in Books

HARSHTAG รวมเรื่องสั้นไซเบอร์บูลลี่

ได้รับหนังสือ HARSHTAG #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา (ชื่อหนังสือคือ “Harsh” นะครับ ไม่ใช่ Hash) มาจาก dtac อ่านรวดเดียวจบและประทับใจ จนต้องมาเขียนถึง

dtac มีโครงการเพื่อสังคมเรื่อง cyberbullying มานานหลายปี (รายละเอียดบนเว็บไซต์ dtac) รูปแบบโครงการส่วนใหญ่เป็นแนววิชาการ (วิจัย ให้ความรู้) และแคมเปญรณรงค์ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน

หนังสือ HARSHTAG (ชื่อเขียนยากจังเนอะ) เป็นอีกหนึ่งโครงการเรื่อง cyberbullying ที่ dtac ร่วมกับสำนักพิมพ์ Salmon Books นำเสนอปัญหา cyberbullying ของสังคมไทยผ่าน “วรรณกรรม” รูปแบบเรื่องสั้น นิยายแชท และการ์ตูน

หนังสือเล่มนี้น่าสนใจตรงการเล่าเรื่องแบบวรรณกรรมที่ subtle กว่าแคมเปญประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิม ใกล้ตัวกว่า เห็นภาพกว่า ย่อมช่วยเรื่องการเข้าถึงไปยังกลุ่มคนได้มากขึ้นกว่า

เรื่องสั้นมีทั้งหมด 9 เรื่อง (เรียงตามลำดับในเล่ม) จุดที่น่าสังเกตคือแต่ละเรื่องพูดถึง “แพลตฟอร์มออนไลน์” ที่แตกต่างกัน ซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่าเป็นความตั้งใจของทีมบรรณาธิการตั้งแต่ช่วงวางคอนเซปต์ของหนังสือ

spoiler alert: เปิดเผยใจความสำคัญของเรื่อง

Family Naraak โดย นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์

เรื่องสั้นนี้ว่าด้วยพ่อแม่โพสต์รูปลูกสาววัยรุ่นลง Facebook โดยไม่ได้รับความยินยอม และบรรดาญาติผู้ใหญ่ ลุงป้าน้าอา เข้ามาคอมเมนต์อย่างเมามันว่า “อ้วนไปนะ” ทำให้ลูกสาวได้รับความอับอาย และหนีห่างไม่ไว้วางใจเครือญาติตัวเองอีกต่อไป

เรื่องสั้นนี้พูดถึงสถานการณ์ที่น่าจะเจอได้บ่อย (มาก) ในสังคมไทยยุคผู้ใหญ่ติดโซเชียล แต่ไม่เข้าใจเรื่องความยินยอม (consent) จากตัวลูกหลานมากนัก แถมบริบทของวัฒนธรรมแบบไทยที่เด็กไม่สามารถเถียงได้ (ในแชต LINE ครอบครัว) ก็ยิ่งกดทับความต้องการของตัวเด็กไปอีกชั้น

บทนี้มีให้ลองอ่านฟรีบน Minimore

It’s a Match โดย โชติกา ปริณายก

เรื่องนี้พูดถึงแอพหาคู่ Tinder ที่ปัดขวาหารักแท้ (matched!) บวกกับตัวตนของบุคคลบน Instagram ที่ทุกคนเข้าถึงได้จากสาธารณะ ทำให้เกิดการปลอมตัว (impersonate) ได้ง่ายขึ้นมาก

บริบทของเรื่องนี้คือการปลอมตัวหลอกกันไปมาระหว่างกลุ่มเพื่อนด้วยกันเอง ที่มีความสัมพันธ์ชาย-หญิงที่ซับซ้อน

รู้ไหม ใครโกรธ โดย ธนชาติ ศิริภัทราชัย

เบนซ์ ธนชาติ กำลังดังในช่วงนี้พอดีจากคลิปคุณแวน นักธุรกิจชื่อดังที่เป็นไอดอลของคนมากมาย

เรื่อง “รู้ไหม ใครโกรธ” พิสูจน์ให้เห็นความเก่งของเบนซ์ในการจับประเด็นและจับกระแสในเชิงวัฒนธรรมป๊อป ตัวเรื่องคือมีรายการเกมโชว์ “รู้ไหมใครโกรธ” ที่ผู้แข่งขันจะต้องมาเผชิญกับวีรกรรมของตัวเองในอดีตที่เคยไปแกล้งหรือทำไม่ดีกับคนอื่นเอาไว้ โดยเชิญ “คู่กรณี” มาเป็นแขกในรายการ แล้วให้ผู้แข่งขันว่าแขกคนไหนบ้างที่ยังโกรธตัวเองอยู่

เรื่องสั้นตอนนี้ไม่ได้พูดถึงแพลตฟอร์มไหนเป็นพิเศษ แต่การเล่าเรื่องในรูปแบบเกมโชว์ก็ถือเป็นมิติที่แปลกใหม่และน่าสนใจมาก

เรื่องของเบนจามิน ที่เบนจามินไม่ได้เล่า โดย JittiRain

เรื่องนี้พูดถึงชีวิตของคนดังโลกโซเชียล “เบนจามิน” ที่จู่ๆ หายไปจากโซเชียล พร้อมกับข่าวลือมากมายที่เล่าต่อๆ กันไปโดยไม่มีมูล ตัวเอกเป็นอดีตเพื่อนสนิทของเบนจามินที่ห่างหายกันไปนาน และต้องตามหาเบนจามินผ่านข่าวลือต่างๆ แต่สุดท้ายเขาก็พบว่ามันไม่ใช่อย่างที่คิด

เรื่องนี้ชูประเด็นเรื่อง “ข่าวลือ” บนโลกโซเชียลได้อย่างน่าสนใจ และให้มุมมองเรื่องเสียงซุบซิบนินทา (ที่กลายเป็นเรื่องปกติของคนดังโซเชียล) ที่มีผลต่อชีวิตประจำวันของเจ้าตัวคนดังนั้นๆ อย่างมาก

Midnight Fantasy โดย serene seaborn x summer december

เป็นเรื่องของคนดังโลกออนไลน์หลายคน ที่ต้องเผชิญกับคอมเมนต์เสียดสีจากช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะ Twitter ที่เปิดให้มี “แอคหลุม” สื่อสารได้แบบนิรนาม ส่งผลให้ด้านมืดในตัวมนุษย์ถูกส่งผ่านออกมาแบบไม่ยั้ง

ตัวละครในเรื่องมีทั้งนักเขียน “แต่งฟิก” นิยาย Y ที่ต้องเผชิญกับคอมเมนต์ของผู้อ่านจนทำให้เสียเซลฟ์, แฟนสาวของดาราหนุ่มคนดังที่โดนแฟนคลับเกลียดแบบไม่มีเหตุผล และผู้บริหารหนุ่มโพรไฟล์ดี ขวัญใจชาวเน็ต ที่ต้องปกปิดว่าตัวเองเป็นเกย์และแอบถ่ายคลิปเด็กมหาลัย

Love me love my sick โดย afterday

สาววัยรุ่นเจ้าของเพจ Facebook ชื่อดัง ที่ใช้แอพแต่งรูปให้ตัวเองดูดีเกินจริง และต้องพะวงกับการที่คนอื่นจะจับได้ ผนวกกับความสัมพันธ์ของครอบครัวและเครือญาติ ที่เอารูปสมัยเด็กๆ ของเธอมาโพสต์ลงโซเชียล (โดยไม่ตั้งใจ “น่าเอ็นดู” ตามสไตล์ผู้ใหญ่ไทย) และกระแสของเพื่อนร่วมห้องที่ “แอนตี้” ความดังและความปลอมของเธอ

พล็อตเรื่องนี้คล้ายกับเรื่องแรก แต่ต่างกันตรงนี้ตัวเอกมีชื่อเสียงมากกว่า มีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่า แต่ทั้งสองเรื่องก็เป็นสิ่งที่พบเจอได้ทั่วไปในสังคมบ้านเรา

Grandma Chaturbate โดย จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

หนึ่งในเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด คุณยายวัยเก๋าป่วยหนักใกล้ตาย แต่ฟื้นกลับมาได้แบบปาฏิหารย์ ชีวิตหลังจากนั้นคือมาเปิดแอคเคาท์ OnlyFans เล่าเรื่องประสบการณ์เซ็กซ์ในวัยสาว กับคนนานาชาติมากหน้าหลายตา สร้างความตะลึงพรึงเพริดให้ลูกหลาน

เรื่องนี้น่าสนใจตรงที่หยิบจับความแตกต่างของคุณค่าแบบสุดขั้วของสังคมไทย ระหว่างคุณยายที่ควรอยู่ในขนบ กับความเปิดกว้างเรื่องเซ็กซ์ที่สังคมไทยไม่เคยยอมรับ ผ่านเทคโนโลยีใหม่อย่าง OnlyFans และสายตาของคนรุ่นหลานที่มีวิธีคิดแตกต่างออกไป

หนักซ้าย โดย ตัวแม่*

เป็นนิยายแชท 100% เรื่องการบูลลี่ในชั้นเรียน เด็กชายที่ต้องเผชิญกับการบูลลี่อย่างหนักจนต้องคิดสั้น ในแชทเราได้เห็นปฏิกิริยาจากคนต่างๆ รอบตัว เพื่อนร่วมชั้นแต่ละสไตล์ ทั้งคู่กรณี เพื่อนสนิทที่ใกล้กำลังใจ เพื่อนห่างๆ ที่เข้ามาถล่ม และแม่

ยูทูบเบอร์กับคดีฆาตกรรมปริศนา โดย สะอาด

การ์ตูนเรื่องเดียวในเล่ม วาดโดยสะอาด ที่มีผลงานโด่งดังอยู่แล้ว เป็นเรื่องของยูทูบเบอร์สาวชื่อดังที่ต้องทำหน้าชื่นบาน ระหว่างเผชิญกับคอมเมนต์บูลลี่ของชาวเน็ต จนสุดท้ายก็ฆ่าตัวตาย เล่าผ่านการสืบคดีฆาตกรรมเหมือนการ์ตูนแนวคินดะอิจิหรือโคนัน

อย่างที่เขียนไปตอนแรกแล้วว่า พอได้หนังสือมาก็ลองเปิดอ่านดู สุดท้ายกลายเป็นอ่านรวดเดียวจบเลย การเล่าเรื่องมีความหลากหลายของแพลตฟอร์มและปมการบูลลี่ (ทีม บ.ก. วางโครงมาดี) นักเขียนก็ทำหน้าที่ได้ดีในการถ่ายทอด “ความทุกข์” ของคนที่ถูกบูลลี่ออกมาให้เห็น และน่าจะช่วยให้คนอ่านมีความตระหนักถึงความทุกข์ของคนอื่นได้ไม่มากก็น้อย ก่อนเริ่มต้นบูลลี่ใคร

วิธีการเล่าเรื่องแบบสมัยใหม่ที่มีทั้งการ์ตูน นิยายแชท นิยายผสมแชท และการหยิบจับเรื่องใกล้ตัว (สังคมเพื่อน โรงเรียน ครอบครัว ประเด็นที่พบบ่อยในโซเชียล) ย่อมช่วยให้เนื้อหาเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้นจริงๆ

ข้อเสียเดียวของหนังสือเล่มนี้ที่ผมนึกออกคือ “ชื่อหนังสือ” #HARSHTAG ที่ไม่ค่อยสื่อเท่าไรนัก (เขียนก็ยาก ออกเสียงก็ยาก) และน่าจะทำให้คนจำนวนไม่น้อยมองข้ามตัวคอนเทนต์ที่ดีในหนังสือเล่มนี้ไป