ได้รับคำถามที่น่าสนใจ (แต่ดันตอบไม่ได้) ว่าทำไมเราต้องใช้ “เลขอารบิก” เลยต้องไปค้นข้อมูลเพิ่ม และพบว่า
- ปัจจุบันเราเรียกมันว่า “เลขอารบิก” (Arabic numerals) แต่จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นในอินเดียก่อนต่างหาก ชื่ออย่างเป็นทางการในทางวิชาการจึงเรียกว่า Hindu-Arabic numerals
- คุณลักษณะสำคัญของ “เลขฮินดู-อารบิก” คือมีคอนเซปต์ของเลขศูนย์ (0) ซึ่งไม่มีในระบบเลขของโรมัน
- หลังจากนั้นก็ตามชื่อ คือ เลขฮินดูอารบิกก็แพร่หลายเข้ามายังโลกอาหรับ และขยายตัวตามศาสนาอิสลาม มายังแอฟริกาเหนือ
- จุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆ ที่โลกตะวันตกหันมาใช้เลขอารบิก มาจากนักคณิตศาสตร์ชื่อดังชาวอิตาเลียน Fibonacci (คนเดียวกับที่ทำอนุกรมฟิโบนัคคีนี่แหละ) ในวัยเยาว์ ติดตามพ่อไปทำงานที่แอลจีเรีย และค้นพบระบบเลขอารบิกที่เหนือกว่าเลขโรมันที่ยุโรปใช้กัน
- หนังสือของ Fibonacci ที่เขียนในปี 1202 จึงใช้เลขอารบิก เมื่อบวกกับเทคโนโลยีการพิมพ์ของยุโรปที่ก้าวหน้าขึ้นในยุคหลัง ทำให้ยุโรปหันมาใช้เลขอารบิกแทนเลขโรมัน ในระยะเวลาอีกประมาณ 300 ปีให้หลัง
- แน่นอนว่า วิธีการเขียนเลขฮินดู-อารบิกในยุคแรกๆ แตกต่างจากเลขอารบิกในยุคหลังอย่างมากแล้ว (ดูภาพประกอบ) แต่เราก็ยังเห็นร่องรอยบางอย่างในวิธีการเขียนอยู่ เช่น เลข 2-3 ที่ยังคล้ายของเดิมมาก หรือเลข 6-7-9 ที่ยังพอมีเค้าของเดิมอยู่
ประวัติศาสตร์ของเลขอารบิกยังอธิบายกำเนิดของระบบเลขไทย เขมร และลาว ได้ด้วย เพราะสืบเนื่องมาจากระบบเลขแบบฮินดูเหมือนกัน (แค่เดินทางไปคนละฝั่งทวีป) แล้วกลายพันธุ์ไปอีกทาง (ตัวเลขเขมรโบราณพัฒนาตามอักษรแบบเทวนาครี Devanagari ที่ใช้เขียนภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของฮินดู-อารบิก)
ปัจจุบัน เรายังเห็นร่องรอยของการนับแบบฮินดี-สันสฤตอยู่มากในภาษาไทย เช่น คำว่า ศูนย์-สุญ หรือ เอก-โท-ตรี เป็นต้น
ในภาพรวมแล้ว ระบบเลขในโลกแบ่งออกเป็นตระกูลใหญ่ๆ คือ
- ฮินดู-อารบิก: ยุโรป ตะวันออกกลาง อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- เอเชียตะวันออก: จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม
- เลขที่เป็นตัวอักษร: กรีก โรมัน ฮิบรู (ยุโรปก่อนได้อิทธิพลเลขอารบิก)
- อื่นๆ: ระบบเลขโบราณที่ไม่มีใครใช้แล้วในปัจจุบัน เช่น อียิปต์ บาบีโลน หรือในอเมริกาอย่าง มายัน แอซเท็ค
ภาพประกอบจาก Wikipedia