รู้สึกมาสักพักใหญ่ๆ แล้วว่า ในวงการนักวิชาการ นักคิด thinker ทั้งหลาย ช่วงหลังมันไม่ค่อยมีอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจสักเท่าไรนัก อันนี้เป็นทุกวงการ (แม้แต่ไอทีเอง แม้ว่าไอทียังมีของใหม่อยู่บ้าง) และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกด้วย
กลุ่มที่ลำบากที่สุดคงเป็นนักวิชาการสายรัฐศาสตร์การเมืองในไทย ที่เจอภาวะการเมืองย้อนยุค ไม่สามารถคิดหรือพูดอะไรที่ “ใหม่” ในสังคมไทยได้ (แม้ถือว่าค่อนข้างเก่าในสังคมโลกแล้วก็ตาม) แต่ถ้ามองในระดับโลกก็คงไม่ต่างกันนัก ภาวะ new normal ทำให้ทฤษฎีหรือความเชื่อหลายอย่างกลายเป็นสิ่งล้าสมัย ใช้งานไม่ค่อยได้กันแล้ว
ในภาวะที่สังคมเปลี่ยนเร็ว ถูกบีบจากทั้งฝั่ง technology disruption และความไม่แน่นอนจากภาวะการเมืองทั่วโลกเอง สภาพสังคมยุค 90s หรือ 2000s ที่เป็น pre-financial crisis แทบจะไม่หลงเหลืออยู่อีกแล้ว
คำถามคือเราจะเดินหน้าสู่อนาคตกันอย่างไร หากความรู้หลายๆ อย่างกลายเป็นสิ่งล้าสมัย
ถึงแม้ส่วนตัวผมจะไม่ค่อยชอบ Elon Musk มากนัก แต่คิดว่าวิธีคิดของเราเรื่อง First Principles หรือการถอดรื้อขนบหรือวิถีปฏิบัติแบบเดิมๆ ให้ลงมาอยู่ที่ “ความจริงพื้นฐาน” (fundamental truth) แล้วค่อยประกอบมันกลับขึ้นมาใหม่ ด้วยเทคโนโลยีหรือชุดเครื่องมือยุคใหม่ (รายละเอียด)
พอเป็นเรื่องเทคโนโลยี ที่ความจริงพื้นฐานคือกฎของฟิสิกส์ มันก็ไม่ยากเท่าไรนัก
แต่ถ้าเป็นเรื่องเชิงสังคมศาสตร์ ที่ความจริงพื้นฐานต้องเจาะลงไปให้ถึงส่วนลึกของจิตใจมนุษย์ (มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด) ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยากที่สุดน่าจะเป็นใจ (หรือสมอง) ของเราเอง ที่ต้องพยายามอย่ายึดติดกับความเคยชินแบบเดิมๆ และเผลอคิดไปเองว่ามันคือความจริงที่ยังใช้ได้อยู่ ทั้งที่มันอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว