in Movies

Arcane Season 1

warning: สปอยล์เนื้อหาบางส่วนของซีรีส์

เป็นคนไม่เคยเล่นเกม League of Legends มาก่อนเลย (จริงๆ คือไม่เล่น MOBA ทุกเกม รวมถึงเกมออนไลน์ทุกเกมด้วย เพราะเป็นคนไม่มีเพื่อนนั่นเอง) แต่เห็นซีรีส์ Arcane ที่ดัดแปลงมาจาก LoL ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก (IGN ให้ 10/10, Metacritic user score 9.4) เลยทำให้สนใจ

พอลองหาข้อมูลดู พบว่าสามารถดูโดยไม่ต้องรู้จัก LoL มาก่อน บวกกับช่วงที่ผ่านมาพอมีเวลาว่างอยู่บ้าง เลยลองมานั่งดู

พบว่าดีสมคำร่ำลือจริงๆ

แถมพลังอิทธิพลจาก Arcane ทำให้เราสนใจไปตามอ่านเรื่องในจักรวาล Runeterra (โลกในเกม LoL) ต่อด้วย แม้จะไม่ถึงขั้นจูงใจให้ไปเล่นเกม LoL ก็ตามที

ตอนนี้ดูจบเรียบร้อยแล้ว (ซีซัน 1 จำนวน 9 ตอน) ย่อมได้เวลาเขียนถึง

เรื่องย่อของ Arcane

เนื้อเรื่องของ Arcane (ภาษาไทยแปลว่า อาถรรพ์ ซึ่งหมายถึงพลังเวทย์มนตร์ในเรื่อง) เป็นจักรวาลแฟนตาซีแนวๆ steampunk สีสันค่อนข้างสดใส ในความคิดแวบแรกผมนึกถึง Final Fantasy IX ผสมกับ Bioshock Infinite

เหตุการณ์ของภาคซีรีส์เกิดขึ้นก่อนภาคเกมเล็กน้อย เป็นการเล่าว่าตัวละครสำคัญๆ บางตัวในเกม LoL (ในเกมเรียกว่า แชมเปี้ยน มีถึงประมาณ 150 ตัว) มีที่มาที่ไป มี backstory อย่างไรบ้าง

สถานที่ในภาคซีรีส์เป็นนครรัฐ (city state) ที่เป็น 2 นครติดกัน อยู่คนละฝั่งแม่น้ำ ฝั่งเหนือคือ Piltover นครแห่งความก้าวหน้าทางวิทยาการ (“city of progress”) ส่วนฝั่งใต้เป็นสลัมชื่อ Zaun (อ่านว่า ซอน) ที่อยู่ใต้การปกครองของ Piltover

Piltover เมืองแห่งวิทยาการ เรือเหาะ เวทย์มนตร์

แกนเรื่องหลักของ Arcane เป็นการปะทะกันระหว่างสองนคร เป็นเรื่องเล่าคลาสสิก การต่อสู้ระหว่างคนรวยกับคนจน ชนชั้นที่รุ่มรวย ทรงอำนาจ มีชีวิตดีๆ สร้างงานค้นคว้าวิจัยเพื่อมนุษยชาติ กับคนจนที่ถูกทอดทิ้งและกดขี่ เป็นการปะทะกันระหว่าง “คนข้างบน” (ในเรื่องใช้คำว่า topsider) และ “คนข้างล่าง” (the undercity) พูดง่ายๆ คือเป็นสงครามชนชั้น (class war)

ทั้งหมดเล่าผ่านสายตาของตัวละครหลัก สองพี่น้องชาว Zaun คือ พี่สาว Vi (ย่อมาจาก Violet) และน้องสาว Powder ที่เข้าไปพัวพันกับการชิงอำนาจกันเองของมาเฟียใน Zaun ที่ขยายวงจนไปปะทะกับ Piltover ทำให้ทั้งสองคนต้องพลัดพรากจากกันไป และต้องมาปะทะกันอีกครั้งในขั้วที่ตรงข้ามกัน

Jinx และ Vi สองสาวตัวละครหลักของเรื่อง

ตัวละคร

ในฉากเปิดเรื่อง Vi และ Powder รวมถึงเพื่อนๆ เข้าไปขโมยของในอพาร์ทเมนต์ของนครฝั่งเหนือ Piltover แต่เกิดอุบัติเหตุทำให้สิ่งประดิษฐ์ในห้องระเบิดขึ้น ทำให้ตำรวจใน Piltover ตื่นตัว (ในเรื่องใช้คำเรียกตำรวจว่า enforcer) และกลายเป็นปัญหาการเมืองระหว่างนครเหนือและนครใต้

เหล่าผู้มีอำนาจใน Piltover กดดันให้ตามหาตัวคนร้ายให้ได้ หัวหน้าตำรวจของ Piltover จึงมากดดัน Vander พ่อบุญธรรมของ Vi/Powder ให้มอบตัวคนร้ายออกมา แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกสอดแทรกโดย Silco หัวหน้าแก๊งใต้ดิน ที่ผลิตยาสีม่วง Shimmer เป็นยาเสพติดกระตุ้นให้คนมีพลังเหนือมนุษย์ ซึ่ง Silco ก็มีความหลังกับ Vander มาก่อน และต้องการล้างแค้น

ในอีกด้าน เจ้าของห้องที่ Vi ไปขโมยของคือ นักประดิษฐ์หนุ่ม Jayce ที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าพลังคริสตัล Hextech ที่เปรียบเสมือนพลังงานเวทย์มนตร์ของเรื่องนี้ สิ่งประดิษฐ์ของ Jayce นั้นยิ่งใหญ่พอๆ กับการค้นพบดินปืนหรือเครื่องจักรไอน้ำ เพราะเป็นพลังงานประเภทใหม่ที่ขับเคลื่อนโลก ทำให้เขาก็ได้เข้าไปพัวพันกับชนชั้นปกครองของ Piltover ที่ใช้ระบบคณะมนตรี (council ที่มีสมาชิก 7 คน) จากชนชั้นสูงกลุ่มต่างๆ ของ Piltover

เนื้อเรื่องของ Arcane มีตัวละครค่อนข้างหลากหลาย โดยมีทั้งกลุ่มที่เป็นแชมเปี้ยนในเกม และตัวละครใหม่อื่นๆ อีกมาก

ถ้าให้สรุปสั้นๆ ตัวละครที่เป็นแชมเปี้ยนจากเกมทั้งหมด 8 คนคือ

  • ฝั่ง Piltover
    • Jayce ตัวเอกฝั่ง Piltover นักประดิษฐ์ผู้ล้ำหน้ายุคสมัย
    • Caitlyn ตำรวจสาว คุณหนูจากตระกูลไฮโซ
    • Heimerdinger หนึ่งในมนตรีผู้ปกครอง และอาจารย์ของ Jayce/Viktor
    • Viktor เพื่อนนักประดิษฐ์ของ Jayce ที่ร่างกายอ่อนแอ
  • ฝั่ง Zaun
    • Vi พี่สาวผู้แข็งแกร่ง แต่โดนโชคชะตากลั่นแกล้ง
    • Powder/Jinx น้องสาวผู้อ่อนไหว และมีปมในใจ
    • Ekko เพื่อนสมัยเด็กอีกคนของ Powder
    • Singed นักเคมีผู้สันโดษ อาจารย์อีกคนของ Viktor

จุดเด่นของ Arcane คือตัวละครทุกคนมีมิติมาก โดยเฉพาะตัวละครหลักของเรื่องนี้คือ Jinx ที่เป็นแกนกลางของเรื่องเลยก็ว่าได้ เราได้เห็นเบื้องหลังว่า Jinx มีปมตอนเด็กอย่างไร และเหตุการณ์ต่างๆ เข้ามาเปลี่ยนตัวเธอในมุมต่างๆ อย่างไร จนกลายเป็นตัวแปรสำคัญในความขัดแย้งระหว่างสองนคร

ตัวละครในเรื่องนี้มีมิติ การกระทำต่างๆ มีเหตุมีผลมีแรงจูงใจ ถ้าให้เลือกตัวละครที่ดูแบนๆ ไปหน่อยน่าจะเป็น Jayce ตัวเอกชายของเรื่องที่จับพลัดจับผลูได้ขึ้นมาเป็นผู้นำของ Piltover แบบงงๆ และการที่เขาอายุยังน้อย (อายุในตอนเปิดเรื่องคือ 24) แต่ต้องมาแบกรับภาระแห่งยุคสมัย ทำให้ช่วงหลังเขาสับสนและตัดสินใจทำอะไรแปลกๆ ไม่ค่อยสมเหตุสมผลไปบ้าง (เอาเข้าจริง ภัยคุกคามจาก Zaun ก็ไม่เยอะ แต่ Jayce ตระหนกไปเองเลยทำอะไรโอเวอร์เกินไปมาก)

ในเว็บ IGN มีการโหวตตัวละครที่ชอบใน Arcane โดยในบรรดา 5 ตัวละครหลัก Jinx มาอันดับหนึ่ง (ตามคาด) ในขณะที่ Jayce ได้ที่โหล่ (ตามคาด) ที่เซอร์ไพร์สคือ Viktor ติดอันดับสองเลยทีเดียว

ตัวละครที่ผมชอบมี 2 ตัวคือ Caitlyn ซึ่งเป็นลูกสาวของหนึ่งในคณะมนตรี แต่ต้องการพิสูจน์ตัวเองว่ามีความสามารถ โดยไม่ได้ใช้อิทธิพลของแม่ เลยมารับบทเป็นตำรวจที่จริงจังกับงาน ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้มาจับคู่ผจญภัยกับ Vi จนกลายเป็นอีกหนึ่งคู่จิ้นของเรื่องนี้ด้วย (Vi ชอบล้อ Caitlyn ว่าเป็น “ยัย cupcake” ก็น่ารักดี)

https://twitter.com/arcaneshow/status/1462189085133475847

อีกตัวที่ชอบคือ Mel Medarda มุขมนตรีสาวที่ชาญฉลาด และมองเห็นศักยภาพในตัว Jayce จึงคอยผลักดันเขาขึ้นมาเป็นบุคคลแถวหน้าของ Piltover

ช่วงหลังเรายังเห็น backstory ของเธอที่มีพื้นเพจากจักรวรรดิ Noxus และมีปมเรื่องแม่ของเธอที่เป็นหนึ่งในผู้ปกครองนคร Noxus ยิ่งทำให้มิติของตัวละครนี้ลึกเข้าไปกว่าเดิม

การดำเนินเรื่อง

ซีรีส์ซีซันแรกมีทั้งหมด 9 ตอน ใช้วิธีเล่าเรื่องเป็น 3 องค์ (Act) องค์ละ 3 ตอน ความยาวตอนละประมาณ 40 นาที โดย Netflix ใช้วิธีปล่อยออกมาทีละ 3 ตอน ค่อนข้างต่างจากซีรีส์แบบดั้งเดิมที่ปล่อยสัปดาห์ละตอน หรือโมเดลมาตรฐานของ Netflix ที่ปล่อยมาตูมเดียวทั้งซีซัน

วิธีการเล่าเรื่องแบบ 3 องค์ น่าสนใจตรงที่การหักมุมตอนท้ายของทุกๆ องค์ ทำให้น่าติดตาม เนื้อเรื่ององค์แรก (3 ตอนแรก) คือการปูชีวิตในวัยเด็กของ Vi/Powder ก่อนเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ทั้งสองคนพลัดพราก หลังจากนั้น องค์ที่สองเป็น timeskip จากองค์แรกที่ทุกคนในเรื่องเติบโตขึ้น (อย่างน้อยก็ 4-5 ปี) และต้องโคจรมาพบกันใหม่ ส่วนองค์ที่สามเป็นการขมวดปมทั้งหมด แต่ก็จบแบบสุดยอดแห่งความค้างคา (บางเว็บเรียก cliffhanger of cliffhanger) และคงอีกนานกว่าจะได้ดูซีซัน 2 กัน

ในแต่ละตอนเป็นการตัดสลับมุมมองของตัวละครสำคัญๆ ของแต่ละฝั่ง (ตามสไตล์ซีรีส์สมัยใหม่) โดยเป็นการเดินเรื่องในมุมของ Vi/Powder และ Jayce/Viktor/Caitlyn เป็นหลัก เนื้อเรื่องมีความลึก แต่ก็เล่าด้วยวิธีการค่อนข้างตรงไปตรงมา เข้าถึงง่ายไม่ต้องตีความอะไรเยอะมากมายนัก

บทสนทนาในเรื่องเขียนมาได้คมคาย น่าจดจำหลายอัน ที่ชอบคือฉากย้อนอดีตตอนที่ Mel ยังอยู่ใน Noxus แล้วถามแม่ของเธอ (ซึ่งเป็นผู้ยึดอำนาจ โค่นราชวงศ์เก่า) ว่าจะยกบัลลังก์ให้เธองั้นเหรอ คำตอบก็คือ ยกโลกทั้งใบให้ก็ได้ ถ้าเธอพิสูจน์ตัวเองว่ามีความสามารถมากพอ

World Building

จักรวาลของ Arcane ซีซันแรก ยังโฟกัสเฉพาะความขัดแย้งใน Piltover/Zaun ผ่านตัวละครหลักๆ ที่เป็นมนุษย์แทบทั้งหมด (ยกเว้น Heimerdinger ซึ่งเป็นเผ่าคนตัวเล็กที่เรียกว่า Yordle)

แต่จริงๆ แล้ว โลกของ Runeterra ยังมีภูมิภาคอื่นๆ อีกมาก (ซึ่ง Riot Games ทำแผนที่โลกเตรียมไว้ให้สวยงาม)

ถ้าให้เล่าคร่าวๆ โลกของ Runeterra แบ่งออกเป็น 2 ทวีปหลักคือ ทวีปเหนือที่เรียกว่า Valoran และทวีปใต้ที่เรียกว่า Shurima

ทวีปทั้งสองแห่งมีจุดเชื่อมกันที่บริเวณ Piltover และ Zaun เท่านั้น ทำให้สถานะของ Piltover/Zaun ไม่ได้เป็นแค่สองนครที่อยู่ตรงข้ามแม่น้ำกัน แต่เป็นจุดแบ่งของทวีปเหนือใต้ด้วย (ยังกับอิสตันบูลในโลกจริง)

การที่ Piltover ครอบครองเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอย่าง Hextech ย่อมทำให้ Piltover กลายเป็นศูนย์กลางแห่งความขัดแย้งของโลก ช่วงปลายซีซันแรก เราจึงเห็น Ambessa Medarda แม่ของ Mel ที่เดินทางมาจากจักรวรรดิ Noxus ทางตอนเหนือ เพื่อเข้ามาครอบครองเทคโนโลยี Hextech ไปใช้ในการทหาร รับมือกับศัตรูของเธอใน Noxus อีกเช่นกัน เรื่องตรงนี้น่าจะขยายต่อไปในซีซัน 2 (เว็บ Polygon ถึงกับมีบทความคาดเดาว่าซีซัน 2 จะมีภูมิภาคใดมาเอี่ยว)

ช่วงนี้ Riot Games ยังออกเกมใหม่ชื่อ Ruined King ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอีกภูมิภาคคือ หมู่เกาะโจรสลัด Bilgewater และเกาะลี้ลับ Shadow Isles โดยใช้ตัวละครแชมเปี้ยนอีกชุดที่อยู่ในภูมิภาคนั้นด้วย

Riot Games ลงทุนกับการสร้าง lore ของเกมมายาวนาน ทำให้เรื่องเล่าและตำนานต่างๆ ค่อนข้างรุ่มรวย หยิบจับมาใช้ในเกมได้มาก แต่ก็ต้องชื่นชมทีมผู้สร้าง โดยเฉพาะคนเขียนบทและคุมธีมของเรื่อง ที่ทำออกมาได้ดีมากๆ

