ในโลกยุคสมัยใหม่ที่ใช้ปฏิทิน Gregorian Calendar นับปีตามคริสตศักราช การเป็นคนไทยที่ใช้การนับปีตามพุทธศักราช ย่อมทำให้เรารู้ว่าโลกมีระบบนับปีปฏิทินที่แตกต่างกันไป
แต่นอกจาก ปี ค.ศ. และ พ.ศ. ที่คนไทยคุ้นเคยแล้ว โลกเรายังมีปฏิทินแบบอื่นๆ อย่างไรบ้าง?
It might seem like 2022 is about to end and 2023 will begin tomorrow, but that depends on which calendar you use: pic.twitter.com/9K782fc4w6
— The Cultural Tutor (@culturaltutor) December 31, 2022
ถ้าเอาเฉพาะปฏิทินที่มีตัวเลขเยอะๆ กว่าปี พ.ศ. มีดังนี้
Hebrew Calendar
Hebrew Calendar ปฏิทินของชาวยิว นับตามการสร้างโลกของศาสนาฮิบรู (พระเจ้าสร้างโลก สร้างอดัม) ใช้ชื่อเรียกว่า Anno Mundi (ตัวย่อ A.M. แปลว่า Year After Creation) ซึ่งจากการคำนวณของคนโบราณคือ 3760 ปีก่อนคริสตกาล (2023 A.D. = 5783 A.M.)
ปัจจุบัน Hebrew Calendar หรือ Jewish Calendar ถูกใช้เป็นระบบปีอย่างเป็นทางการของประเทศอิสราเอล
Byzantine Calendar
Byzantine Calendar ปฏิทินการสร้างโลกอีกเวอร์ชัน แต่เป็นของศาสนาคริสต์สายตะวันออก (โรมันตะวันออก-ไบแซนไทน์) ที่แยกมาจากโรมันตะวันตก (โรม) โดยเริ่มใช้เมื่อ ค.ศ. 988 ซึ่งโรมันตะวันตกล่มสลายไปนานแล้ว
ตัวพื้นฐานเหมือนกับปฏิทิน Gregorian Calendar คือนับวันเหมือนกันทั้งหมด แต่เริ่มขึ้นปีใหม่วันที่ 1 กันยายนแทน จุดต่างสำคัญคือแทนที่จะนับจากวันเกิดของพระเยซู ก็เปลี่ยนมานับจากวันสร้างโลกตามพระคัมภีร์เก่าแทน (ศักราช Annus Mundi เหมือนกับ Hebrew Calendar) แต่คำนวณปีต่างกัน กรณีของ Byzantine Calendar เริ่มนับเก่ากว่านั้นไปอีกคือ 5509 ปีก่อนคริสตกาล (2023 A.D. = 7531 A.M.)
ปฏิทิน Byzantine ถูกใช้ในอาณาจักรโรมันตะวันออกและรัสเซีย ระหว่างราวปี 700-1700 หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาใช้คริสตศักราชแทน
Kali Yuga
Kali Yuga หรือ กลียุค เป็นปฏิทินอินเดียตามระบบศาสนาฮินดู นับตามวันตายของพระกฤษณะ ที่ตายจากร่างมนุษย์แล้วกลับขึ้นสวรรค์ไปเป็นพระวิษณุ เท่ากับ 3102 ปีก่อนคริสตกาล (ตอนนี้คือปี 5124 ตามกลียุค)
ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู โลกแบ่งออกเป็น 4 ยุค (Yuga) แต่ละยุคกินเวลา 4,320,000 ปี และหมดยุคแล้ววนกันไปเรื่อยๆ โดยกลียุคถือเป็นยุคที่ 4 ของยุคทั้งหมด
Chinese Calendar
Chinese Calendar แม้ปัจจุบัน จีนแผ่นดินใหญ่ใช้ระบบ ค.ศ. ไปนานแล้ว และจีนในอดีตใช้วิธีนับปีตามยุคของฮ่องเต้แต่ละองค์ แต่ก็มีวิธีการคำนวณศักราชเป็นตัวเลขต่อเนื่องเช่นกัน โดยปฏิทินจีนเริ่มนับจากยุคของฮวงตี้ หรือจักรพรรดิเหลือง (Yellow Emperor) ปฐมกษัตริย์ตามตำนานปรัมปราจีน ตัวเลขปีที่คำนวณคือ 2697 ปีก่อนคริสตกาล แต่บางมณฑลบางพื้นที่ก็นับไม่เหมือนกัน
Holocene Calendar
Holocene Calendar หรือตัวย่อ HE เป็นปฏิทินยุคใหม่ที่คิดขึ้นในปี 1993 โดย Cesare Emiliani นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี หนึ่งในบิดาแห่งการตรวจวัดยุคใหม่ ที่ไม่ชอบความวุ่นวายของการแบ่ง AD/BC ของคริสตศักราช
เขาเลยเสนอว่าให้นับจุดเริ่มต้นของมนุษยชาติแทน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าคือเมื่อไร เอางี้แล้วกัน บวก 10,000 ไปจากคริสตศักราชเลย (1993 A.D. = 11993 H.E.) จะได้ใช้ปฏิทินแบบเดิมเลย คำนวณง่าย และแก้ปัญหาเรื่องการแบ่งปี AD/BC แต่แน่นอนว่าก็ไม่ได้รับความนิยม
สำหรับระบบศักราชแบบอื่นๆ ใน Wikipedia ก็รวบรวมเอาไว้ครบถ้วนดี เผื่อใครอยากอ่านเพิ่มเติม