ (นับรวมทุกชั้นปี นับปริญญาตรี อนุปริญญาด้วย) ประมาณ 1.5 ล้านคน

ถ้านับเฉพาะปริญญาตรีปี 4 ก็คือคนที่เพิ่งจบการศึกษาในช่วงปี 2563 มีประมาณ 3 แสนคน

สถิติการสำรวจสถานภาพการทำงานของผู้สำเร็จการศึกษา ในปี 2562 (คือคนที่จบการศึกษาในปี 2562) มีนักศึกษาจบใหม่มีงานทำแล้ว 77.48% ซึ่งตัวเลขดีกว่าของปี 2561 ที่มีงานทำ 64.38% ขึ้นเยอะเลย (ประเด็นเรื่องความแม่นยำของการสำรวจคงไม่พูดถึง เพราะไม่มีตัวเลขอื่นให้อ้างถึงอยู่ดี)

ไม่ต้องคิดมากเลยว่า ตัวเลขนี้จะเปลี่ยนไปอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินแน่นอนในปี 2563 นี้ ส่วนจะเป็นเท่าไรนั้นคงต้องพิจารณาจากความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ปรากฏชัด (เพราะมันจะยืดเยื้อ) ด้วย

ปัญหานี้เกิดขึ้นทั้งโลก ขนาดองค์กรใหญ่ๆ ที่มีกำลังเงินเข้มแข็งมากอย่างกูเกิล ก็ยังมีข่าวว่าจะเริ่มชะลอการรับพนักงานใหม่แล้ว เหตุผลคงเป็นเพราะ “ไม่แน่ใจกับอนาคตเบื้องหน้า” มากกว่าไม่มีเงิน

มิหนำซ้ำแล้ว ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่จะยืดเยื้อยาวนาน ย่อมส่งผลกระทบไปถึงนักศึกษาที่จะจบในปี 2564, 2565 หรือปีถัดๆ ไปด้วย

คำถามที่สำคัญคือ เราจะจัดการกับนักศึกษาจบใหม่เหล่านี้อย่างไร ทั้งในแง่

  • เศรษฐกิจ เราจะเลี้ยงดูคนจำนวนหลายแสนคนที่เต็มไปด้วยความฝัน ความหวังที่จะออกมาสร้างชีวิตของตัวเอง แต่ต้องมาเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ (ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ) อย่างไร นักศึกษาจำนวนมากถูกกดดันให้ต้องหาเงินเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวอยู่แล้ว บางคนต้องกู้หนี้มาเรียนด้วยซ้ำ เราจะช่วยอุ้มชูหรืออย่างน้อยก็ “ประคอง” พวกเขาได้อย่างไร
  • การสร้างประโยชน์ ต่อให้มีเงินมาเลี้ยงดูนักศึกษาทั้งหมด แต่เราจะเอาพวกเขาไปไว้ไหน ไปทำอะไรดี เอามานั่งเล่นเกมแบบ Useless Class ก็อาจจะดูถูกศักดิ์ศรี และไฟของพวกเขาไปสักหน่อย

ไม่ว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร นักศึกษากลุ่มนี้ (นับรวมถึงปีถัดๆ ไปด้วย) ย่อมจะเป็น Lost Generation อย่างไม่ต้องสงสัย

ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์นี้มาแล้วจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ทำให้นักศึกษายุคนั้นไม่มีงานทำเช่นกัน แต่สเกลของรอบปี 2563 นั้นรุนแรงเป็นวงกว้างกว่ามาก เพราะกระทบไปหมดทุกเซกเตอร์ ต่างไปจากปี 2540 ที่บางเซกเตอร์อุตสาหกรรมยังเดินหน้าไปได้อยู่

ลองไปนั่งค้นดู คำว่า Lost Generation ถูกใช้มาก่อนแล้วกับโลกตะวันตก (โดยเฉพาะอเมริกัน) ที่เป็นวัยรุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งคนที่ทำให้คำนี้ดังคือ Ernest Hemingway ที่นำไปเขียนในนิยายเรื่อง The Sun Also Rises

หมายเหตุ: เลือกภาพประกอบอยู่นาน สุดท้ายนึกถึง “พระมหาชนก” ที่ “หลงทาง” อยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ แต่รอบนี้เริ่มไม่ค่อยแน่ใจนักว่าความเพียรอย่างเดียวจะช่วยให้พระมหาชนกเอาตัวรอดได้ หรือจะมีนางมณีเมขลามาอุ้มไปส่งบนแผ่นดินหรือไม่