in Technology

Into the Metaverse

หลังจากบริษัท Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta กระแสคำว่า Metaverse ก็มาแรงมาก โดยเฉพาะในสื่อกระแสหลัก (เหตุผลหนึ่งก็คงเพราะ Facebook เป็น household name เป็นสิ่งที่ทุกคนจับต้องได้)

ส่วนตัวแล้วก็ได้รับเชิญไปพูดเรื่อง Metaverse ในโอกาสต่างๆ อยู่หลายครั้ง ในแง่การอธิบายเรื่องเทคโนโลยีคงตรงไปตรงมา แต่ถ้าถามว่าเชื่อใน Metaverse (อย่างน้อยก็ในแบบฉบับของ Facebook/Meta) หรือเปล่า

ตอนนี้คำตอบก็คือยังไม่เชื่อนะครับ

วันนี้มาอ่านบทสัมภาษณ์ของ Phil Libin ผู้ก่อตั้ง Evernote (ตอนนี้ไปทำบริษัทใหม่แล้ว) ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้แล้วก็เห็นด้วย

Libin บอกว่าลองใช้ Horizon Workroom โซเชียลเสมือนสำหรับประชุมงาน ดูแล้วไม่น่าเวิร์ค แต่ก็เปิดใจลองสักหน่อย ซึ่งก็พบคำตอบแบบที่คาดคือ ไม่เวิร์ค

“I had a very, very strong feeling that it would suck, but I went into it with as much hope as possible that I would be pleasantly surprised,”

Libin said his gut instinct turned out to be correct. “It was only tolerable for a few minutes,” he said.

ประเด็นถัดมาคือเขาเปรียบเทียบว่า นั่งคุย Zoom กันยังดีกว่า อย่างน้อยยังนั่งกินกาแฟไปประชุมไปได้ แต่ถ้าคุยแบบ VR กาแฟชนปากชนแว่นพังแน่นอน

“Can’t do that with a giant plastic thing on my face without spilling hot coffee all over myself,” Libin said.

แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดคือ Libin บอกว่าเวลามีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมา ยุคแรกๆ มันจะยังดิบๆ อยู่ แม้ใช้งานยังยาก แต่เราจะเห็นประโยชน์ของมันทันทีเลย

“I think great technology starts out being primitive, but it starts out being great immediately,”

เขายกตัวอย่างการสั่งหนังสือผ่าน Amazon ในยุคแรกๆ ถึงแม้ยังทำอะไรได้ไม่มาก แต่การสั่งหนังสือออนไลน์ได้ในยุค 90s ตอนกลางก็น่าทึ่งมาก

“It was my very first ever e-commerce transaction — went to the Amazon website, and Amazon in the mid-nineties was super primitive. It was like a text-based site all you could do is buy books from it. And it didn’t have one-click checkout: it was very, very basic. But I bought a couple of books and I remember understanding at that point, ‘this is amazing.'”

ปัญหาคือ VR ไม่ได้ให้ความรู้สึกแบบนั้น

As for Horizon Workrooms, Libin said: “It’s not gonna get better because it started bad. It started stupid. It can get more sophisticated, but it’ll just be more sophisticated – but still bad.”

คิดว่าสิ่งที่ Libin พูดน่าจะตรงกับเหตุผลหลักที่ผมไม่เชื่อใน VR (หรือ Metaverse ในความหมายแบบนี้) นั่นคือ มันไม่มี immediate benefit ที่เห็นหรือลองใช้แล้วเข้าใจทันทีว่าข้อดีมันคืออะไร

การลองใส่แว่น VR ครั้งแรกของทุกคนย่อมว้าวเสมอ ว่ามันทำอะไรแบบนี้ได้ด้วย สมจริงดีจัง แต่พอผ่านไป 20-30 นาที เล่นเสร็จแล้วเราก็ไปอวดคนอื่นๆ ว่า VR นี่มันเจ๋งมากเลยนะ แต่เรากลับไม่หยิบแว่นมาใส่ซ้ำกันสักเท่าไรแล้ว

เทคโนโลยี VR เป็นสิ่งที่ลองทำกันมาหลายยุคหลายสมัย (ใครทัน Virtual Boy บ้าง?) แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวเพราะการใส่แว่นที่ shut ตัวเองออกจากโลกภายนอกมันไม่เวิร์คนั่นล่ะ

ลองย้อนไปดู ผมเขียนข่าว Oculus ครั้งแรกในปี 2013 ตัวบริษัท Oculus ก่อตั้งในปี 2012 นับถึงตอนนี้ก็ 10 ปีพอดี

ถ้าแว่น VR จะจุดติด ก็คงจุดติดไปนานแล้ว ไม่ใช่ต้องรอกันนาน 10 ปีแล้วก็ยังจุดไม่ติด (Palmer Luckey ผู้ก่อตั้งที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าใน VR ก็หนีไปทำอย่างอื่นแล้ว ทีมผู้ก่อตั้ง 4 คนลาออกไปหมดแล้ว)

ถ้าเทียบกับเทคโนโลยีตัวอื่นๆ อย่างบริษัท Android ก่อตั้งในปี 2003, ขายให้กูเกิลปี 2005, ออกเวอร์ชันแรกในปี 2008, ช่วงปี 2009-2010 เราก็เห็นมือถือ Android ออกถล่มโลกกันเรียบร้อยแล้ว (ใช้เวลาราว 7 ปี) ต้องไม่ลืมว่าโลกยุคนี้หมุนเร็วกว่ายุคนั้นมากด้วย

หากถามว่าเทคโนโลยีของ Oculus ดีไหม ต้องบอกว่าดีมาก ทำให้โลก VR ก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดมากๆ ถ้าเราลองย้อนดูพัฒนาการตั้งแต่ Rift DK1 จนมาถึง Quest 2 ในปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่าสุดยอดมาก

แต่การที่แว่นให้ภาพคมชัดขึ้น เสมือนจริงขึ้น ประมวลผลแรงขึ้น มีเซ็นเซอร์รอบตัวมากขึ้น มันก็ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าเราจะเข้าไปอยู่ในโลก VR กันไปทำไมอยู่ดี

วงการ VR น่าจะยังคงอยู่ต่อไปในตลาดแคบๆ แบบปัจจุบัน ใช้เล่นเกมหรือทำงานเฉพาะทางบางอย่างได้ แต่มันคงไม่แพร่หลายหรือเป็นเทคโนโลยีพลิกโลกได้อีกแล้ว (คือถ้าทำได้ก็ทำไปนานแล้ว)

แต่ Metaverse ในความหมายแบบอื่นๆ (เช่น การสร้างโลกซ้อนโลกแบบ Minecraft/Roblox) จะไปได้ไกลแค่ไหนนั้นต้องพิจารณารายละเอียดกันอีกที