อ่านข่าวเรื่องแผนการท่องเที่ยวของ จ.บุรีรัมย์ จากประชาชาติธุรกิจ มีประเด็นน่าสนใจหลายอย่าง
อย่างแรกคือเรื่องการเพิ่มรายได้ที่จับต้องได้ชัดเจน อันนี้ต้องปรบมือให้
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจังหวัดบุรีรัมย์มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก สะท้อนจากดัชนีชี้วัดรายได้ต่อหัวของประชากรในจังหวัดสูงขึ้น ซึ่งปี 2551 ประชากรมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 35,000 บาท/เดือน ขณะที่ปี 2561 อยู่ที่ 69,000 บาท/เดือน
อย่างถัดมา คิดว่าน่าสนใจมาก ที่ว่ารายได้จากอีเวนต์ที่เป็น man-made กลับได้ผลดีกว่ามรดกทางประวัติศาสตร์ซะอีก
ปี 2561 จังหวัดบุรีรัมย์มีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมากจากการจัดอีเวนต์ โดยเฉพาะเดือนตุลาคมที่มีการจัดงานโมโตจีพี 2018 ซึ่งนับเป็นช่วงไฮซีซั่นของบุรีรัมย์ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 3,000 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมชมมากกว่า 200,000 คน และมีการทำสัญญาจัดงาน 3 ปี หรือจนถึงปี 2563 ทำให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดพุ่งขึ้นสูง ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวหลักทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี เช่น ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ ไม่ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากนัก
ตรงนี้คิดว่าเป็นเพราะหลายสาเหตุ เช่น
- แหล่งท่องเที่ยวในประวัติศาสตร์ไทย (โดยเฉพาะภาคอีสาน) มันไม่ได้ว้าวขนาดนั้น ถ้าเทียบกับจังหวัดใกล้ๆ กัน พนมรุ้งอาจดูว้าว แต่ถ้าเอาไปเทียบกับระดับนครวัด มันก็สู้กันไม่ได้อย่างสิ้นเชิง
- แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ไทย มีความซ้ำซากสูง คืออยู่เดิมๆ ไม่ได้พัฒนาอะไรมากนัก (จากประสบการณ์ไปปราสาทพนมรุ้งรอบล่าสุดประมาณ 2-3 ปีก่อนหน้านี้)
- คนไทยเองก็ไม่ได้ชอบไปเที่ยวสถานที่เชิงประวัติศาสตร์นักหรอก ไปดูกองหินร้อนๆ กันทำไม สู้ไปเดินงานอีเวนต์สนุกๆ มีของอร่อยๆ ถ่ายรูปอวดเพื่อนได้สนุกกว่าเยอะ
มาถึงตรงนี้จึงไม่แปลกใจนักที่แผนการผลิตอีเวนต์ของ จ.บุรีรัมย์ เข้าเป้ากว่ามาก ก็ต้องนับถือในความเฉียบแหลมและการมองการณ์ไกลจริงๆ