บริษัทเทคโนโลยีที่ผมรู้สึกว่าสนใจและน่าตื่นเต้นที่สุดในปี 2023 ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นบริษัท AI ตามกระแสนิยม แต่เป็นบริษัททำรถแทร็คเตอร์!
บริษัทนี้ชื่อว่า Monarch Tractor ทำรถแทร็คเตอร์ยุคใหม่ที่ 1) ขับเคลื่อนอัตโนมัติ 2) เป็นแทร็กเตอร์ไฟฟ้า 3) สามารถจ่ายไฟให้อุปกรณ์ทำฟาร์มอื่นๆ ที่อยู่กลางไร่นาได้ด้วย
ระบบเซ็นเซอร์ของ Monarch เอากล้องและเซ็นเซอร์ทุกอย่างไปไว้บนหลังคาของแทร็คเตอร์ ซึ่งตัวหลังคานี้สามารถถอดเปลี่ยนเพื่ออัพเกรดได้ง่ายด้วย (ใช้เคเบิล 2 เส้นคือข้อมูลกับจ่ายไฟ)
ในแง่ของการทำงานอัตโนมัติ ตัวรถแทร็คเตอร์ของ Monarch คงไม่ต่างอะไรจาก รถยนต์ไร้คนขับในอุตสาหกรรมอื่น (เช่น รถบรรทุกไร้คนขับ Aurora ที่เคยเขียนถึงไว้) แต่เนื่องจากมันถูกออกแบบมาสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรโดยเฉพาะ ก็มีฟีเจอร์เฉพาะทางแบบที่เราเห็นกันในอุปกรณ์สายโดรนการเกษตร เช่น การควบคุมอัตโนมัติโดยลากเส้นจากแผนที่ทางอากาศ กำหนดโปรแกรมให้แทร็คเตอร์ทำงานล่วงหน้า
ฟีเจอร์นี้ของ Monarch มีชื่อทางการค้าว่า Wingspan AI ตรงนี้คงไม่ต่างอะไรจากฟีเจอร์ควบคุมลักษณะเดียวกันตัวอื่นๆ เช่น สั่งงานได้จากแท็บเล็ต-สมาร์ทโฟน มีระบบแจ้งเตือน ตั้งเวลา รายงานสถิติ ฯลฯ โดย Monarch เก็บเงินค่าใช้งานแบบ subscription รายเดือน (แจ้งเตือน-เก็บสถิติอย่างเดียว $199/คัน/เดือน ถ้าเอาระบบอัตโนมัติด้วย $699/คัน/เดือน)
แทร็คเตอร์อัจฉริยะ ทำงานได้อัตโนมัติ ไม่ได้มีแค่ Monarch ทำอยู่เจ้าเดียว เพราะบริษัทแทร็คเตอร์รายใหญ่ของโลกอย่าง John Deere ก็ทำมาสักระยะหนึ่งแล้วเช่นกัน
คำถามคือสตาร์ตอัพอย่าง Monarch จะเอาอะไรไปสู้บริษัทระดับโลกอย่าง John Deere
คำตอบนี้อยู่ในบทสัมภาษณ์ Praveen Penmetsa ซีอีโอของ Monarch ที่ไปออกรายการกับ The Verge แล้วบอกว่าพวกเราคือ “Android of Agriculture”
คำอธิบายของ Penmetsa คือแทร็คเตอร์ของ John Deere เป็นระบบปิดเหมือน iPhone แต่ฝั่งของ Monarch นั้นมีทั้งการทำรถแทร็คเตอร์แบรนด์ตัวเอง ใช้แล้วครบจบในตัว (Google Pixel) และมีทั้งการเปิด API ตัวซอฟต์แวร์จัดการให้บริษัทอื่นใช้งาน (Google Play) รวมถึงการขายไลเซนส์ให้บริษัทแทร็คเตอร์อื่นนำไปใช้สร้างรถของตัวเองได้ด้วย (Android) ตอนนี้มีลูกค้าแล้วคือ CNH New Holland บริษัทแทร็คเตอร์อันดับสองของโลก (Samsung)
What we are doing at Monarch is we are licensing our technology out to all the tractor companies. One of our big partners, Case New Holland [CNH Industrial], is the world’s second-largest tractor company after John Deere. We have given our technology to them, so they sit on our data stack.
So we are basically becoming the Android of agriculture, and the whole ecosystem can access our data lake through our APIs and provide reports. We are very happy to share everything that comes off of our tractor with everybody in the food ecosystem, not just the farmer.
ต้องรอดูกันว่าโมเดลของ Monarch จะประสบความสำเร็จแค่ไหน แต่ถ้าเทียบกับตลาดอื่นๆ ในลักษณะคล้ายๆ กัน ก็มีตัวอย่างของการสร้างแพลตฟอร์มตัวเองใช้เองคนเดียว (เช่น Tesla) vs การสร้างแพลตฟอร์มกลางให้บริษัทอื่นๆ ที่ไม่มีความสามารถเยอะเท่า เข้ามาใช้งาน (เช่น Android Auto/Automotive)
ในแง่ความทนทาน ความเหมาะสมกับการใช้งานในฟาร์ม ความปลอดภัย ฯลฯ คงไม่ต้องพูดถึงมากนัก เพราะเป็น requirement ขั้นต่ำของรถแทร็คเตอร์อยู่แล้ว ตัวทีมผู้ก่อตั้ง Penmetsa เป็นวิศวเครื่องกลชาวอินเดีย เคยทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์มายาวนาน (MillenWorks บริษัทรถยนต์ที่มีจุดกำเนิดมาจากรถแข่ง) เคยทำงานออกแบบรถยนต์กับ DARPA และทำรถยนต์ไฟฟ้าไปลองใช้งานในอินเดียบ้านเกิด (ประวัติละเอียดในเว็บ Forbes)
เหตุผลที่ผมสนใจ Autonomous Tractor เป็นเรื่องเดียวกับที่ Monarch สนใจตลาดนี้ นั่นคือ มนุษยชาติกำลังประสบปัญหาแรงงานในการทำเกษตรไม่เพียงพอ และเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ก็ถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ทางออกเดียวในการแก้ปัญหานี้คือการสร้าง “เครื่องกลอัตโนมัติ” เข้ามาทำงานแทนทั้งคนและยา
Today, we only have 3 million tractors sold every year, and we have 2 billion-plus acres of cropland.
in the next 10 years, we’ll need a lot more of these machines if you’re going to stop using chemicals and do more operations on the farm. So this 3 million is going to grow. It’s already been growing for the last five, six years. This market is going to blow up.
เท่าที่ติดตามมาสักพัก ตัว product ของ Monarch ถือว่าค่อนข้างพร้อมแล้ว ที่เหลือคงเป็นการสเกลความสามารถในการผลิตรถแทร็ตเตอร์ให้มากพอกับความต้องการ, เพิ่มช่องทางการขาย-ซัพพอร์ตให้ครอบคลุม (ในบทสัมภาษณ์กับ The Verge บอกว่าต้องมีทีมส่งมอบหรือ deployment team เหมือนกับการขาย enterprise software เลยทีเดียว) และกดราคาของแทร็คเตอร์ลงมาให้ถูกพอ
ข้อมูลจากหน้าเว็บ Monarch ณ เดือนมกราคม 2024 รถแทร็คเตอร์รุ่นแรก MK-V กำลัง 40-70 แรงม้า มีราคาเริ่มต้นที่ 75,000 ดอลลาร์ (2.7 ล้านบาท) หากลูกค้าเป็นฟาร์มไวน์ในแคลิฟอร์เนียหรือยุโรป ก็คงมีเงินมากพอที่จะจ่ายได้
แต่ถ้าเทียบกับแทร็กเตอร์ที่ขายในท้องตลาดทั่วไป เช่น Kubota ในไทย รุ่น MU ที่แรงม้าใกล้ๆ กัน (49-57 แรงม้า) ราคาหน้าเว็บ 704,000 บาท ก็ยังห่างไกลกันประมาณ 4 เท่าตัว
และหากเทียบกับ Kubota รุ่นเล็กสุด 21-27 แรงม้า ราคา 243,000 บาท คือราคาห่างกันเป็นสิบเท่า ก็ต้องดูว่า Monarch จะสามารถกดราคาแทร็คเตอร์สมัยใหม่มาได้มากน้อยแค่ไหน ปัญหานี้ตัวซีอีโอเองก็รู้อยู่แก่ใจ เพราะเป็นคนอินเดียมาแต่กำเนิด และพยายามมองหาลู่ทางในการทำราคาให้ได้เหลือคันละ 10,000-15,000 ดอลลาร์ ซึ่งเขาบอกว่าต้องแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนแบตเตอรี่ลงให้ได้ก่อน