in Politics

ASEAN Core

ปรับปรุงจากโพสต์ต้นฉบับใน Facebook

ASEAN Core / SEA Core

จากกำแพงภาษี Trump ถึงเวลารวมแกน ASEAN

หมายเหตุ: จริงๆ คำที่ดีกว่า ตรงกว่า คือ Southeast Asia Core (SEA Core) แต่คำว่า SEA น่าจะเข้าใจยากสำหรับคนไทย เพื่อการสื่อสารในวงกว้าง ขอใช้คำว่า ASEAN Core

ผมคิดไอเดียเรื่องนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว และเคยหารือกับมิตรสหายบางท่านมาก่อนแล้ว แต่อาจเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่เหมาะสมนัก

ในโอกาสที่ Donald Trump นำเสนอภาษีนำเข้าสินค้าทั่วโลกอย่างจริงจัง สร้างแรงกระแทกอย่างหนักต่อวงการค้าโลก เลยคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะหยิบไอเดียนี้มานำเสนอ

หากเราดูชาร์ทของ Trump จะเห็นว่าประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ ล้วนเป็นประเทศแหล่งผลิตสินค้าในเอเชียตะวันออกนี่ล่ะ และแน่นอนว่าประเทศแหล่งผลิตสินค้าสำคัญในอาเซียนก็โดนกำแพงภาษีกันถ้วนหน้า

ในขณะที่จีน ยุโรป แคนาดา ขึ้นภาษีสู้กลับ แต่สิ่งที่ทุกประเทศแถบๆ อาเซียนทำเหมือนกัน (โดยมิได้นัดหมาย – บทวิเคราะห์ใน Bloomberg) คือเดินเส้นทางรอมชอม ยินดีเจรจา แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน (เวียดนามเร็วจัดนำไปก่อนแล้วเมื่อคืน)  และเราคงเดากันได้ไม่ยากว่าในอีกทาง ประเทศกลุ่มนี้ก็ต้องเร่งรีบมองหาตลาดใหม่ๆ เพื่อระบายสินค้าทางอื่นเช่นกัน

ผมคิดว่าในทางเศรษฐกิจ ภูมิภาคอาเซียนมีความพิเศษ แตกต่างจากประเทศใหญ่ๆ หรือภูมิภาคอื่นดังนี้

  • Supply = มีฐานการผลิต ซัพพลายเชน โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง สั่งสมมานานหลายสิบปี ถ้าจะเป็นรองคงมีแค่จีนเท่านั้น
  • Demand = ประชากรรวมกันเยอะ เกือบ 700 ล้านคน วัดไซส์แล้วเป็นรองแค่จีนกับอินเดีย แถมหลายๆ ประเทศเป็นประชากรวัยกำลังเติบโต มีอนาคตอีกไกล (ยกเว้นไทย )
  • Geopolitics = สงบ สันติ ไม่มีความขัดแย้งใหญ่กับใคร อาจมีประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้บ้าง แต่ก็ถือว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความขัดแย้งในยูเครน ตะวันออกกลาง หรือไต้หวัน-เอเชียตะวันออก

อาเซียนเป็นพื้นที่เดียวในโลกที่มีคุณสมบัติ 3 ข้อนี้ครบ

ถ้าใช้ประโยชน์ดีๆ จากปัจจัยทั้ง 3 ข้อนี้ได้ก็จะเทพมาก เพราะมีทั้งฝั่งการผลิต ฝั่งการบริโภค และเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากสงครามขนาดใหญ่

ปัญหาของอาเซียนคือมีของดีแล้วใช้ไม่คุ้ม ต่างคนต่างอยู่ไม่ค่อยยุ่งกันนัก (เคยมีคำพูดว่าคนที่เชื่อมอาเซียนได้เก่งที่สุดคือนายทุนญี่ปุ่น ไม่ใช่อาเซียนด้วยกันเอง)

ประเทศในอาเซียนวัฒนธรรมแตกต่างกันอย่างมาก ภาษาพูดแทบไม่เหมือนกันเลย 10 ประเทศ 10 ภาษา ศาสนาก็ไม่เหมือนกันสักเท่าไร แถมความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในระดับรัฐบาลก็ติดข้อจำกัดหลักการไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการคนอื่น (Principle of Non-interference) เราคงเห็นตรงกันว่าการรวมตัว ASEAN ภายใต้โครงสร้างแบบเดิม (ผ่าน ASEAN Secretariat) หยุดชะงักมานานหลายสิบปีแล้วไม่ไปไหน

