in Politics

Chinese Dream

เขียนไว้บน Facebook เมื่อ 6 ปีที่แล้ว (2013) ตอนไปงานสัมมนา Asia-Pacific Roundtable ที่มาเลเซีย วันนี้มันแจ้งเตือนขึ้นมา คิดว่าเป็นประเด็นที่ดีเลยนำมา repost ลงบล็อกอีกครั้ง (เคยโพสต์ไปแล้วครั้งหนึ่งในบล็อกอันเก่า)

มาอ่านอีกรอบเมื่อเวลาผ่านไป 6 ปี บริบทเปลี่ยนไปมากแล้ว ตอนนี้จีนคงลืมเรื่องอาหารไปเรียบร้อยแล้ว และมีความฝันใหม่เป็น “One Belt One Road” หรือ คืนฝันสู่ต้าหมิง แทนแล้วกระมัง


จับพลัดจับผลูได้มางานสัมมนาที่มาเลย์ งานชื่อ Asia-Pacific Roundtable เนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต และความมั่นคง (ไม่เกี่ยวอะไรกับผมสักนิดแต่ก็สนุกดีครับ เปิดโลกทรรศน์)

เผอิญว่าไม่ใช่สาขาที่ถนัดก็คงคอมเมนต์ประเด็นใหญ่ๆ ได้ยาก แต่ประเด็นที่น่าสนใจในงานและน่าบล็อกถึง เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Chinese Dream หรือ “ความฝันของจีน”

มาดาม Fu Ying เป็นสตรีผมสีดอกเลา มาดเนี้ยบ ภาษาอังกฤษดีเยี่ยมชนิดว่าหลับตาฟังอาจไม่รู้ว่าเป็นคนจีน ประวัติของเธอไม่ธรรมดา เคยเป็นเอกอัครราชทูตหลายประเทศ (และมีประเทศใหญ่อย่างอังกฤษ) ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศของสภาประชาชนจีน

ดูหน้าและแนวแล้ว ผมว่าเธอคงผ่านงานมาเยอะตั้งแต่สมัยคิสซิงเจอร์กับโจวเอินไหลแล้วกระมัง

หัวข้อของ Fu Ying ชื่อว่า “Deciphering the Chinese Dream and its implications for Asia” แปลภาษาไทยก็ได้แนวๆ ว่า “ถอดรหัสความฝันของจีน”

อ่านมาถึงตรงนี้คงงงว่า Chinese Dream มันคืออะไรวะ ผมก็งงเหมือนกัน

Fu Ying อธิบายว่า Chinese Dream เป็นความฝันของ “ชาติ” คือเป็นความใฝ่ฝันทั้งในระดับของคนจีน และรัฐบาลจีนร่วมกัน

ความฝันของคนจีนนั้นง่ายๆ ตรงไปตรงมาว่า “อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น” และพัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีนก็ตอบสนองความใฝ่ฝันอันนี้นั่นแล

เธอเล่าว่า เคยมีคนอังกฤษถามเธอที่งานโอลิมปิก 2008 ว่า “ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนคืออะไร”

คำตอบเรียบง่ายมาก แต่ทำยากมาก

ไม่ใช่ประเด็นอะไรซับซ้อนเลยครับ

“ทำอย่างไรจะมีอาหารพอเลี้ยงประชากรจีนทั้งประเทศได้”

ปัญหาเรื่องอาหารเป็นปัญหาใหญ่ของจีนมานาน ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ก็จะเห็นบางราชวงศ์ล่มลงไปเพราะ “กบฎชาวนา” ที่ลุกขึ้นมาสู้เพราะขาดแคลนอาหารนี่ล่ะ

Fu Ying บอกว่า การที่เห็นสภาพการขาดแคลนอาหารหายไป คนจีนมีอาหารพอกินเหลือเฟือภายใน “หนึ่งชั่วอายุคน” นั้นเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก

(ตอนนี้จีนเลยมีปัญหาว่าคนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่เคยผ่านปัญหาขาดแคลนอาหาร เป็นพวกกินทิ้งกินขว้างแทน)

แน่นอนว่า Fu Ying พูดในฐานะตัวแทนของรัฐจีน ย่อมต้องยกย่องรัฐในฐานะที่แก้ปัญหาเรื่องอาหารได้ (แต่ในความเป็นจริงก็มีความสำเร็จทางเศรษฐกิจในระดับยอมรับทั่วไปจริงๆ)

แต่สิ่งที่ผมประทับใจก็คือ “ความฝัน” ของชาติมันอาจไม่จำเป็นต้องสวยหรูหรือซับซ้อน เพียงแต่ต้องตอบโจทย์ในภาพรวมของชาติได้อย่างจริงจัง

“ความฝัน” แบบนี้เป็นจิตวิญญาณรวมหมู่ของคนในชาติ เป็น psyche ที่ฝังลึกลงในหัวสมอง และคอยผลักดันให้คนในชาติเดินหน้าไปยังทิศทางนั้นๆ โดยไม่ต้องบังคับ ชาติจะเจริญรุ่งเรืองไปในทิศทางไหน ก็อาจขึ้นกับ “ความฝัน” ลักษณะนี้ว่าจะกำหนดกรอบการคิดของคนได้อย่างไร

แล้ว “ความฝันของไทย” ล่ะคืออะไรกัน?