in Movies

Interstellar

หนังอวกาศปี 2014 ของ Christopher Nolan ที่เพื่อนๆ ดูกันไปหมดนานแล้ว เพิ่งได้มาดูในปี 2023 ช้ากว่ามนุษยชาติไป 9 ปี และได้ดูด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะออกจาก Netflix ในวันที่ 31 กรกฎาคม ขี้เกียจลำบากไปหาดูในช่องทางอื่น

แกนหลักของเรื่องเป็นการเดินทางจากโลก ไปยังหลุมดำที่จู่ๆ โผล่มาข้างดาวเสาร์ เพื่อไปหาดาวเคราะห์ที่มนุษย์อาศัยอยู่ได้ แทนโลกที่กำลังเจอปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม โดยมีอีกแกนคือความสัมพันธ์ของตัวเอก “Coop” Joseph Cooper กับลูกสาว Murph ที่ตั้งชื่อตาม Murphy’s Law

หนังเป็น hard scifi เน้นความสมจริงของการเดินทางอวกาศ โดยได้ Kip Thorne นักฟิสิกส์ชื่อดังมาเป็นที่ปรึกษาให้ด้วย (เขาเป็นคนออกไอเดียเรื่องการเดินทางผ่านหลุมดำใน Contact) แถมยังเขียนหนังสือประกอบชื่อ The Science of Interstellar ตามมาให้อีก (น่าซื้อมาอ่าน แต่ก็น่าจะไม่มีแรงอ่าน)

เรื่องพล็อตของ Interstellar ที่ค่อนข้างซับซ้อนนั้นมีคนเขียนถึงไปเยอะแล้ว (ทั้งเทศและไทย) ส่วนตัวไม่มีปัญหาเพราะอ่านนิยาย scifi ลักษณะนี้มาเยอะ 555 พล็อตเรื่องการบิดเบี้ยวของเวลาที่เกิดจาก relativity theory เอาเข้าจริงก็ถูกใช้ในนิยายหลายเรื่อง เช่น ซีรีส์ Ender’s Game หรือในแอนิเมชัน Lightyear

ความรู้สึกที่ดู Interstellar คิดว่าหนังได้อิทธิพลมาจากนิยายของ Arthur C. Clarke อย่างมาก (ทั้งซีรีส์ 2001 และ Rama) ในแง่การเป็น hard scifi ที่เน้นเรื่องความสมจริง ข้อเสียของนิยาย Clarke คือมันสมจริงในแง่วิทยาศาสตร์มากๆ แต่ตัวละครมันจะแบนๆ ไม่ค่อยสนุกนัก (ถ้าเทียบกับนิยายของ Asimov) แต่ใน Interstellar ก็เพิ่มกลวิธีการเล่าเรื่องแบบหนัง ที่เน้นความสัมพันธ์ของตัวละคร Coop/Murph เข้ามาให้คนดูอินไปกับตัวละครได้มากขึ้น

ถึงแม้ Interstellar เน้นเรื่องความสมจริงในเชิงฟิสิกส์ แต่ก็ยังรู้สึกว่ามี plot hole อยู่หลายจุดอยู่ดี (มีคนเขียนถึงไปเยอะแล้วเช่นกัน) เท่าที่นึกออกคือเรื่องข้อจำกัดในการส่งข้อมูลทะลุหลุมดำ (รับได้ ส่งกลับลำบาก), Romilly รอคอยอยู่บนยานได้ 23 ปีได้อย่างไร, แรงจูงใจของ Mann ที่แปลกๆ ว่าตกลงต้องการอะไรกันแน่, ตอนจบนั้น Murph รู้ได้อย่างไรว่า Amelia Brand ไปยังดาวปลายทางได้สำเร็จ

อีกปัญหาที่พบใน Interstellar คือหนังมันยาวมาก 169 นาที แต่ก็ยังรู้สึกว่าสั้นไปสำหรับการเล่ารายละเอียดบางจุดที่สำคัญ และบางครั้งก็รีบมากจนคนดูอาจตามไม่ทัน (เช่น เหตุการณ์ในห้องมิติ tesseract) ถ้ามันถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์ความยาวรวมสัก 5-6 ชั่วโมง น่าจะเก็บรายละเอียดของเรื่องและโลกในเรื่องได้ดีกว่านี้มาก

