in Knowledge

Kaliningrad – The Westernmost of Russia

เขียนเรื่องลีกฟุตบอลรัสเซีย เลยสงสัยเรื่องพื้นที่เมืองคาลินินกราด (Kaliningrad) ด้านตะวันตกสุดของรัสเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่แยกมาจากแผ่นดินใหญ่ (exclave) ของรัสเซีย ถูกล้อมโดยประเทศโปแลนด์และลิธัวเนีย

ประเทศในแถบนั้นคือ ลิธัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย เบลารุส เป็นประเทศเกิดใหม่ที่เพิ่งแยกตัวจากสหภาพโซเวียต หลังโซเวียตล่มสลายในปี 1991

คำถามคือคาลินินกราดอยู่ในวงล้อมตรงนั้น ทำไมไม่แยกตัวจากโซเวียตด้วย ทำไมยังเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอยู่

คำตอบของเรื่องนี้ต้องย้อนที่มาทางประวัติศาสตร์สักหน่อย

พื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ของรัสเซียแต่ดั้งเดิม โดยคาลินินกราดมีชื่อเดิมคือ Konigsberg ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปรัสเซีย (Prussia คือแคว้นของชาวเยอรมันก่อนตั้งประเทศเยอรมนี) แถมยังเคยเป็นเมืองหลวงของปรัสเซียซะด้วย (1525-1701) ก่อนที่พรมแดนของปรัสเซียจะขยายไปทางตะวันตก และย้ายเมืองหลวงไปทางตะวันตกกว่าเดิม (ซึ่งก็คือเบอร์ลิน)

ดังนั้นประชากรของ Konigsberg เป็นชาวเยอรมัน โดยถือเป็น “เกาะเยอรมัน” ท่ามกลางดินแดนของชาวโปแลนด์ที่อยู่ใกล้ๆ (โปแลนด์ก็เข้าๆ ออกๆ ในฐานะดินแดนของปรัสเซีย-เยอรมันเช่นกัน) และชาวลิธัวเนียที่อยู่ติดกัน นักปรัชญาคนดังอย่าง Immanuel Kant ก็เกิดที่นี่

การเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพแดงยึดดินแดนทางตะวันออกของเยอรมนีได้ทั้งหมด (และเป็นฝ่ายที่ยึดเบอร์ลินได้) ในข้อตกลงที่ Potsdam ช่วงปลายสงคราม สหภาพโซเวียตจึงได้ดินแดนแถบนี้ไปเกือบทั้งหมด (ยกเว้นโปแลนด์)

ในช่วงที่โซเวียตบุกตีดินแดนแถบนี้ ชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ใน Konigsberg ก็หนีข้ามทะเล ข้ามโปแลนด์มาอยู่ที่เยอรมันตะวันออก สิ่งที่โซเวียตทำจึงเป็นการย้ายคนรัสเซียของตัวเองเข้ามาอาศัย แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Kaliningrad ทำให้ประชากรเชื้อสายเยอรมันแทบไม่เหลือแล้ว กลายเป็นคนรัสเซียเกือบหมด

เท่ากับว่า Konigsberg เปลี่ยนจากเกาะเยอรมัน มาเป็น Kaliningrad ที่เป็นเกาะรัสเซีย โดยยังมีชาวโปแลนด์และลิทัวเนียล้อมไว้เหมือนเดิม

โซเวียตเคยเสนอให้ลิทัวเนียรวม Kaliningrad ไปด้วย แต่ลิธัวเนียไม่เอาเพราะเป็นคนละเผ่ากัน (555) พอถึงยุคโซเวียตล่มสลาย ลิทัวเนียแยกประเทศ จึงไม่สนใจเอา Kaliningrad ไปด้วยอยู่ดี โปแลนด์ก็ไม่เอา ทำให้ Kaliningrad ยังมีสถานะเป็น “เกาะรัสเซีย” จนถึงทุกวันนี้

ดูในคลิปของช่อง History Matters ก็อธิบายไว้เข้าใจง่ายดี