in Banking, Politics

Check and Balance

อ่านบทความล่าสุดของ ดร.โกร่ง ปีนี้ต่อจากปีกลาย : วีรพงษ์ รามางกูร พูดถึงปัญหาค่าเงินบาทแข็ง และบทบาทของแบงค์ชาติได้ดี

แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเจ้าเดิม ยังจะเป็นตัวขัดขวางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ความที่ยังให้คนที่ทำความเสียหายยับเยินเมื่อปี 2540 ยังคงมีบทบาทอย่างสูงในคณะกรรมการนโยบายการเงิน แม้ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงแต่นั่นก็สายเกินกาล และการไม่ยอมแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างเต็มที่ เป็นเหตุให้ค่าเงินบาทแข็งที่สุดในโลกในช่วงต้นปี 2562 ถึงปลายปี 2562 เป็นการทำลายความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอย่างเลือดเย็น

มีการทำนายกันว่า ถ้าขืนปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอ้าง “กรรมการนโยบายการเงิน” บังหน้า มีอำนาจอิสระ ไม่ขึ้นกับใครอยู่อย่างนี้ ประเทศไทยคงไม่พ้นต้องพบกับวิกฤตการณ์ค่าเงินแข็งในปี 2563 นี้อีก ถ้ายังไม่เปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่ถูกครอบโดยคนที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งจากการเอาทุนสำรองไปกู้กับปีศาจการเงิน ภาวะเศรษฐกิจซึมยาวคงหนีไม่พ้น

ปี 2563 นี้ ถ้ารัฐบาลจะทำคุณูปการกับบ้านเมือง ก็ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย กลับไปสู่ระบบให้มีการถ่วงดุลอำนาจกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามเดิม เลิกความคิดเอาอดีตนายธนาคารพาณิชย์มาเป็นรัฐมนตรีคลังเสีย เพราะงานนโยบายการเงินการคลังนั้นไม่เหมือนนโยบายบริหารธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งนายธนาคารพาณิชย์นั้นล้วนแล้วแต่เคยอยู่ใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะเลือกมาจากข้าราชการกระทรวงการคลัง เพราะมีวิสัยทัศน์กว้างขวางกว่า ส่วนพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยที่เคยเก่งในการเรียนหนังสือจนมี “ปมเด่น” แต่ไม่เคยทำงานในสนามจริง ทั้งในภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ

สังเกตจากการแสดงวิสัยทัศน์ก็ดี ปาฐกถาของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงถึงความ “ไม่รู้” โลกในความเป็นจริงของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือไม่รู้ “เศรษฐศาสตร์มหภาค” เพราะเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้เหมือน “เศรษฐศาสตร์จุลภาค” เวลาเรียนหนังสือก็พยายามหลีกเลี่ยงวิชานี้ ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือผู้วางนโยบายการเงินที่มีรากฐานมาจากวิชาบริหารธุรกิจ ไม่ใช่วิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคโดยตรง ถ้าสังเกตให้ดี ผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ล้วนแต่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนวิชาเศรษฐศาสตร์

สาเหตุพื้นฐานของระบบการเงินของบ้านเราก็คือ การปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระเกินไปจนไม่มีการถ่วงดุล หรือ check and balance ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับปัจจุบัน

เรามักพูดถึง “อิสระของธนาคารกลาง” จากอิทธิพลของฝ่ายการเมือง เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากนักการเมือง

แต่ในมุมกลับ เรากลับไม่เคยสนใจการตรวจสอบการทำงานของธนาคารกลาง ไม่มีระบบ check and balance มาคอยกำกับดูแลการทำงานของธนาคารกลางได้เลย จะดีหรือจะแย่ขึ้นกับบุญกรรม หรืออิทธิปาฏิหารย์ของผู้ว่าการธนาคารกลางเพียงอย่างเดียวหรือ

แนวคิด check and balance เป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะมันอยู่บนความคิดที่ว่าไม่มีใครสมบูรณ์ ทุกคนต้องตรวจสอบกันและกัน จึงนำมาซึ่งหลักการแบ่งแยกอำนาจ (separation of powers) ตามหลักของมองเตสกิเออร์ ที่มักพูดถึงอำนาจ 3 ด้านคือ นิติบัญญัติ (ออกกฎหมาย แต่ไม่มีสิทธิบังคับใช้กฎหมาย) บริหาร (บังคับใช้กฎหมาย แต่ไม่มีสิทธิออกกฎ) ศาล (ตัดสินหากมีเหตุขัดแย้ง โดยอิงกฎหมาย แต่ไม่มีสิทธิออกกฎหมาย)

ปกติแล้ว ตัวแทนฝ่ายบริหารมักมีอำนาจเสนอแต่งตั้งคนมาทำงานในตำแหน่งระดับสูง เช่น ประธานาธิบดีสหรัฐมีอำนาจเสนอผู้พิพากษาศาลสูง โดยต้องได้รับอนุมัติจากสภา (ผู้พิพากษาไม่มีสิทธิเสนอตัวเอง ประธานาธิบดีเสนอได้แต่ต้องให้สภาอนุมัติ สภาเสนอเองไม่ได้ อนุมัติได้อย่างเดียว)

เคสของผู้ว่าการธนาคารกลางก็คล้ายๆ กัน หลักการก็ควรจะเป็นแบบที่ ดร.โกร่ง ว่ามา คือต้องมีการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายการเงิน (ธนาคารแห่งประเทศไทย) และฝ่ายการคลัง (กระทรวงการคลัง) แต่ระบบในปัจจุบัน

  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่งตั้งโดยกษัตริย์ โดยมี “คำแนะนำ” ของคณะรัฐมนตรี
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นั่งควบตำแหน่งในบอร์ด ธปท. ด้วย
  • คณะรัฐมนตรีปลดผู้ว่าได้ ต่อเมื่อเป็นความผิดร้ายแรงหรือทุจริตในหน้าที่เท่านั้น (ไม่สามารถปลดได้ด้วยสาเหตุว่า ทำงานไม่ดีพอ)

แบบนี้มันก็ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะเราไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของ ธปท. ได้เลย