in Knowledge

Bremen Drop Tower

เพิ่งรู้จักว่าโลกเรามีสิ่งนี้ Drop Tower หรือ Drop Tube เป็นหอคอยสูงที่เอาไว้ทดลองทางวิทยาศาสตร์ ปล่อยของให้ตกลงมาเพื่อจำลองภาวะไร้น้ำหนัก (Weightlessness บ้างก็เรียก Microgravity หรือ Zero Gravity) โดยไม่ต้องออกไปทำในอวกาศให้เปลือง

การทดลองในสภาวะไร้น้ำหนักมีในหลากหลายอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่คือสายวัสดุศาสตร์ ที่ต้องการรู้ว่าวัสดุที่ใช้จะมีคุณลักษณะอย่างไรในภาวะไร้น้ำหนัก สายพลังงานก็ลองมาจุดเชื้อเพลิงในสภาพไร้น้ำหนักได้เช่นกัน (รายชื่องานวิจัยที่เป็นไปได้)

หอคอย Drop Tower ที่มีชื่อเสียงอยู่ที่เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมนี มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Fallturm Bremen หรือ Bremen Drop Tower สร้างเสร็จเมื่อปี 1990 มีความสูง 146 เมตร (ใกล้เคียงกับตึกใบหยก 1 สูง 151 เมตร) ถ้านับเฉพาะตัวท่อทดลองสูง 120 เมตร

หากเรานำวัตถุมาปล่อยด้านบนของท่อ จะใช้เวลาประมาณ 4.7 วินาทีที่ตกลงมาสู่พื้น (ข้างล่างมีเม็ดโฟม polystyrene รองรับแรงกระแทก) ช่วงเวลา 4.74 วินาทีนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์จะเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของสิ่งที่เอามาหย่อน (เช่น ติดกล้อง slow-motion หรือมีเซ็นเซอร์ต่างๆ)

สิ่งที่เจ๋งของหอ Drop Tower แห่งนี้คือ ลำพังแค่ความสูง 122 เมตรก็เยอะอยู่แล้ว แต่บางครั้ง 4.74 วินาทีมันยังไม่พอ เมื่อปี 2004 ทีมนักวิทยาศาสตร์เลยประดิษฐ์ตัวดีด (Catapult) ที่ฐานหอเพื่อยิงวัตถุจากพื้นขึ้นสู่ด้านบนของหอคอย แล้วตกลงมาสู่พื้นด้วย (ดูในคลิป) ทำให้ได้ระยะทางไป-กลับเพิ่มขึ้น 2 เท่า และระยะเวลานานขึ้นเป็น 9.3 วินาที เพื่อทดสอบกันให้จุใจ

เพื่อให้ได้การตกที่เป็นธรรมชาติและสมบูรณ์ที่สุด อากาศในท่อจะถูกสูบออกจนหมดเพื่อไม่ให้มีแรงต้านอากาศด้วย แต่ตรงนี้กลับกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญ เพราะต้องใช้เวลาดูดอากาศนานหลายชั่วโมง ทำให้หอ Bremen Drop Tower สามารถทดลองตกแบบสูญญากาศวันละ 3 ครั้งเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพราะหอแบบนี้มีอยู่ไม่เยอะ

นอกจากนี้ การทดลองบางอย่างต้องทำซ้ำๆ บ่อยๆ ถ้าต้องรอดูดอากาศออก ทดลองได้แค่วันละ 3 ครั้ง (ยังไม่รวมรอคิวอีกมหาศาล) กว่าจะคืบหน้าก็ต้องใช้เวลานานมาก

ปัญหานี้ทำให้มหาวิทยาลัยเบรเมนประดิษฐ์เครื่องมือชิ้นใหม่ชื่อ GraviTower Bremen Pro (ตัวย่อ GTB Pro) แยกขาดจากกัน ใช้เทคนิคใหม่คือไม่ต้องดูดอากาศออกทั้งหมด แต่อัดอากาศลงไปที่ส่วนล่างของหอแทน ผลคือไม่ต้องเสียเวลาดูดอากาศ ทำการทดลองซ้ำได้บ่อยวันละเป็น 100 ครั้ง

ข้อเสียเดียวคือระยะเวลาปล่อยตกลดลงเหลือ 2.5 วินาทีเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์จึงเลือกได้ว่า จะเอาตกนาน หรือ จะเอาตกบ่อย

ปัจจุบันตัวหอ Bremen Drop Tower เปิดให้คนทั่วไปเยี่ยมชมได้ (อาจปิดบริการในช่วง Covid) และเปิดให้เช่าจัดพิธีแต่งงานได้ด้วย!