ภาพยนตร์แอนิเมชัน Spider-Man ฉบับปี 2018 ที่ได้รับเสียงชื่นชมมากมายมหาศาล แต่เพิ่งมาได้ดูตอนนี้ เพราะเพิ่งเข้าสตรีมมิ่ง Disney+ เมื่อไม่นานมานี้ พอได้ดูแล้วก็พบว่าดีจริงๆ ดีทั้งงานภาพและการเล่าเรื่อง
โลกภาพยนตร์นับจากยุค 2000 เป็นต้นมา มีภาพยนตร์คนแสดง Spider-Man มาทั้งหมดแล้ว 8 ภาค (ยังไม่รวมที่ไปโผล่ใน Avengers อีกด้วย) มีนักแสดง 3 คน 3 เจนคือ Tobey Maguire, Andrew Garfield, Tom Holland ในภาพรวมต้องถือว่ามันเฝือและซ้ำซากในแง่พล็อตแล้ว (ลุงเบนตายไปกี่รอบแล้ว?)
Into the Spider-Verse ในฐานะภาพยนตร์ Spider-Man อีกเจน (นับเป็นชุดที่ 4) จึงต้องพยายามสร้างความแตกต่างจากรุ่นพี่ๆ ซึ่งก็น่าประทับใจตรงที่ทำได้สำเร็จอย่างงดงามด้วย
Into the Spider-Verse เลือกใช้ตัวเอกเป็น Miles Morale ซึ่งเป็น Spider-Man “อีกคน” ในโลกคอมิก และเล่าเรื่องในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจาก Peter Parker คนเดิม (ตรงนี้เป็นอีกพล็อตซ้ำซากในโลกคอมิก เพราะฮีโร่ดังๆ ทุกคนล้วนมีผู้สืบทอดแนวนี้) แต่กลับเล่าได้แปลกใหม่ตรงที่ใช้แนวคิดจักรวาลคู่ขนาน (multiverse) ที่มี Spider-Man หลายคน หลายเวอร์ชันเข้ามาร่วมทีมกันแทน
แนวคิดจักรวาลคู่ขนานเองก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกการ์ตูน-คอมิก (Marvel เองเคยทำโปรเจค Spider-Verse ในปี 2014-2015) แต่ Into the Spider-Verse ยังทำออกมาได้ดี เพราะนำมรดกจาก Spider-Man สารพัดเวอร์ชันของคอมิก Marvel ในอดีต คือ Spider-Man Noir, Peni Parker, Spider-Woman (บางเคสย้อนไปไกลถึงยุค 80s เช่น Peter Porker หรือ Spider-Ham) มายำรวมกับคาแรกเตอร์ออริจินัลของหนัง (Peter B. Parker เวอร์ชันลุงผู้ล้มเหลวในชีวิต) ได้อย่างลงตัว การเล่าเรื่องและบทสนทนาลื่นไหล
นอกจากนี้หนังยังมีพล็อตรองที่น่าสนใจหลายอันใส่เข้ามา ทั้งการเติบโตของ Miles ในฐานะวัยรุ่น, ความสัมพันธ์กับพ่อผู้เข้มงวด, อาที่เข้าใจเขา และความโรแมนติกกับ Gwen Stacy ที่จะขยายต่อในภาค 2 Across the Spider-Verse ด้วย (ฉายเดือนมิถุนายน 2023 จากนั้นจะเข้า Netflix ต่อ)
ตัวละครในเรื่องแม้มีเยอะ แต่กลับทำออกมาได้ดี เล่าเรื่องไม่สับสน ทุกตัวมีบทบาทที่ควรจะเป็นในแบบของตัวเอง ส่วนตัวละครที่ขโมยซีนที่สุด ยกให้ป้าเมย์ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่กลับเป็นตัวละครที่เซอร์ไพร์สที่สุด (ชอบๆ) แถมในเรื่องยังมีแซว Spider-Man เวอร์ชันหนังภาคก่อนๆ อยู่หลายจุดด้วย เช่น ฉากช่วยรถไฟในหนังภาคคนแสดง
ส่วนงานภาพที่ทำโดย Sony Pictures Animation สตูดิโอในเครือโซนี่ (ที่เป็นเจ้าของสิทธิคาแรกเตอร์ Spider-Man) เองก็แปลกใหม่ มีสไตล์ของตัวเอง เรื่องนี้เว็บไซต์ Vox เคยมีทำบทความ-คลิปอธิบายว่า “เป็นความตั้งใจ” ของทีมผู้สร้าง ที่อยากสร้างงานภาพให้แตกต่างจากธรรมเนียมของวงการแอนิเมชัน CG ที่ใช้แนวทาง photorealistic จำลองวัตถุให้เหมือนจริงที่สุด “เอาอย่าง Pixar” (the Pixar look) ที่ทำตามกันมายาวนาน ไม่มีใครกล้าแหวกขนบธรรมเนียมอันนี้
ในโลกที่การ์ตูน CG หน้าตาเหมือนๆ กันไปหมด ทำให้ Sony ตัดสินใจเลือกสไตล์ภาพที่ดูแตกต่างออกไป ไม่เป็น photorealistic แบบ Pixar อีกแล้ว แต่มีความเป็นการ์ตูนมากขึ้นมาก อีกทั้งยังใช้สไตล์แบบหลากหลายร่วมกันเป็น Multi-Verse ของงานภาพด้วย เช่น Noir เป็นงานภาพแบบนัวร์, Peni Parker ใช้งานภาพแบบอนิเมะสาวน้อยญี่ปุ่น และ Spider-Ham เป็นงานภาพการ์ตูนทีวียุค 80s พวก Looney Tunes
ตรงนี้มีเกร็ดเล็กๆ หากใครโตทัน การ์ตูน Looney Tunes จะมีฉากจบตอนที่เขียนว่า “That’s all folks” บอกว่าจบแล้วนะเด็กๆ จนเป็นเอกลักษณ์ที่ผู้คนจดจำ ซึ่งในเรื่องมีฉากนึงที่ Spider-Ham พูดคำนี้ออกมาด้วย เบื้องหลังคือทีมงานฝั่ง Sony ใช้เวลาหลายเดือนเคลียร์เรื่องลิขสิทธิ์กับ Warner เจ้าของ Looney Tunes
ภาพรวมคือหนังทำออกมาได้ดีมาก แทบไม่มีข้อติเลย ไม่แปลกใจที่ได้คะแนนรีวิวสูงมาก 97% Rotten Tomatoes, ชนะรางวัลออสการ์สาขาแอนิเมชัน และจะมีภาคต่อตามมาอีก 2 ภาคคือ Across the Spider-Verse (2023) และ Beyond the Spider-Verse (2024) ที่ยังคงคอนเซปต์การตะลุยไปในมัลติเวิร์สของ Spider-Man เช่นเดิม