สมัยเริ่มชีวิตการทำงานใหม่ๆ เคยมีโอกาสได้เข้าไปช่วยโครงการระบบสารสนเทศเกี่ยวกับภัยพิบัติ แม้ว่าปัจจุบันโครงการ inactive ไปนานแล้ว (ด้วยเหตุผลหลายประการ) แต่ก็ช่วยให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการภัยพิบัติในระดับหนึ่ง
โครงการนี้สืบเนื่องมาจากเจ้านายเก่าเข้าไปช่วยจัดการระบบไอทีช่วงเหตุการณ์สึนามิ และเห็นช่องว่างว่าต้องมีระบบไอทีสำหรับจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่ ถึงแม้ตัวผมเองจะไม่ได้มีประสบการณ์ตรงกับสึนามิ (ตอนนั้นยังเรียนไม่จบเลย) แต่การเข้าไปช่วยทำโครงการนี้ก็ทำให้มีความอินกับสึนามิบ้างเหมือนกัน
หลายปีถัดมา มีโอกาสไปงานแต่งญาติที่ จ.พังงา ได้ลัดเลาะเลียบชายฝั่งตั้งแต่เขาหลักไปจนถึงตะกั่วป่า ถึงแม้เวลาผ่านไปนานหลายปีแล้ว แต่การได้ลงพื้นที่จริงๆ ก็ช่วยให้เห็นภาพเหตุการณ์ในอดีตชัดเจนขึ้นมาบ้าง
ปี 2562 เป็นครบรอบ 15 ปีของเหตุการณ์สึนามิ ทำให้หลายคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาร่วมรำลึกความหลังและเล่าความทรงจำกัน บุคคลในสาย NGO ที่โดดเด่นในเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บ.ก.ลายจุด”
ส่วนตัวแล้วเคยทำงานกับพี่หนูหริ่งหรือ บ.ก.ลายจุด มาบ้างเล็กน้อย ถึงแม้ไม่ใช่เรื่องด้าน NGO โดยตรง (ส่วนใหญ่เป็นงานวิชาการ วงเสวนา) แต่ก็ประทับใจในความทุ่มเท จริงจัง และวิธีคิดที่พยายามแหกกรอบแบบเดิมๆ เพื่อผลลัพธ์ที่ practical ที่สุด ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดมากๆ
บทสัมภาษณ์พี่หนูหริ่งใน Way สะท้อนมุมมองของ “คนหน้างาน” ที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาสึนามิได้เป็นอย่างดี ในแง่ความทรงจำร่วมเป็นสิ่งที่ควรอ่านอยู่แล้ว (คงไม่มีใครที่มองเห็นทั้งภาพใหญ่และภาพเล็กได้ดีเท่านี้) และประเด็นเรื่องการบริหารจัดการช่วงภัยพิบัติ ที่ควรต่อยอดเป็นกลไกหรือนโยบายของภาครัฐ
จดบันทึกย่อหน้าที่สำคัญเอาไว้อ่านเตือนใจ
การจัดการของบริจาคและอาสาสมัคร
“หมอบัญชา (นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช) เคยเขียนบทความเรื่องนึงว่า มีคลื่นอยู่ 3 ลูก หนึ่ง คลื่นสึนามิ สอง คลื่นสิ่งของบริจาค …
“ของบริจาคนี่เยอะถึงขนาดที่ว่าเสื้อผ้ากองเป็นภูเขา สูงเท่ากับตึก 2-3 ชั้นได้ มีหลายกอง แล้วไม่มีใครเอาไปก็กลายเป็นที่อยู่ของยุง แล้วกองเสื้อผ้าเหล่านั้นก็อยู่ใกล้ๆ จุดสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว ปรากฏว่ายุงเยอะมาก กองเสื้อผ้านี้ก่อปัญหานะ ไม่รวมของบริจาคอื่นๆ อีกเต็มไปหมด บางอันใช้ได้ บางอันใช้ไม่ได้ ยกตัวอย่าง มีคนบริจาคนมกระป๋องเพราะเห็นว่ามีเด็กเล็กอยู่ด้วย ปรากฏว่ามีแค่นมกระป๋องแต่ไม่มีขวดนม บริจาคข้าวสารแต่ไม่มีหม้อหุงข้าว เป็นพื้นที่ขาดแคลนรุนแรงมาก ในพื้นที่ก็ไม่มีของอะไรขายเลย เนื่องจากร้านค้าต่างๆ พังหมด
“และ สาม คลื่นลูกสุดท้ายก็คืออาสาสมัคร มีหลายหมื่นคนที่ทะลักกันเข้ามา แล้วตอนนั้นไม่มีวิธีคิดเรื่องการจัดการอาสาสมัคร ทั้งๆ ที่เราคุ้นเคยกับการจัดการอาสาสมัครมากที่สุดเพราะเราเคยทำโครงการครูบ้านนอก เป็นวิธีการจัดการอาสาสมัคร แต่อันนั้นเรารับทีนึง 30 คน!”
