ประโยคหนึ่งที่เคยได้ยินมานานแล้วคือ คำบ่นในเชิงไม่พอใจว่า ทำไมเมืองไทยเมืองพุทธ ถึงไปรับเอาเทศกาลคริสต์มาสของศาสนาคริสต์มาเฉลิมฉลองด้วย
พอโตขึ้นหน่อย มีประสบการณ์ไปเห็นคริสต์มาสของประเทศอื่นๆ (ที่ไม่ใช่คริสต์ เช่น ญี่ปุ่น) ก็เริ่มเข้าใจว่า จริงๆ มันไม่ใช่การรับเอา “เทศกาลแบบคริสต์” มาใช้ แต่มันคือ “เทศกาลของทุนนิยม” ต่างหาก
โลกในปัจจุบันใช้ปฏิทินแบบ Gregorian calendar กันหมดแล้ว (ถือเป็น globalization แบบหนึ่ง) ซึ่งในช่วงสิ้นปี ชาวโลกยุคทุนนิยมนำหน้าย่อมต้องการเฉลิมฉลองเพื่อให้เกิดความรู้สึก festive แต่ก็ต้องหาข้ออ้างกันสักหน่อย ซึ่งช่วงปลายปีก็ดันมีเทศกาล “คริสต์มาส” นี่แหละที่จังหวะเข้ากันพอดี มันจึงถูกหยิบยืม (แบบสุภาพของคำว่าขโมย) มาตีความใหม่ reinterpret เป็นเทศกาลของโลกทุนนิยมแทน
หากว่าเมืองไทยมีเทศกาลดั้งเดิมอะไรสักอย่างช่วงปลายปี (เช่น สมมติว่าลอยกระทงมาลอยกันวันที่ 28 ธันวาคม) ก็คิดว่าคงไม่แคล้ว ถูกเอามายำใหญ่ผสมผสานเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองเช่นกัน
ล่าสุดเพิ่งเห็นมิวสิควิดีโอใหม่ของ Mariah Carey ในฐานะ Queen of Christmas Song ที่คัมแบ็คกลับมาอีกครั้ง จะเห็นว่าใน MV ตัวนี้ไม่เห็นมีอะไรที่เป็นศาสนาเลย ทุนนิยมล้วนๆ ไม่มีศรัทธามาเจือปน
แน่นอนว่าคนในประเทศที่นับถือคริสต์ยังมีธรรมเนียมคริสต์มาสแบบดั้งเดิมกันอยู่ (เช่น ตลาดคริสต์มาสในยุโรป) แต่การจะมีคริสต์มาสแบบตีความใหม่มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดแผกอะไรเช่นกัน และในมุมของผมแล้วก็คิดว่าไม่มีปัญหาใดๆ หากเรานับถือศาสนาอื่นแล้วจะมาเฉลิมฉลองกับ “คริสต์มาส” ด้วย ศาสนาไหนก็อยาก festive นั่นแหละ
เมื่อวันสองวันนี้ก็เห็นคนบ่นว่า คริสต์มาสยุคใหม่ที่แพร่กระจายไปยังภูมิภาคหรือชนชาติอื่นๆ (เช่น ผู้อพยพไปในโลกตะวันตก) ไม่เข้าใจมันถ่องแท้นัก เช่น ไม่รู้ว่าต้องกินอะไรวันไหน ไม่รู้ว่าต้องแกะของขวัญวันไหนจึงถูกธรรมเนียม ตรงนี้ผมก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายอีกเหมือนกัน ถ้าเรามองว่ามันคือเทศกาลที่หยิบยืมมาปรับเปลี่ยนเป็นของตัวเอง จะมี variation อีกกี่ร้อยแบบก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว