in Books

Harari vs Lagarde

ไม่เคยอ่านหนังสือของ Yuval Noah Harari มาก่อนสักเล่ม (ด้วยเหตุผลว่าไม่มีเวลา) แต่มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งส่งคลิปนี้มาให้ดู

Harari เดินสายโปรโมทหนังสือและออกรายการต่างๆ เยอะมาก แต่เคสนี้คนสัมภาษณ์เป็น Christine Lagarde ผู้อำนวยการ IMF เห็นชื่อชั้นแล้วก็ต้องดูสักหน่อย

เนื้อหาส่วนใหญ่ในคลิปมาจากในหนังสือเล่มใหม่ของเขา 21 Lessons for the 21st Century โดยครึ่งแรกเป็น Lagarde ถาม ส่วนอีกครึ่งเป็นการเปิดให้ผู้ฟัง (ซึ่งก็คือพนักงาน IMF) ถาม

จดประเด็นมาสั้นๆ เป็นช็อตโน้ต

  • เรามักสนใจกันแต่ info tech (information technology) เพียงอย่างเดียว แต่ลำพัง infotech อย่างเดียวเปลี่ยนโลกไม่ได้ ต้องใช้คู่กับ biotech ด้วย เพื่อให้สามารถเข้าถึงมนุษย์ได้เต็มที่
  • AI doctor มาแน่นอน เพราะงานของหมอคือการวินิจฉัย ซึ่งคอมพิวเตอร์ทำได้ดีกว่า ยิ่งถ้าเราเชื่อมเซ็นเซอร์กับร่างกายมนุษย์ วัดค่าได้ตลอดเวลา การวินิจฉัยด้วยคอมจึงแม่นกว่า และไม่มีอารมณ์ของหมอมาเกี่ยวข้อง
  • AI อาจมาแทนหมอได้ แต่มาแทนพยาบาลได้ยาก เพราะงานของพยาบาลเป็นการสัมผัสตัว ใช้ทักษะ ต้องพันแผล อาบน้ำคนไข้ ฯลฯ ดังนั้น AI nurse จะมาช้ากว่า AI doctor
  • Universal Basic Income (UBI) ไม่น่าจะเวิร์ค ในมุมของ Harari ควรเป็น Universal Basic Services (UBS) ที่เป็นบริการไม่คิดเงิน แทนการแจกเงิน และมิติของ UBI/UBS ไม่ได้เป็นแค่ระดับชาติ (เก็บภาษีจากบริษัทรวยในรัฐหนึ่งไปแจกคนจนในอีกรัฐ) แต่เป็นระดับโลก
  • Who owns the Data owns the Future ใครครองข้อมูลคือผู้ครองอนาคต ซึ่ง Lagarde ใช้คำว่า “Those Happy Few” ก็คือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่รู้จักกันดี Harari บอกว่าปัจจุบันเกิดสภาวะ Data Hotspot คือข้อมูลกระจุกตัวที่บางจุดของโลก เช่น บริษัทไอทีในแคลิฟอร์เนีย หรือ เอเชียตะวันออกเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ในโลกอาจเรียกว่าเสียเอกราชทางข้อมูลไปแล้ว
  • ยุคของ AI/Data เทียบได้กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมีประเทศในยุโรปแค่ไม่กี่ประเทศที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ และประโยชน์นี้คงทนไปหลายชั่วอายุคน
  • ในยุคที่ยุโรปมีเรือกลไฟ มีเครื่องจักรไอน้ำ ประเทศอื่นๆ คงมองว่าไม่สำคัญ มีปัญหาอย่างอื่นที่สำคัญมากกว่าต้องสนใจ รู้สึกตัวอีกทีก็กลายเป็นอาณานิคมไปแล้ว เคสของ AI ก็คล้ายๆ กัน
  • ยุโรปล่าอาณานิคม แล้วเอาคนของประเทศอาณานิคมมาใช้ประโยชน์ (exploit) แต่เคสของยุค AI จะกลายเป็นว่าคนของประเทศที่ไม่มี AI กลายเป็นไม่สำคัญ (irrelevant) ซึ่งน่ากลัวกว่าถูกใช้เป็นทาสซะอีก อย่างน้อยทาสก็มีตัวตน
  • หลายเรื่องในโลกเป็นเรื่องแต่ง (fiction) แต่เมื่อทุกคนเชื่อเหมือนกัน ก็ใช้งานได้ ตัวอย่างที่ดีคือ “ฟุตบอล” กติกาของฟุตบอลเป็นสิ่งที่แต่งขึ้นล้วนๆ แต่เมื่อคน 22 คนเชื่อเรื่องเดียวกัน มันก็เดินหน้าไปได้
  • “เงิน” คือเรื่องแต่งที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่ละชนเผ่าอาจเชื่อในพระเจ้าคนละองค์กัน แต่ทุกเผ่าเชื่อเรื่องเงินแบบเดียวกัน คอนเซปต์ของเงินเป็นเรื่องแต่งขึ้นล้วนๆ
  • ฟุตบอลโลก ทำให้คนทุกวัฒนธรรมเคารพกติกาของฟุตบอลและมาแข่งกันได้ ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของมนุษย์ยุคใหม่ เป็นความเชื่อเหมือนกันในระดับโลก (global trust)
  • Harari มีชื่อเสียงด้านการนั่งสมาธิ เขาตอบคำถามว่าการนั่งสมาธิช่วยให้ได้คำตอบในเรื่องต่างๆ หรือไม่ คำตอบก็คือไม่ แต่การนั่งสมาธิ ช่วยให้รู้จักตัวเองดีขึ้น (know yourself better)
  • ยุคสมัยนี้คนอื่นๆ รู้จักตัวเราดีกว่าตัวเราเอง ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย เพราะเราจะถูกชักจูงได้ง่าย ดังนั้นก็ควรต้องรู้จักตัวเราเองให้ดี
  • คุณค่าที่ทุกประเทศให้ความสำคัญสูงสุดในตอนนี้คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) ซึ่งสำคัญกว่าหลักการทางศาสนาซะอีก
  • ปัญหา climate change เป็นขั้วตรงข้ามกับ economic growth ดังนั้นการหยุดปัญหา climate change โดยบอกให้ economic หยุดโต เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เราควรหาโซลูชันใหม่ๆ ในการแก้ climate change ต่างหาก เช่น เนื้อสัตว์สังเคราะห์ ที่เหมือนเนื้อจริงๆ แต่ใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อยกว่าการเลี้ยงวัวมาก
  • เขาคิดว่า “เงิน” ในอนาคตจะมาจากความเชื่อมั่น (trust) มากกว่าความไม่เชื่อมั่น (distrust) แต่ก็ไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นอย่างไร
  • อนาคตเราอาจแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากกว่าเงิน คำถามคือเราสามารถคิดภาษีกับข้อมูล แทนการคิดภาษีจากเงินได้หรือไม่
  • ฟังก์ชันสำคัญของมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน คือ เป็นผู้บริโภค (consumer) แต่อนาคตหากเราประดิษฐ์สินค้าอะไรขึ้นมา consumer ของเราอาจเป็น AI ไม่ใช่คนแล้ว ตัวอย่างเช่น เขียนหนังสือมาเล่มหนึ่ง อาจเลือกสร้างหนังสือที่ AI ของ Amazon ชอบ เพื่อให้ขายได้ มากกว่าเขียนให้คนชอบ
  • พลังของชาตินิยม (nationalism) ถดถอยลงมากในช่วงหลัง สมัยก่อนคนฆ่ากันตายเป็นล้านในสงครามโลก แต่ยุคนี้ไม่มีใครยอมตายแบบนั้นอีกแล้ว เคส Brexit มีคนตายรวม 1 คนเท่านั้น
  • ปัญหาใหญ่ๆ ของโลก เช่น AI หรือ climate change เป็นเรื่องระดับโลก (global problem) ทางแก้คือทั้งโลกต้องช่วยกัน (global cooperation)