ข้อเสนอของผมคือ ถ้ารวมพลังทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA Union) มันยากมากไป ก็เอาเฉพาะบางส่วนก่อน นั่นคือ รวมพลังแค่บางประเทศ และรวมพลังแค่บางเรื่อง การเมืองยากไปไม่ต้องสนใจ เอาแค่ภาคการผลิต-อุตสาหกรรมเท่านั้นพอ ประเทศไหนยังไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร มาตอนหลังได้เมื่อพร้อม

ถ้าลองดูการกระจายตัวของเขตอุตสาหกรรมสำคัญในอาเซียน จะเห็นว่าเอาจริงๆ มันกระจุกตัวอยู่ไม่กี่แห่ง และแต่ละแห่งเก่งในเซกเตอร์ที่แตกต่างกันด้วย เช่น ไทยมีรถยนต์ เวียดนามมีมือถือ มาเลเซียมีเซมิคอนดักเตอร์ ขอเรียกมันว่า ASEAN Manufacturing Core

ภาพคลัสเตอร์การผลิตรถยนต์ใน Southeast Asia จาก MEGATech

ช่วงก่อนหน้านี้ ประเทศเหล่านี้อาจแข่งขันกันเอง ช่วงชิงฐานการผลิตระหว่างกัน (ซึ่งในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราก็เห็นว่าไทยเริ่มแข่งแพ้) แต่โลกยุคหลัง Liberation Day มันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เราเจอเอเลี่ยนบุกเหมือนในหนัง Independence Day มันไม่มีทางอื่นเหลือแล้วนอกจากรวมพลังกัน

ผมคิดว่าสถานการณ์นี้มันคล้ายๆ กับ European Coal and Steel Community (ECSC) จุดเริ่มต้นของ EU ในทุกวันนี้ ที่เริ่มจากเซกเตอร์เหล็กและถ่านหินก่อน และมีประเทศเข้าร่วมเพียง 6 ประเทศในตอนแรก คือเยอรมนีตะวันตก ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก

กลุ่มสมาชิกก่อตั้ง 6 ประเทศของ ECSC ซึ่งกลายเป็นแกนหลักของ EU

ECSC เกิดจากยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป้าหมายหลักของมันคือเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ (จับฝรั่งเศสกับเยอรมนีมาร่วมมือเรื่องเศรษฐกิจกัน เพื่อไม่ให้เกิดสงครามอีก) จะเห็นว่าปัจจัยผลักดันมันต้องใหญ่มากพอที่จะให้ชาติพวกนี้ยอมมาจับมือกัน

หรือถ้าย้อนกลับไปดูจุดกำเนิดของ ASEAN เองก็เริ่มต้นด้วยสมาชิกก่อตั้งเพียงแค่ 5 ประเทศเช่นกัน เพียงแต่ตอนนี้ ASEAN มันไปถึงจุดที่ไปต่อจากเดิมไม่ได้แล้ว มันต้องมีปัจจัยอื่นที่หนักแน่นพอผลักดันให้ขยับไปต่อ

ผมคิดว่า Reciprocal Tariff ของ Trump คือปัจจัยภายนอกขนาดใหญ่อันนั้น ที่ใหญ่พอที่จะผลักดันให้ภาคการผลิตของอาเซียนรวมตัวกันได้

แต่ภาคการผลิตอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องมีภาคการบริโภค การทำมาค้าขายระหว่างกัน การเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟ ท่าเรือ ลอจิสติกส์ รวมไปถึงการเชื่อมต่อทางวัฒนธรรม (คงไม่มีใครคิดว่าการมีเพลงอาเซียนร่วมใจ แล้วทุกคนจะร่วมใจกันได้จริงๆ อยู่แล้ว) เพื่อพัฒนา ASEAN Manufacturing Core ไปสู่ ASEAN Economic Core

ว่ากันว่าคนที่ทำแผนเชื่อม ASEAN ได้เก่งที่สุดคือญี่ปุ่น แผนปี 2016 – source

แน่นอนว่ามีงานต้องทำอีกมาก มีความท้าทายอีกมหาศาล ทุกชาติที่จะมารวมกันย่อมต้องเสียผลประโยชน์ปัจจุบันบางส่วนไป (ระหว่างทางตีกันเละแน่นอน) แต่เราต้องแสดงให้เห็นว่าการรวมพลังกันมันจะได้ผลตอบแทนคืนมาเยอะกว่าในภาพรวม

แต่ไม่มีโอกาสไหนดีกว่านี้อีกแล้วในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ถ้าอยากให้ Liberation Day ของ Trump จะถูกจดจำในฐานะ Integration Day ของกลุ่ม ASEAN Core

เราต้องเริ่มทำกันตั้งแต่วันนี้เลย

หมายเหตุ: รูปต้นฉบับเป็นภาพถ่ายดาวเทียม Earth at Night / Black Marble ของ NASA ปี 2016