Photo: Markus Winkler / Pexels
ถัดจากเรื่อง China Debt Overhang ก็มีโอกาสได้อ่านบทความคล้ายๆ กันที่เขียนโดย Michael Pettis ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจจีน เขียนลงในเว็บ Carnegie Endowment for International Peace เมื่อเดือนเมษายน 2022 ว่าด้วย 5 ทางเลือกที่เศรษฐกิจจีนสามารถเลือกเดินไปได้ The Only Five Paths China’s Economy Can Follow
Pettis วิเคราะห์ปัญหาหนี้ของจีนว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ
- genuine growth การเติบโตแบบออร์แกนิก มาจากการบริโภค ส่งออก และการลงทุนของภาคธุรกิจ (ซึ่งมีขึ้นเพื่อตอบโจทย์การบริโภคและการส่งออก) เป็นการเติบโตที่ยั่งยืนกว่า
- inflated growth การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ไม่ยั่งยืน แต่มีขึ้นเพื่อเร่งตัวเลข GDP ตามเป้าหมายทางการเมืองของรัฐบาลกลาง
ตัวเลขเศรษฐกิจจีนในแต่ละช่วงอาจมีวิธีเติบโตที่ต่างกัน เช่น ในปี 2020 ช่วง COVID แทบไม่มีการบริโภคเลย ทำให้ genuine growth ติดลบด้วยซ้ำ และที่เหลือคือ inflated growth ทั้งหมด
แต่ในปี 2021 สถานการณ์กลับกัน เพราะตลาดส่งออกเติบโตแรง การบริโภคกลับมาเพิ่มอีกครั้ง การลงทุนภาคธุรกิจสูง ในอีกทาง รัฐบาลกลางก็บีบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาฯ ผลทำให้อัตราส่วน debt-to-GDP ของจีนไม่เพิ่มอีก
Pettis บอกว่าการลงทุนในอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ได้เป็นปัญหาเสมอไป หากลงทุนแล้วได้ผลประโยชน์เศรษฐกิจทางตรงและทางอ้อมกลับมาคุ้มค่าเม็ดเงินที่ลงทุนไป (GDP เพิ่มด้วย ทำให้ debt-to-GDP ไม่เพิ่มตาม) ซึ่งจีนเคยทำสำเร็จมาแล้วในช่วงทศวรรษ 1970-2000s ที่ลงทุนเยอะ เศรษฐกิจเติบโตเยอะตามไปด้วย
แต่ตอนนี้ จีนมาถึงจุดที่ลงทุนในอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐาน แล้วไม่มีประโยชน์คุ้มค่าอีกแล้ว เพิ่มหนี้ซะเปล่าๆ และสุดท้ายต้องตั้งหนี้สูญ (amortized) อยู่ดี
ดังนั้นถึงเวลาที่จีนต้องหาโมเดลการเติบโตแบบใหม่ (new growth model) ที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม เน้นฝั่งอุปสงค์ (demand-side) แทนการเติบโตด้วยฝั่งอุปทาน (supply-side) และเกลี่ยเรื่องความเหลื่อมล้ำของรายได้ (income redistribution) ให้มากขึ้น
สภาพเศรษฐกิจจีนเป็น high savings, high investment growth model คือมีเงินฝากในประเทศมาก และนำไปใช้ลงทุนมาก ซึ่งทางออกของประเทศลักษณะนี้มีด้วยกัน 5 วิถีทาง
- ไม่ทำอะไร สะสมหนี้ให้ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ
- ลดการเติบโตด้วยการลงทุนที่ไม่เกิดผลิตภาพ (nonproductive investment) ด้วยการหันไปลงทุนในเทคโนโลยีใหม่แทน
- ลดการเติบโตด้วยการลงทุนที่ไม่เกิดผลิตภาพ (nonproductive investment) แล้วไปเพิ่มการบริโภคแทน
- ลดการเติบโตด้วยการลงทุนที่ไม่เกิดผลิตภาพ (nonproductive investment) แล้วเติบโตจากดุลการค้าระหว่างประเทศ (trade surplus)
- ลดการเติบโตด้วยการลงทุนที่ไม่เกิดผลิตภาพ (nonproductive investment) แล้วไม่ทำอะไรเลย ซึ่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะลดลงมาก
Pettis บอกว่าเส้นทางแรกนั้นสบาย ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่ก็มีปัญหาตามมาเยอะ ซึ่งจะซ้ำรอยสหรัฐช่วงทศวรรษ 1920s (Great Depression) หรือญี่ปุ่นยุค 1970s-80s ที่กลายเป็นทศวรรษที่สาบสูญ สิ่งที่เป็นสัญญาณอันดีคือนักการเมืองในปักกิ่งยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่ไปในแนวทางนี้
ส่วนอีก 4 เส้นทางที่เหลือ จะต้องเจอกับความยากในเชิงระบบ (systemic difficulties) ที่แตกต่างกันไป จนทำให้ประเทศที่เจอสถานการณ์แบบเดียวกันจะเลือกทางสุดท้าย คือ ยอมให้อัตราการเติบโตลดลง
- ทางเลือกที่สอง เปลี่ยนมาลงทุนในเทคโนโลยีที่เกิดผลิตภาพ มีความยากตรงที่
- เซกเตอร์เทคโนโลยีมีสัดส่วนแค่ราว 10% ของ GDP จีนเท่านั้น ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานมีราว 30% และอสังหาริมทรัพย์มีราว 30% มันแทนกันทั้งหมดได้ยากมาก
- ไม่รู้จะลงทุนอะไรดี บริษัทเทคโนโลยีที่ดีพอมีจำนวนไม่เยอะพอ ไม่สามารถแทนการลงทุนแบบเก่าได้หมดเช่นกัน
- โครงสร้างเชิงสถาบันของจีน โดยเฉพาะทางการเมือง ออกแบบมาเพื่อการลงทุนแบบดั้งเดิม (โครงสร้าง+อสังหา) การเปลี่ยนแปลงสถาบันเหล่านี้เป็นเรื่องยากมากในทางปฏิบัติ
- ทางเลือกที่สาม เปลี่ยนมาเร่งการบริโภค การบริโภคภาคครัวเรือนจีนมีสัดส่วนราว 40% ของ GDP ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศอื่นที่มีราว 60% การขยับตัวเลขนี้ให้เพิ่มขึ้นจึงไม่ง่ายนัก
- คนชั้นกลางจีนมีรายได้ไม่มากนัก (เทียบกับขนาดเศรษฐกิจ) มีข้อจำกัดในการบริโภค แม้รัฐบาลจีนประกาศนโยบาย common prosperity เกลี่ยรายได้ไปสู่คนชั้นกลาง-ล่างมากขึ้น ก็ช่วยได้ไม่เยอะเท่าไร
- สัดส่วนของการลงทุนภาคธุรกิจจีน (business sector) ไม่ต่างอะไรจากประเทศอื่น ขยับได้ยากอยู่ดี
- ทางออกเดียวที่ทำได้คือ การลงทุนภาครัฐจีน โดยเฉพาะรัฐบาลท้องถิ่น ต้องย้ายไปสู่ภาคครัวเรือน ซึ่งจีนพยายามทำมาตั้งแต่ปี 2007 แล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะติดข้อจำกัดทางการเมืองด้วย
- ทางเลือกที่สี่ ชดเชยด้วยดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น (rising trade surplus) จีนมีดุลการค้าอยู่ราว 4-5% ของ GDP ซึ่งถือว่าใหญ่มากแล้ว (เกือบ 1% ของ GPD ประเทศอื่นๆ ในโลกรวมกัน)
- จีนต้องเพิ่ม trade surplus ให้ได้ปีละ 3 percentage point ทุกปี เพื่อทดแทนการลงทุนที่ไม่เกิดผลิตภาพในประเทศ
- ประเทศขนาดเล็กอาจทำได้ แต่ trade surplus จีนก็ขนาดใหญ่มากอยู่แล้ว การเพิ่มตัวเลขตรงนี้ไม่ง่าย แถมจะมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศด้วย เพราะเติบโตจากการเสียดุลการค้าของประเทศอื่น
Pettis บอกว่าหากจีนเดินบน 3 เส้นทางข้างต้นไม่ไหว ก็ต้องเลือกทางสุดท้ายคือยอมให้ GDP growth ลดลง ซึ่งเขาคำนวณคร่าวๆ คิดว่าจะเหลือปีละ 2-3% เป็นอย่างมาก ประเด็นคือเรื่องระยะเวลามี 2 แนวทาง
- GDP growth ลดฮวบ = เรียกว่าวิกฤตเศรษฐกิจ (financial crisis)
- GDP growth ลดช้าๆ = เรียกว่าทศวรรษที่สาบสูญ (lost decades)
Pettis บอกว่าวิธีแรก ยอมให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้นจะมีต้นทุนรวมน้อยกว่า แต่ต้นทุนระยะสั้นเยอะกว่า และจะเกิดผลกระทบทางสังคม-การเมืองอย่างมาก (ซึ่งรัฐบาลจีนจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น) และคาดว่าจีนจะเข้าสู่โหมดเติบโตช้าอันยาวนาน (very long period of low growth) แบบญี่ปุ่นมากกว่า