วันก่อนคุยเรื่องนี้กับมิตรสหายท่านหนึ่ง หาข้อมูลแล้วหาไม่เจอ ปรากฏว่าวันนี้ Facebook เตือนให้เห็นโพสต์เก่าปี 2018 ที่เคยเขียนเรื่องนี้ไว้พอดี คิดว่าคงได้ใช้อีกในอนาคต เลยนำมารีรันลงบล็อก
งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่มีอิทธิพลกับผมมากคือ งานของ Akira Suehiro ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้รู้ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่ดีที่สุด (แต่ตำแหน่งนี้ไม่ใช่คนไทย!!!)
ถ้าให้สรุปงานของ Suehiro ในภาพเดียว ก็ต้องเป็นภาพนี้ครับ Suehiro แบ่งกลุ่มธุรกิจในไทยออกเป็น 4 ประเภท ตามสภาพเจ้าของกิจการ
- Family-owned ธุรกิจครอบครัวเศรษฐีต่างๆ (สีชมพู)
- GLC (government-linked company) รัฐวิสาหกิจ (สีเหลือง)
- Mixture of local/MNC ธุรกิจลูกผสม ร่วมทุนระหว่างไทย-ต่างชาติ (สีส้ม)
- MNC (multi-national company) บริษัทข้ามชาติ (สีฟ้า)
แล้วแกก็วาดตาราง 2 แกน 4 quarter มาตรฐาน
- แกนตั้ง รูปแบบธุรกิจที่เน้นใช้ทรัพยากร (ซีกบน) หรือใช้เทคโนโลยี (ซีกล่าง)
- แกนนอน อุตสาหกรรมที่เปิดเสรี (ซ้าย) หรือผูกขาดด้วยกฎระเบียบ-คอนเนคชั่น (ขวา)
จะเห็นว่าธุรกิจของไทยกลุ่มครอบครัว จะอยู่ในแกนธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรเป็นหลัก ส่วนรัฐวิสาหกิจไทยจะอยู่ในฝั่งที่ต้องผูกขาด
ในขณะที่ธุรกิจที่อิงเทคโนโลยีชั้นสูง อยู่ในอุตสาหกรรมเปิดเสรี (เช่น ไอที รถยนต์) ล้วนแต่เป็นบริษัทข้ามชาติด้วยกันทั้งสิ้น
ถ้ามีภาพเดียวที่อธิบายสภาพเศรษฐกิจไทยได้ ก็ต้องเป็นภาพนี้แหละ