บันทึกการซ่อมเครื่องโน้ตบุ๊ก HP Spectre x360 (รุ่น Late 2017) หลังพบปัญหาจอฟ้าอยู่บ่อยครั้ง และสุดท้ายแก้ด้วยการเปลี่ยน SSD
ปัญหาที่พบ
เนื่องจากใช้โน้ตบุ๊กเป็น HP Spectre x360 อายุประมาณ 4 ปี (ซื้อช่วงต้นปี 2018 เลขรุ่นเป๊ะๆ คือ 13-ae060tu) เริ่มพบปัญหาจอฟ้า BSOD ช่วงกลางปี 2021
เนื่องจากปัญหาจอฟ้า BSOD เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุมากๆ การค้นหาจึงต้องตีวงตาม error message ที่ปรากฏขึ้นบนจอ
อาการที่พบในช่วงแรกคือ ใช้งานคอมพิวเตอร์ไปสักระยะ แล้วถ้าเกิดขยับเครื่อง (เช่น ยกขึ้นแล้ววางลง) เครื่องเกิดการกระแทกเล็กน้อย หรืออีกอาการคือใช้เครื่องแล้วสั่ง sleep พอปลุกให้ตื่นขึ้นมาสักพัก จะขึ้นจอฟ้า BSOD และรีบูตทันที
จากการดัก error message อาการของผมคือ Event ID 41 BugCheckCode 292 (WHEA uncorrectable error) โดยเครื่องไม่สร้าง dump file ให้ต่อ ลักษณะคล้ายกับกระทู้นี้
ในเอกสารของไมโครซอฟท์ มีระบุอาการคร่าวๆ คือ
- Event ID 41 = เครื่องรีบูตเองโดยไม่ชัตดาวน์ให้ถูกต้อง
- BugCheckCode 292 (WHEA uncorrectable error) = เป็น error ที่เกิดจากฮาร์ดแวร์พัง แต่ไม่ระบุชัดเจนนักว่าเกิดจากฮาร์ดแวร์ชิ้นไหน ลองดูใน log ก็ไม่มีข้อมูลหรือคีย์เวิร์ดที่ชัดเจน
อาการลักษณะนี้เกิดขึ้นกับหน่วยความจำ (แรมหรือสตอเรจ) ผมได้ลองรันพวก memory/SSD diagnostic utility แล้วก็ไม่พบปัญหาใด (สิ่งที่พบเพิ่มเติมคือชุมชนออนไลน์เรื่องการแก้ปัญหา BSOD มีขนาดใหญ่มากๆ อย่างไม่น่าเชื่อ)
หลังจากพยายามงมด้วยตัวเองอยู่นาน ก็ยอมแพ้ และส่งเครื่องเข้าศูนย์ซ่อมของ HP พระราม 3 ซึ่งช่างที่ศูนย์บอกว่าลองแกะ SSD ออกมาทำความสะอาด เสียบใหม่แล้วหาย
นำเครื่องกลับมาจากศูนย์แล้วก็ใช้งานได้ปกติอยู่อีกสักพัก จนมาเจออาการจอฟ้าใหม่อีกรอบ เลยคิดว่าปัญหาน่าจะเกิดจาก SSD จริงๆ แล้ว (อาจพังที่คอนโทรลเลอร์ของ SSD) จึงตัดสินใจซื้อ SSD มาเปลี่ยน
การเปลี่ยน SSD ด้วยตัวเอง
SSD รุ่นที่ติดมากับเครื่อง เป็น NVMe PCIe 3.1 แบบสล็อต M.2 ขนาด 80mm รุ่น Toshiba XG5 ความจุ 256GB (KXG50ZNV256G) ปัจจุบันไม่มีขายแล้ว
เนื่องจากพฤติกรรมการใช้งานไม่ได้ต้องการความจุเยอะ (งานอยู่บนคลาวด์หมด) หรือความเร็วในการเขียนอ่าน SSD มากกว่าเดิม เลยเลือกซื้อรุ่นคล้ายๆ เดิม สุดท้ายมาได้ Apacer รุ่น AS2280 ความจุ 256 GB ซื้อออนไลน์จาก Advice ในราคา 1,220 บาท รอของหนึ่งวันก็ได้แล้ว
การแกะฝาหลังของโน้ตบุ๊ก HP Spectre x360 ทำได้ไม่ยากนัก (ผมเคยแกะมาก่อนแล้วด้วย) สิ่งสำคัญคือต้องมีไขควง torx แบบ 6 แฉกด้วย
พอถอดฝาหลังออกมาแล้วจะเจอกับ SSD ทันที ไม่ต้องแกะอะไรเพิ่ม แค่ไขน็อตด้านขวาออก เปลี่ยน SSD ตัวใหม่ลงไป ขันน็อตคืนก็เสร็จแล้ว
เมื่อประกอบเครื่องคืนเสร็จ ก็ติดตั้ง Windows ใหม่ ซึ่งการติดตั้ง Windows สมัยนี้ทำได้ง่าย เพราะกระบวนการ activation ผูกกับ Microsoft Account ของเราอยู่แล้ว
สิ่งที่ต้องทำคือดาวน์โหลดอิมเมจของ Windows มา (จะเป็น 10 หรือ 11 ก็ได้) แปลงลง flashdrive แล้วเสียบเข้าพอร์ต USB-A
เคสนี้เครื่องเรามีแต่ SSD ว่างๆ ทำให้ UEFI/BIOS เครื่องมองไม่เห็น OS ในดิสก์หลัก และมองหา boot device อื่นให้เอง ที่เหลือคือติดตั้งตามกระบวนการปกติของ Windows, กรอกรหัส Microsoft Account รอก็อปปี้ไฟล์ไม่นานก็เสร็จ (รวมแกะ SSD ด้วย ใช้เวลาไม่ถึง 15 นาที หากมีตัว flashdrive พร้อมอยู่แล้ว)
บูตเครื่องมาต่อเน็ตได้แล้ว เครื่องจะค้นหาไดรเวอร์และอัพเดตตัวเอง รีบูตรวมอีก 2 ที จะพร้อมใช้งาน