เกร็ดอื่นๆ ของเรื่อง

  • Do not go gentle into that good night บทกวีที่ Professor John Brand พูดบ่อยๆ ในเรื่อง เป็นบทกวีแบบมีสัมผัสที่เรียกว่า villanelle เขียนโดย Dylan Thomas ชาวเวลส์ ในปี 1947 (บทกวีฉบับเต็ม) ความหมายของมันคือต้องไม่ยอมแพ้ (do not go gentle) ต่อความตาย (good night คำนี้แปลว่า ตาย)

Do not go gentle into that good night,
Old age should burn and rave at close of day;
Rage, rage against the dying of the light.

  • นาฬิกาที่เป็น plot device สำคัญของเรื่องเป็นของแบรนด์ Hamilton Watch (แบรนด์นาฬิกาอเมริกัน แต่ตอนนี้เป็นของสวิส อยู่ใต้ Swatch Group) โดยมี 2 เรือน
    • เรือนหลักของ Coop คือรุ่น Khaki Aviation Pilot Day Date Auto ซึ่งมีขายทั่วไปอยู่แล้ว
    • เรือนที่ยกให้ Murph เป็นนาฬิกาแบบคัสตอมที่ Hamilton ออกแบบให้หนังโดยเฉพาะ ตอนแรกไม่วางขายทั่วไป จึงมีชื่อเรียกในวงการว่า Murph’s Watch แต่ภายหลังก็ทำออกมาขายในชื่อรุ่นว่า Khaki Field Murph Auto ด้วย
    • Hamilton ทำนาฬิกากับหนังหลายเรื่องอยู่แล้ว และหลังจาก Interstellar ก็ยังทำนาฬิกาให้หนังของ Nolan เรื่องถัดๆ มาอย่าง Tenet และ Oppenheimer ด้วย
  • พายุฝุ่น (Dust Bowl) ที่เห็นในเรื่องนั้นมีอยู่จริงในสหรัฐอเมริกายุค 1930s โดยเกิดจากการนำพื้นที่มาทำการเกษตรจนเตียนโล่ง บวกกับความแห้งแล้งในช่วงนั้นพอดี คนในพื้นที่กลางประเทศจึงต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น และรัฐบาลสหรัฐเข้ามาแก้ปัญหาด้วยแผนการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ปรับหน้าดิน ปลูกป่าและพืชคลุมดิน ตามนโยบาย New Deal ของประธานาธิบดี Roosevelt ในช่วงเวลานั้น
  • ชื่อหลุมดำ Gargantua มาจากชื่อยักษ์ในนิยายเรื่อง Gargantua and Pantagruel ของนักเขียนชาวฝรั่งเศส François Rabelais เขียนขึ้นในปี 1534 (Gargantua เป็นพ่อของ Pantagruel อีกที)
  • ชื่อภารกิจ Lazarus นำมาจาก Lazarus of Bethany บุคคลในคัมภีร์ไบเบิล ที่พระเยซูช่วยคืนชีพให้หลังตายนาน 4 วัน ทำให้ชื่อ Lazarus ถูกนำมาอ้างถึงบ่อยๆ ในแง่การคืนชีพ หรือกลับมาจากความตาย
  • ชื่อยาน Endurance น่าจะนำมาจากเรือ Endurance ที่ไปสำรวจขั้วโลกใต้ในปี 1914 แต่สุดท้ายจมไปในปี 1915
    • NASA มีเรือดำน้ำสำรวจขั้วโลกชื่อ ENDURANCE อยู่จริงๆ ด้วยเหมือนกัน
  • หุ่นยนต์ในเรื่องมีทั้งหมด 4 ตัวคือ TARS, CASE, KIPP, PLEX (PLEX มีเฉพาะในนิยาย)
    • เข้าใจเอาเองว่า TARS = STAR ส่วน KIPP คือเอาชื่อมาจาก Kip Thorne ส่วนตัวอื่นนึกไม่ออกแล้ว