พูดจบวินาทีนั้นเขาหัวเราะเสียงดัง เราเดาว่าหากย้อนไปวันนั้นคงน่าร้องไห้มากกว่า เพราะความคุ้นชินกับการจัดการในสเกลที่คิดว่ามากแล้ว กลับเทียบไม่ได้เลยกับสึนามิ
“เราไม่เคยรับมือกับคนหลายร้อยหลายพันคนที่เข้ามาพร้อมๆ กัน แล้วแต่ละคนก็มาด้วยภูมิหลังต่างกัน เงื่อนไขแตกต่างกัน บางคนมาได้ 2 วัน 3 วัน 5 วัน 1 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านั้น มันวุ่นวายมาก ต้องหาที่พัก จัดการอาหารการกิน ต้องเซ็ตระบบครั้งใหญ่เลย”
ประสบการณ์ในการจัดการภัยพิบัติ (ครั้งก่อน) ถือเป็นของมีค่า
“มันมีเหตุผลของมันจึงเกิดความโกลาหลแบบนั้น เพราะเป็นสถานการณ์ที่เราไม่เคยเจอ และมีสเกลใหญ่ ผมรู้สึกว่าตัวเองไร้ความสามารถเลยในช่วงเวลานั้น เพราะช่วงแรกแทบจะทำอะไรในพื้นที่ไม่ได้เลย ทำได้น้อยมาก ต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ๆ ถึงตั้งหลักได้ว่าต้องทำอย่างไร ในช่วงแรกรู้สึกเลยว่าตัวเองไม่มีความสามารถที่จะรับมือกับสเกลของภัยพิบัติได้” เขาย้ำ
“มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากการเกิดพายุเกย์ พอเกิดสึนามิ หมอและพยาบาลที่เคยเจอกับพายุเกย์มาแล้วพวกเขาเดินทางด่วนเลยเพื่อมาที่ตะกั่วป่า คือเขาบอกว่ามาช่วย แต่จริงๆ แล้วเขามาวางระบบแบบแทบจะยึดโรงพยาบาลตะกั่วป่าเลย เพราะเขาจินตนาการออกว่า โรงพยาบาลตะกั่วป่ากำลังจะเจอกับอะไร เนื่องจากเขาเคยเผชิญหน้าแล้ว
“การที่คนมีประสบการณ์มันมีราคามากเลย เขาจะสามารถทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดสามารถรับมือกับเรื่องยากๆ ได้ นี่เป็นเคสที่ผมโคตรประทับใจ แล้วมันสอนผมทันทีเลยว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แล้วถ้าเรามีประสบการณ์แบบนี้ เราต้องไป เพราะคุณรู้พฤติกรรมของภัยพิบัติ ส่วนคนที่ไม่เคยเจอจะรับมือได้ยาก”
กรณีของน้ำท่วมอีสาน 2562
การเข้าไปทำงานในพื้นที่ภัยพิบัติบ่อยครั้ง สมบัติ บุญงามอนงค์ มองเห็นนิสัยอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์ นั่นคืออาการตลาดวายหลังภัยพิบัติ พูดให้ชัดกว่านั้นคือ อาสาสมัครมีเวลาในการอยู่ในพื้นที่เพียงห้วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และเมื่อสถานการณ์ดูเหมือนจะคลี่คลาย คนที่มีเยอะในช่วงแรกก็จะหายไปด้วย แต่ภัยพิบัติไม่ได้จบแค่นั้น เพราะผู้ประสบภัยจำนวนมากยังรอการฟื้นฟู ทั้งชีวิต จิตใจ และความเป็นอยู่ เขาเข้าใจนิสัยและเงื่อนไขของเรื่องนี้ จึงเอามาปรับใช้กับเหตุการณ์น้ำท่วมอีสาน ปี 2562 จากขอนแก่น ถึงอุบลราชธานี งานที่เขาไปทำคือการเก็บกวาด ทำความสะอาดบ้าน รวมไปถึงสร้างบ้านหลังใหม่ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม
“น้ำไม่ได้ลดลงทันทีนะ มันลดลงเป็นช่วงๆ และต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์กว่าจะลดหมด ตอนผมไปถึงคนก็ยังวุ่นวายกับถุงยังชีพอยู่ ซึ่งก็ไม่ผิดนะ แต่ผมไม่สนใจเรื่องถุงยังชีพเลย ผมประเมินสถานการณ์หลังจากน้ำลดแล้วว่าคืออะไร ก็พยายามประสานกับคนที่ทำงานในพื้นที่ว่าต้องเตรียมรับมือกับงานฟื้นฟูได้แล้ว ซึ่งเป็นงานสเกลใหญ่ แต่พอถึงช่วงงานฟื้นฟู น้ำลด คนก็หายไปแล้ว หมดแรง ผมเข้าใจนะ มันหมดแรง