in Economics

Five Paths of China Economy

Photo: Markus Winkler / Pexels

ถัดจากเรื่อง China Debt Overhang ก็มีโอกาสได้อ่านบทความคล้ายๆ กันที่เขียนโดย Michael Pettis ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจจีน เขียนลงในเว็บ Carnegie Endowment for International Peace เมื่อเดือนเมษายน 2022 ว่าด้วย 5 ทางเลือกที่เศรษฐกิจจีนสามารถเลือกเดินไปได้ The Only Five Paths China’s Economy Can Follow

Pettis วิเคราะห์ปัญหาหนี้ของจีนว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ

  • genuine growth การเติบโตแบบออร์แกนิก มาจากการบริโภค ส่งออก และการลงทุนของภาคธุรกิจ (ซึ่งมีขึ้นเพื่อตอบโจทย์การบริโภคและการส่งออก) เป็นการเติบโตที่ยั่งยืนกว่า
  • inflated growth การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ไม่ยั่งยืน แต่มีขึ้นเพื่อเร่งตัวเลข GDP ตามเป้าหมายทางการเมืองของรัฐบาลกลาง

ตัวเลขเศรษฐกิจจีนในแต่ละช่วงอาจมีวิธีเติบโตที่ต่างกัน เช่น ในปี 2020 ช่วง COVID แทบไม่มีการบริโภคเลย ทำให้ genuine growth ติดลบด้วยซ้ำ และที่เหลือคือ inflated growth ทั้งหมด

แต่ในปี 2021 สถานการณ์กลับกัน เพราะตลาดส่งออกเติบโตแรง การบริโภคกลับมาเพิ่มอีกครั้ง การลงทุนภาคธุรกิจสูง ในอีกทาง รัฐบาลกลางก็บีบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาฯ ผลทำให้อัตราส่วน debt-to-GDP ของจีนไม่เพิ่มอีก

Pettis บอกว่าการลงทุนในอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ได้เป็นปัญหาเสมอไป หากลงทุนแล้วได้ผลประโยชน์เศรษฐกิจทางตรงและทางอ้อมกลับมาคุ้มค่าเม็ดเงินที่ลงทุนไป (GDP เพิ่มด้วย ทำให้ debt-to-GDP ไม่เพิ่มตาม) ซึ่งจีนเคยทำสำเร็จมาแล้วในช่วงทศวรรษ 1970-2000s ที่ลงทุนเยอะ เศรษฐกิจเติบโตเยอะตามไปด้วย

แต่ตอนนี้ จีนมาถึงจุดที่ลงทุนในอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐาน แล้วไม่มีประโยชน์คุ้มค่าอีกแล้ว เพิ่มหนี้ซะเปล่าๆ และสุดท้ายต้องตั้งหนี้สูญ (amortized) อยู่ดี

ดังนั้นถึงเวลาที่จีนต้องหาโมเดลการเติบโตแบบใหม่ (new growth model) ที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม เน้นฝั่งอุปสงค์ (demand-side) แทนการเติบโตด้วยฝั่งอุปทาน (supply-side) และเกลี่ยเรื่องความเหลื่อมล้ำของรายได้ (income redistribution) ให้มากขึ้น

สภาพเศรษฐกิจจีนเป็น high savings, high investment growth model คือมีเงินฝากในประเทศมาก และนำไปใช้ลงทุนมาก ซึ่งทางออกของประเทศลักษณะนี้มีด้วยกัน 5 วิถีทาง

  1. ไม่ทำอะไร สะสมหนี้ให้ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ
  2. ลดการเติบโตด้วยการลงทุนที่ไม่เกิดผลิตภาพ (nonproductive investment) ด้วยการหันไปลงทุนในเทคโนโลยีใหม่แทน
  3. ลดการเติบโตด้วยการลงทุนที่ไม่เกิดผลิตภาพ (nonproductive investment) แล้วไปเพิ่มการบริโภคแทน
  4. ลดการเติบโตด้วยการลงทุนที่ไม่เกิดผลิตภาพ (nonproductive investment) แล้วเติบโตจากดุลการค้าระหว่างประเทศ (trade surplus)
  5. ลดการเติบโตด้วยการลงทุนที่ไม่เกิดผลิตภาพ (nonproductive investment) แล้วไม่ทำอะไรเลย ซึ่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะลดลงมาก

Pettis บอกว่าเส้นทางแรกนั้นสบาย ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่ก็มีปัญหาตามมาเยอะ ซึ่งจะซ้ำรอยสหรัฐช่วงทศวรรษ 1920s (Great Depression) หรือญี่ปุ่นยุค 1970s-80s ที่กลายเป็นทศวรรษที่สาบสูญ สิ่งที่เป็นสัญญาณอันดีคือนักการเมืองในปักกิ่งยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่ไปในแนวทางนี้

ส่วนอีก 4 เส้นทางที่เหลือ จะต้องเจอกับความยากในเชิงระบบ (systemic difficulties) ที่แตกต่างกันไป จนทำให้ประเทศที่เจอสถานการณ์แบบเดียวกันจะเลือกทางสุดท้าย คือ ยอมให้อัตราการเติบโตลดลง

  • ทางเลือกที่สอง เปลี่ยนมาลงทุนในเทคโนโลยีที่เกิดผลิตภาพ มีความยากตรงที่
    • เซกเตอร์เทคโนโลยีมีสัดส่วนแค่ราว 10% ของ GDP จีนเท่านั้น ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานมีราว 30% และอสังหาริมทรัพย์มีราว 30% มันแทนกันทั้งหมดได้ยากมาก
    • ไม่รู้จะลงทุนอะไรดี บริษัทเทคโนโลยีที่ดีพอมีจำนวนไม่เยอะพอ ไม่สามารถแทนการลงทุนแบบเก่าได้หมดเช่นกัน
    • โครงสร้างเชิงสถาบันของจีน โดยเฉพาะทางการเมือง ออกแบบมาเพื่อการลงทุนแบบดั้งเดิม (โครงสร้าง+อสังหา) การเปลี่ยนแปลงสถาบันเหล่านี้เป็นเรื่องยากมากในทางปฏิบัติ
  • ทางเลือกที่สาม เปลี่ยนมาเร่งการบริโภค การบริโภคภาคครัวเรือนจีนมีสัดส่วนราว 40% ของ GDP ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศอื่นที่มีราว 60% การขยับตัวเลขนี้ให้เพิ่มขึ้นจึงไม่ง่ายนัก
    • คนชั้นกลางจีนมีรายได้ไม่มากนัก (เทียบกับขนาดเศรษฐกิจ) มีข้อจำกัดในการบริโภค แม้รัฐบาลจีนประกาศนโยบาย common prosperity เกลี่ยรายได้ไปสู่คนชั้นกลาง-ล่างมากขึ้น ก็ช่วยได้ไม่เยอะเท่าไร
    • สัดส่วนของการลงทุนภาคธุรกิจจีน (business sector) ไม่ต่างอะไรจากประเทศอื่น ขยับได้ยากอยู่ดี
    • ทางออกเดียวที่ทำได้คือ การลงทุนภาครัฐจีน โดยเฉพาะรัฐบาลท้องถิ่น ต้องย้ายไปสู่ภาคครัวเรือน ซึ่งจีนพยายามทำมาตั้งแต่ปี 2007 แล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะติดข้อจำกัดทางการเมืองด้วย
  • ทางเลือกที่สี่ ชดเชยด้วยดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น (rising trade surplus) จีนมีดุลการค้าอยู่ราว 4-5% ของ GDP ซึ่งถือว่าใหญ่มากแล้ว (เกือบ 1% ของ GPD ประเทศอื่นๆ ในโลกรวมกัน)
    • จีนต้องเพิ่ม trade surplus ให้ได้ปีละ 3 percentage point ทุกปี เพื่อทดแทนการลงทุนที่ไม่เกิดผลิตภาพในประเทศ
    • ประเทศขนาดเล็กอาจทำได้ แต่ trade surplus จีนก็ขนาดใหญ่มากอยู่แล้ว การเพิ่มตัวเลขตรงนี้ไม่ง่าย แถมจะมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศด้วย เพราะเติบโตจากการเสียดุลการค้าของประเทศอื่น

Pettis บอกว่าหากจีนเดินบน 3 เส้นทางข้างต้นไม่ไหว ก็ต้องเลือกทางสุดท้ายคือยอมให้ GDP growth ลดลง ซึ่งเขาคำนวณคร่าวๆ คิดว่าจะเหลือปีละ 2-3% เป็นอย่างมาก ประเด็นคือเรื่องระยะเวลามี 2 แนวทาง

  • GDP growth ลดฮวบ = เรียกว่าวิกฤตเศรษฐกิจ (financial crisis)
  • GDP growth ลดช้าๆ = เรียกว่าทศวรรษที่สาบสูญ (lost decades)

Pettis บอกว่าวิธีแรก ยอมให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้นจะมีต้นทุนรวมน้อยกว่า แต่ต้นทุนระยะสั้นเยอะกว่า และจะเกิดผลกระทบทางสังคม-การเมืองอย่างมาก (ซึ่งรัฐบาลจีนจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น) และคาดว่าจีนจะเข้าสู่โหมดเติบโตช้าอันยาวนาน (very long period of low growth) แบบญี่ปุ่นมากกว่า