บทความชื่อดังในช่วงนี้จาก Rupert Wingfield-Hayes นักข่าวชาวอังกฤษของ BBC ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมานาน 10 ปี วิพากษ์วิจารณ์สังคมญี่ปุ่นในภาพรวมได้อย่างน่าสนใจ
ผู้เขียนเล่าว่าเมื่อเขามาที่ญี่ปุ่นครั้งแรกช่วงปี 93 ญี่ปุ่นทศวรรษ 80s คือต้นแบบของโลกสมัยใหม่ มีตึกระฟ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ สาธารณูปโภคยิ่งใหญ่ครบครัน รถไฟความเร็วสูง บ้านเมืองเป็นระเบียบ สงบสุข เป็น “ผู้ใหญ่” ของเอเชียที่เติบโตเต็มขั้นกว่าฮ่องกงหรือไต้หวันที่มีความสับสนวุ่นวายกว่ามาก
แต่หลังฟองสบู่เศรษฐกิจญี่ปุ่นแตกเป็นต้นมา (ตลาดหุ้นแตกปี 91) ญี่ปุ่นเหมือนถูกแช่แข็งในการเวลา และผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้วยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก ในขณะที่โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว
ด้านหนึ่ง ญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมสูงวัย ที่ไม่รู้จะเอาคนแก่จำนวนมหาศาลไปทำอะไร รัฐจึงแก้ปัญหา (แบบคนรวย) โดยการจ้างมาทำงานที่ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ (ตัวอย่างในบทความคือ เจ้าหน้าที่อบรมการสอบใบขับขี่ ที่เอาตำรวจจราจรเกษียณอายุมาทำ) กลายเป็นทำให้โครงสร้างของราชการใหญ่เทอะทะ มีขั้นตอนมากมาย และใช้เงินเยอะ ส่งผลให้หนี้สาธารณะเยอะตามไปด้วย
ปัญหาสังคมสูงวัย ageing society ที่มีประชากรวัยทำงานน้อยกว่าประชากรคนชรา มักต้องแก้ด้วยการอิมพอร์ตแรงงานต่างชาติ (ที่มีราคาถูกกว่า) เข้ามา แต่สังคมญี่ปุ่นก็ดันปิดกั้นคนต่างชาติซะอีก ทำให้การนำเข้าแรงงานข้ามชาติทำได้ยากเช่นกัน
ผู้เขียนยกตัวอย่างหมู่บ้านในญี่ปุ่นที่เหลือแต่คนชรา คนหนุ่มสาวไปทำงานในเมือง คนแก่ในหมู่บ้านบ่นว่าเมืองกำลังจะตาย พอผู้เขียนเปรยๆ ว่าเมืองนี้สวยมาก น่าย้ายเข้ามาอยู่ ก็กลับได้รับคำตอบว่า ต้องมาเรียนรู้การอยู่ตามวิถีชีวิตแบบที่นี่ด้วยนะ กลายเป็นแบบนั้นไปซะอีก
ตัวอย่างที่ดีมาก ว่าการผสมผสานระหว่างเชื้อชาติญี่ปุ่นกับต่างชาติจะเกิดผลอย่างไร คือ Naomi Osaka นักเทนนิสมือหนึ่งของโลก ที่กลับใช้ชีวิตไม่ง่ายเลยในสังคมแบบญี่ปุ่น
ประโยคหนึ่งที่ดีมากในบทความคือ
“In 1868 the Samurai surrendered their swords, cut their hair, put on Western suits and marched into the ministries in Kasumigaseki (the government district of central Tokyo) and they’re still there today.”
หมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายของญี่ปุ่นเกิดขึ้นในการปฏิรูปเมจิปี 1868 ที่ซามูไรโหนอำนาจจักรพรรดิ ชิงอำนาจจากโชกุน หลังจากนั้นโครงสร้างของการเมืองญี่ปุ่นก็ยังเป็นลักษณะนั้น (สืบทอดอำนาจโดยตระกูลใหญ่) ต่อมาจนถึงวันนี้
ประเด็นที่ผมสนใจมากคือ ปัญหา ageing society แบบญี่ปุ่นแก้ได้ด้วย “วิถีคนรวย” คือใช้เงินเข้าสู้ รัฐบาลเอาเงินมาจ้างให้คนวัยเกษียณมีงานทำ มีเงินใช้ เพื่อดูแลตัวเองได้
สังคมไทยที่กำลัง ageing ตามญี่ปุ่นไปติดๆ แต่ด้วยความรวยที่น้อยกว่ากันมาก จะแก้ปัญหากันอย่างไร? เป็นอีกปัญหายากๆ ที่ต้องขบคิดกัน ที่แน่ๆ คือการที่สังคมไทย “เปิด” รับคนต่างชาติเข้ามามากกว่าญี่ปุ่น การอิมพอร์ตแรงงานต่างชาติจำนวนมหาศาลเข้ามาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แน่ๆ เช่นกัน