in Economics

Food Security and COVID-19

ปัญหา COVID-19 ทำให้ Global Supply Chain สะเทือน เพราะฐานการผลิตสินค้าส่วนใหญ่ของโลกอยู่ในจีน พอจีนเกิดปัญหาก่อนเป็นที่แรกๆ จนต้องปิดโรงงาน ปิดท่าเรือ ก็ทำให้สินค้าไม่สามารถออกมาขายนอกจีนได้

ถ้าเป็นสินค้าทั่วๆ ไปที่ไม่สำคัญกับการดำรงชีวิตก็คงไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่พอเป็นสินค้าสำคัญในช่วงนี้อย่างวัตถุดิบที่ใช้ทำหน้ากากอนามัย หรือสารตั้งต้นของตัวยา ก็ส่งผลกระทบต่อการรับมือ COVID-19 ทันที

เรื่องนี้เขียนไว้ในบล็อก Global Supply Chain ว่าหลังจากนั้นไป รัฐบาลทั่วโลกคงต้องมาคิดเรื่องฐานการผลิตสินค้ากันใหม่ จะเน้นที่ cost-optimized อย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องอิงกับเสถียรภาพของสินค้าที่ใช้ในประเทศได้ด้วย หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ สงคราม ฯลฯ จะได้เอาตัวรอดได้

ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาคือ แล้วเรื่องอาหารล่ะ มีผลกระทบจาก COVID-19 ด้วยหรือไม่

หลังจากเห็นข่าวมาเลเซีย-เวียดนาม เริ่มกังวลเรื่องข้าวจะไม่พอกิน ก็เลยสงสัยในประเด็นนี้ขึ้นมาทันที

ต้องถือว่าประเทศไทยค่อนข้างโชคดี ที่ผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้เหลือเฟือ จนสามารถส่งออกได้ ถึงแม้ว่าอาจมีสินค้าเกษตรบางอย่างที่ผลิตเองไม่ได้ ต้องนำเข้าบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วคงไม่มีปัญหาอะไรหากต้องปิดประเทศ แล้วเลี้ยงคนทั้งประเทศให้มีอาหารกิน

แต่ก็เกิดความสงสัยอยู่ดีว่า COVID-19 มีผลกระทบต่อ Food Supply Chain อย่างไรบ้าง เลยลองไปค้นข้อมูลเรื่องนี้ดู พบว่าข้อมูลที่ดีที่สุด (ที่หาเจอ) มาจาก FAO หรือ องค์การอาหารและเกษตรโลก ที่สังกัด UN

สไลด์ชุดนี้คือ Coronavirus Food Supply Chain Under Strain What to do? เขียนโดย Maximo Torero Cullen ซึ่งเป็น Chief Economist ของ FAO (ข้อมูลอัพเดต 24 มีนาคม ถือว่าค่อนข้างใหม่)

สรุปสาระสำคัญคือ

  • ฝั่งการผลิตอาหาร (supply side)
    • ระดับการผลิตอาหารของโลก (food production) คงมีกระทบบ้าง แต่ไม่เยอะนัก
    • ปัญหาสำคัญคงเป็นเรื่องการขนส่งอาหาร จากการปิดพรมแดน หรือ แรงงานขนส่งโดนกักตัว
  • ฝั่งการบริโภคอาหาร (demand side)
    • ช่วงแรก ความต้องการอาหารจะลดลง เพราะคนตกใจ ส่งผลให้ราคาอาหารลดลง
    • พอคนหายตกใจแล้ว ความต้องการอาหารโดยรวมจะไม่ต่างจากเดิมมาก แต่พฤติกรรมการบริโภคจะเปลี่ยนไป เช่น คนอาจลดการกินอาหารบางอย่างลง (เพราะกลัว) หรือมีพฤติกรรมการไปซื้ออาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ตน้อยลง

ภาพรวมคือ FAO มองว่าการผลิตอาหารไม่น่าเป็นห่วงในภาพรวม แต่ในระดับ micro sector จะมีบางส่วนของสังคมที่ได้รับผลกระทบ เช่น พวกเด็กยากจนที่ต้องพึ่งพาอาหารกลางวันโรงเรียน, หรือผู้ผลิตอาหารบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบระยะสั้น จากปัญหาดีมานด์ลดลง ตรงนี้รัฐต้องเข้ามาแทรกแซงผ่านโครงการต่างๆ ทั้งฝั่ง demand/supply

ตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ มาจากจีนคือ ตอนปิดมณฑล Hubei ศูนย์กลางการระบาด จีนระดมการผลิตอาหารจาก 9 มณฑลอื่นเข้ามา เพื่อการันตีว่า Hubei จะมีอาหารกินเพียงพอ หรือ อิตาลี ล่าสุดมีโครงการ Cura Italia อัดเงินลงไปที่ภาคการเกษตร จ่ายเงินเกษตรกรล่วงหน้าเพื่อให้ผลิตอาหารให้คนอิตาลีกินช่วงนี้

สรุปคือ ปัญหาเรื่องอาหารถือว่าโชคดีที่ไวรัสไม่มีผลกระทบอะไรมาก ที่เหลือเป็นเรื่องการจัดการล้วนๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมืองไทยจะทำกันได้หรือเปล่า

ภาพประกอบ: Pixabay