ปัญหา COVID-19 ทำให้ระบบความร่วมมือระหว่างประเทศล่มสลาย เราลืมชื่อ UN กันไปนานแล้ว, EU พังพินาศมาก่อนหน้านี้, WHO กลายเป็นชนวนทะเลาะระหว่างจีนกับอเมริกา ฯลฯ (ส่วน ASEAN ก็เห็นครั้งสุดท้ายตอนจับมือร้องเพลง อาเซียนรวมใจ ปี 2015)
เหตุผลที่ความร่วมมือระหว่างประเทศล่มสลาย มีด้วยกันหลายข้อ เช่น
- ผู้นำโลกยุคนี้ เน้นเรื่องของประเทศตัวเองมากขึ้น (เช่น ทรัมป์และอื่นๆ)
- พอเจอวิกฤตในประเทศตัวเองตึงมือ ก็ไม่มีเวลาไปสนใจเรื่องของประเทศอื่นๆ
แต่การกอบกู้โลกจากไวรัส แก้ปัญหาในประเทศตัวเองอย่างเดียวมันไม่พอ เพราะมีงานหลายอย่างที่ต้องประสานงานกันข้ามชาติด้วย เช่น การทดสอบวัคซีน, การปิดพรมแดน (ที่ต่างคนต่างทำแล้วก็เละอย่างที่เห็น) ไปจนถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินอัดฉีดต่างๆ ด้วย
คำถามคือ ในภาวะที่โลกเราต้องการความร่วมมืออย่างยิ่งยวด แต่ผู้นำประเทศไม่สนใจ+ไม่ว่างที่จะมาคุยกัน เราจะทำยังไงดี เราจะไปหาผู้นำจากที่ไหนมาให้ใช้งาน
คำตอบที่ฟังแล้วดูน่าสนใจดี คือ กลับไปใช้ผู้นำรุ่นก่อนหน้านี้สิ ที่มีประสบการณ์ คอนเนคชั่นพร้อม แถมตอนนี้ยังว่างงานอยู่ด้วย
นี่คือสิ่งที่ Gordon Brown อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษกำลังทำอยู่
We need a coordinated global #Coronavirus fighting fund. We need a financial package of radical and unprecedented measures to help fight this global pandemic. I've joined with 205 world leaders to call for action. https://t.co/rPYa264MYo
— Gordon & Sarah Brown (@OfficeGSBrown) April 7, 2020
ผมเคยคิดว่า Gordon Brown เป็นนายกอังกฤษที่น่าสงสารมากคนหนึ่ง เพราะแกอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของรัฐบาล Tony Blair เพื่อนรัก มาตั้งแต่ปี 1997 แต่พอถึงคิวเป็นนายกเองในปี 2007 ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะแพ้เลือกตั้งในปี 2010 (ซึ่งหลังจากนั้น พรรคแรงงานยังไม่เคยได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกเลย 10 ปีแล้วเนี่ย) แถมการแพ้เลือกตั้งครั้งนั้น ก็ทำให้ Brown เป็นนายกฯ ที่ไม่เคยชนะเลือกตั้งอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในแง่ประสบการณ์ทำงาน Brown ถือว่าโชกโชนมาก เพราะแกเคยเป็นรัฐมนตรีคลัง (อังกฤษเรียก Chancellor of the Exchequer) มานานถึง 10 ปี, เป็นนายก 3 ปี และมีบทบาทจัดการวิกฤตทางการเงินในช่วงปี 2008-2009 ด้วย
พอโลกเกิดวิกฤต COVID-19 ที่เป็นทั้งวิกฤตด้านความร่วมมือ (co-operation) และวิกฤตด้านการเงิน (financial) ทำให้ Brown เป็นหนึ่งในคนที่เหมาะสมที่สุด ในการออกมาช่วยเป็นกาวใจผู้นำโลกยุคปัจจุบัน ร่วมมือกันแก้ปัญหา
บทความใน Nikkei ระบุว่า Gordon Brown เริ่มต่อสายถึงอดีตผู้นำโลกยุค 2008 เช่น Kevin Rudd อดีตนายกออสเตรเลีย และ José Luis Rodríguez Zapatero อดีตนายกสเปน
Brown ยังเขียนจดหมายร่วมกับ Lawrence Summer อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐยุค Bill Clinton ถึงมาตรการทางการเงิน ผ่านหน่วยงานระดับนานาชาติ เช่น IMF หรือ World Bank เพื่อช่วยปลดหนี้-ลดหนี้-เลื่อนหนี้ ให้กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องใช้เงินอย่างมากในช่วงนี้ด้วย
ประโยคที่อ่านแล้วชอบมากคือ ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมีเงินทุนสำรองในช่วงนี้ หากไม่สามารถควักออกมาใช้ได้ในยามยากลำบากแบบนี้
there is little point in having reserves if they cannot be utilized now.
Brown ยังให้สัมภาษณ์กับ The New Yorker ในประเด็นเรื่องความร่วมมือ ว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องพยายามทำงานให้หนัก
What was your biggest lesson about global coöperation in 2008 and how does it relate to today?
That you’ve got to work hard to make it effective.
When we created the G-20 as the new leaders’ organization, the G-7 was not that much in favor, because it could have been overshadowed. And so we had to work very hard to get everybody together around the same table.
What does “work hard” mean in practice, if you’re a world leader?
Well, night and day. We were talking to Australia at one point in the day and to New York and Washington at a different point in the day.
ไม่ว่าความพยายามของ Gordon Brown จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน (คงต้องดูกันยาวๆ) แต่ก็น่าอุ่นใจมากขึ้น ที่โลกก็เริ่มมีการฟอร์มทีมของคนที่ดูจะเป็นผู้ใหญ่ และไม่มีผลประโยชน์โดยตรงกับการเมืองเฉพาะหน้า เข้ามาช่วยเป็นคนกลางประสานงานให้ทุกคนทำงานกันได้
และมันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “ระเบียบโลกใหม่” หลัง COVID-19 ด้วย
ภาพประกอบจาก เว็บไซต์ Gordon Brown