งานภาพ

Arcane ใช้งานภาพแบบ 3D ผสม 2D ทำให้งานภาพเป็นเอกลักษณ์มากๆ ไม่เหมือนใคร เห็นแล้วจดจำได้ งานภาพเป็นผลงานของสตูดิโอ Fortiche Productions ในฝรั่งเศส ที่เป็นมือทำแอนิเมชั่นคู่บุญ LoL มายาวนาน มองตาแล้วรู้ใจ แต่ผลงานเรื่องภาพใน Arcane ก็ต้องบอกว่ายกระดับไปอีกขั้น

การที่ซีซันแรกมีเพียง 9 ตอน ทำให้ผู้สร้าง (ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Riot, Fortiche) สามารถลงทุนเรื่องงานภาพได้มาก ไม่ใช่เฉพาะแค่การวาด แต่การออกแบบฉากต่อสู้ มุมกล้อง สีและสัญลักษณ์ ยังสัมผัสได้ชัดถึงคุณภาพและความตั้งใจในการเล่าเรื่องด้วยภาพ ที่พิเศษไปกว่าแอนิเมชันทั่วไป

ที่ผมชอบคือการออกแบบฉากต่อสู้ (มันเป็นซีรีส์แอคชั่นนี่เนอะ) ให้ดูเหมือนเป็นตัวแทนของสองนคร ผ่านคู่สีสองสีคือ ฟ้า (hextech ของ Piltover) และม่วง (Shimmer ของ Zaun) เมื่อใดที่สองเทคโนโลยีต้องมาปะทะกัน (โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ) ก็ทำให้เราเห็นการปะทะกันระหว่างสองคู่สีนี้ชัดเจนขึ้น

เพลงและดนตรีประกอบ

Riot Games เป็นค่ายเกมที่ลงทุนเรื่องเพลงอย่างมาก โปรดิวเซอร์ของ Arcane มีทั้งหมด 4 คน โดย Marc Merrill กับ Brandon Beck เป็นสองผู้ก่อตั้ง Riot Games จึงมีชื่อโดยปริยายอยู่แล้ว แต่คนดูแลหลักของซีรีส์อีก 2 คนคือ Christian Linke เป็นคนทำเพลงในเกม LoL ด้วย (อีกคนคือ Alex Yee เป็นคนเขียนบทและการเล่าเรื่องในเกม) จึงไม่แปลกใจที่ Arcane จะโดดเด่นทั้งเรื่องเล่าและเพลง

เรื่องเพลงประกอบหลักเคยเขียนไปแล้วในตอน Everybody Wants to Be My Enemy แต่ในเรื่องก็ยังมีการใช้เพลงอื่นๆ ประกอบการเล่าเรื่องบ้าง เช่น ฉากละครเพลงที่บรรดามุขมนตรีในเรื่องไปรับชมที่โรงละคร

นอกจากนี้ คนพากย์เสียงตัวละครก็ทำได้ดี (ผมดูพากย์ภาษาอังกฤษ) โดยเฉพาะ Ella Purnell ที่พากย์เสียง Jinx ซึ่งตามบทแล้วยากมากๆ แต่ก็ทำได้ดี และได้รับคำชมมากมาย

บทสรุป

Arcane ถือเป็นหนึ่งในซีรีส์แอนิเมชันที่ดีที่สุดเท่าที่เคยดูมา (หวังว่าซีซันต่อๆ ไปคุณภาพจะไม่ดร็อป) ทำออกมาดีทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ตัวละครที่น่าจดจำ รายละเอียดของโลกในเรื่องที่น่าเชื่อถือ บทละครที่เขียนมาลงตัว งานภาพที่สวยงาม โดดเด่นมีเอกลักษณ์ เสียงประกอบ-ดนตรีที่สอดแทรกมาได้ดี ฯลฯ (แต่สิ่งที่ต้องชมที่สุดก็คือบท ถ้าบทไม่ดีแล้ว อย่างอื่นจะดีแค่ไหน ภาพรวมมันก็ห่วย)

เว็บไซต์ IGN บอกว่านี่คือตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่า หนังที่ดัดแปลงจากเกมไม่จำเป็นต้องห่วยเสมอไป (this League of Legends adaptation puts the final nail in the coffin of the “video game adaptation curse”) และให้คะแนนรีวิว 10/10 ระดับ Masterpiece