in Knowledge

God, King and Country

สนใจเรื่องที่มาของคำว่า “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ซึ่งนักวิชาการไทยหลายคนชี้ว่า มาจากประโยคของอังกฤษว่า “God, King and Country” เลยลองมาค้นข้อมูลเพิ่มดู

เบื้องต้นพบว่ามันไม่ตรงนัก ในอังกฤษมีใช้คำว่า “King and Country” กันมากกว่า (ไม่ค่อยมี God สักเท่าไร) โดยเป็นประโยคที่ใช้ปลุกใจทหารในช่วงสงคราม โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

เชคสเปียร์

ใน Quora บอกว่าประโยคนี้มาจากบทละคร Henry IV ของเชคสเปียร์ แต่ยังไม่ได้ลองไปไล่ดูในต้นฉบับจริงๆ อย่างไรก็ตาม มีการแสดงจากละครหลายเรื่องของเชคสเปียร์ และนำประโยคนี้มาใช้ตั้งชื่อ

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อังกฤษ (ที่ตอนนั้นยังเป็น British Empire) ได้ใช้คำว่า King and Country ในการเชิญชวนให้คนมาสมัครเป็นทหาร ดังภาพตัวอย่าง และเข้าใจว่าน่าจะใช้ตะโกนปลุกใจตอนรบด้วย

มีหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่มที่เขียนถึงทหารอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก็นำคำว่า King and Country มาใช้ตั้งเป็นชื่อหนังสือด้วย (ตัวอย่าง 1, ตัวอย่าง 2, ตัวอย่าง 3) รวมถึงภาพยนตร์สงครามบางเรื่อง

King ในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ พระเจ้าจอร์จที่ห้า (George V) ซึ่งเป็นปู่ของพระราชินีอลิซาเบธที่สอง

คำว่า King and Country ในยุคหลัง ก็ปรับมาใช้คำว่า Queen and Country แทนในยุคของพระราชินีอลิซาเบธที่สอง (เช่นเดียวกับเพลงชาติ God Save the King/Queen)

God, King, and Country

คำถามต่อมาคือ คำว่า God โผล่มาได้อย่างไร เท่าที่ลองหาดู มีเรื่องศาสนจักรเข้ามาเกี่ยวข้องบ้างนิดหน่อย ตามความเชื่อของทหารบางคน เช่น ตัวอย่างบัตรอวยพรในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ในพิพิธภัณฑ์ ก็มีคำว่า For God, King, and Country

หรือมีหนังสือที่พูดถึงบทบาทของศาสนาในยุคสงครามโลก ก็ใช้ชื่อนี้คือ For God, King, and Country

นอกจากนี้ยังพบบทความบางชิ้น (ไม่กี่ชิ้น) ที่อ้างถึง God, King, and Country ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่อ่านดูแล้วก็น่าจะเป็นความทรงจำของผู้เขียนเองมากกว่า เป็นหลักฐานแบบจับต้องได้ว่าสมัยนั้นใช้คำนี้แบบเป๊ะๆ

Oxford Union

ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปัญญาชนอังกฤษก็เหนื่อยหน่ายสงคราม และมีการถกเถียงกันว่า คนอังกฤษควรไปรบเพื่อ “king and country” อีกหรือไม่ ในการถกเถียงกันที่อ๊อกซฟอร์ดปี 1933 ซึ่งภายหลังถูกเรียกว่า King and Country debate ก็คุยกันเรื่องนี้ (พูดถึงเรื่องการรบ ไม่ใช่เรื่องกษัตริย์ตรงๆ)

คำขวัญของประเทศอื่นๆ

นอกจากอังกฤษแล้ว มีอีกหลายประเทศที่ใช้แนวคิดเรื่อง God, King, and Country ถึงขั้นเป็นคำขวัญประจำชาติ (ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของชาติยุคใหม่ด้วยเช่นกัน คือชาติสมัยเก่าไม่มีคำขวัญ)

ใน Wikipedia มีรวมคำขวัญประจำชาติของประเทศต่างๆ เอาไว้ ซึ่งคำยอดนิยมในคำขวัญทั่วโลกคือคำว่า god และ unity

ประเทศในยุโรปที่ยังมีกษัตริย์อยู่ ก็มีบางประเทศที่ใช้คำขวัญแนวนี้

  • Denmark: Gud, konge og fædreland (God, King and Fatherland)
  • Liechtenstein: Für Gott, Fürst und Vaterland (For God, Prince and Fatherland)

ที่น่าสนใจคือ ประเทศมุสลิมที่มีกษัตริย์ ก็นิยมใช้แนวเดียวกัน (แม้พระเจ้าคนละองค์)

  • Jordan: God, Homeland, King
  • Kuwait: God, The Nation, The Emir
  • Morocco: God, the Country, the King

โดยสรุปคือ ยังหาข้อมูลไม่เจอแบบเป๊ะๆ ว่าตกลงแล้วประวัติของคำนี้มาจากไหนกันแน่