in Politics

ความเป็นกลางทางการเมือง มีจริงหรือไม่

เมื่อไม่นานมานี้ มีมิตรสหายที่สนิทกันสอบถามมาว่า “คนเราเป็นกลางทางการเมืองได้หรือไม่ แบบไม่เข้าข้างใคร” โดยออกตัวว่าเป็นคำถามแบบโง่ๆ สำหรับคนที่ไม่รู้อะไรเลย

ผมคิดว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ดีมาก และไม่เคยถูกถกเถียงหรือพยายามตอบคำถามอย่างเป็นวิชาการ (แต่อธิบายแบบคนทั่วไป) ในสังคมไทยสักเท่าไรนัก ความน่าสนใจนี้ทำให้ลองพยายามตอบดู อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องตามวิชาการรัฐศาสตร์มากนัก

1)

ในทางทฤษฎีการเมือง มี 2 แนวคิดหลักๆ ที่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว อย่างแรกคือ political spectrum ที่มองว่า “จุดยืนทางการเมือง” ของแต่ละคนสามารถวาดออกมาได้เป็นแกน (ซึ่งอาจมีหลายแกน) และวิธีการเลือกแกนอาจแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละสังคม (เช่น ขวาไทย กับ ขวาอเมริกา ก็คนละเรื่องคนละแนวคิดกันเลย)

หลายคนอาจเคยเห็นเว็บแนวๆ Political Compass มันก็พัฒนามาจากแนวคิดเหล่านี้ คือ เราต้องอยู่ตรงจุดไหนบางจุดไหนแผนที่เนี่ยแหละ

2)

อย่างที่สองคือคำว่า partisan ซึ่งหมายถึงการเอนเอียงหรือสนับสนุนไปยังพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง (ซึ่งในบริบทของหลายประเทศ ไม่จำเป็นต้องมีแค่ 2 พรรคเสมอไป) ในบางกรณี เราอาจเห็นคำว่า nonpartisan ที่ไม่ได้เข้าข้างพรรคใดพรรคหนึ่งชัดเจน หรือ bipartisan ที่สองพรรคใหญ่เห็นชอบร่วมกันในบางเรื่อง (ส่วนใหญ่ใช้ในบริบทของอเมริกา)

3)

นอกจากทฤษฎีข้างต้นแล้ว ผมคิดว่าการที่ระบบการเมืองของโลกที่แม้ว่าเปิดให้มีหลายพรรคการเมือง เพื่อตอบสนองแนวคิดที่หลากหลาย แต่ด้วยระบบการเมืองแบบ “รัฐบาล-ฝ่ายค้าน” ทำให้สุดท้ายแล้ว พรรคการเมืองจะเข้ามารวมกลุ่มกันเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านอยู่ดี ทำให้มันไม่มีพื้นที่สำหรับคนกลางๆ ในท้ายที่สุด (เพียงแต่ความเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล มันจะลื่นไหลและมีพลวัตร ไม่ตายตัว)

ตัวอย่างคือ ในระบบที่มีพรรคการเมืองให้เลือกเป็นสิบๆ พรรค เราอาจไม่สนใจประเด็นใหญ่ๆ อย่างประชาธิปไตยได้ด้วยซ้ำ แต่เราอาจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งเพราะมีนโยบายที่ตรงกับจริตของเราเพียงอย่างเดียว เช่น ชอบกัญชาเลยเลือกพรรค A

แต่เมื่อพรรค A ถูกบีบให้ต้องเลือกเข้าข้างรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน การชอบกัญชาของเรา (ที่ดูจะเป็นกลางในทางการเมืองเชิงอุดมการณ์) ก็จะกลายเป็นการเลือกข้าง (partisan) อยู่ดี

หมายเหตุ: เลือกภาพประกอบรัฐสภาอังกฤษ ที่แบ่งเป็นสองฝั่งชัดเจน เห็นภาพดี ภาพจาก UK Parliament

4)

ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว การอยู่เฉยๆ หรือไม่แสดงความเห็นใดๆ ก็ถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองอยู่ดี เพราะย่อมมีคนได้ประโยชน์ (ทางการเมือง) จากการที่เราไม่แสดงความเห็น ไม่ไปออกเสียงเลือกตั้ง หรือไปกาช่องไม่เลือกพรรคใด เพียงแต่ใครจะได้ประโยชน์นั้นขึ้นกับบริบท

ตัวอย่างแบบเล็กๆ คือ ในชั้นเรียนที่มีนักเรียน 20 คน มาลงคะแนนเลือกหัวหน้าห้องกัน นาย A ได้ 10 คะแนน ในขณะที่นาย B ได้ 9 คะแนน ถ้าเราบอกว่า “ต้องการเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด” ด้วยการไม่ลงคะแนนให้ใคร กรณีแบบนี้นาย A ก็จะได้ประโยชน์ และผู้สนับสนุนนาย B ก็คงเกลียดเราเพราะทำให้แพ้เลือกตั้ง กลายเป็นเราถูกผลักให้เป็นพวกของนาย A แม้ไม่ได้ออกตัวสนับสนุนนาย A ก็ตาม

5)

ต่อเนื่องจากข้อที่แล้วเช่นกัน บังเอิญว่าผมไปเห็นแฟนเพจของคุณธนาธร แชร์วิดีโอเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ที่คุณธนาธรได้มีโอกาสเข้าสภาเป็นเวลาสั้นๆ ไม่กี่นาที ก่อนต้องเดินออกเพราะคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ตอนที่ดูครั้งแรกไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอได้รับคำถามเรื่อง “ความเป็นกลางทางการเมือง” แล้วได้มาดูซ้ำ ก็พบว่าเป็นคลิปที่ดีมากในการสอนเรื่องนี้

เหตุการณ์ในคลิปจะเห็นว่า ขั้วการเมืองแต่ละฝ่ายสลับกันมีช่วงที่นั่งและนิ่งเงียบ ช่วงที่ธนาธรยืนขึ้นพูด ส.ส. ฝ่ายค้าน (ในปัจจุบัน) นิ่งเงียบในขณะที่อีกฝ่ายลุกฮือประท้วง แต่จังหวะที่ธนาธรขอออกจากห้องประชุม กลายเป็น ส.ส. ฝ่ายค้านลุกขึ้นปรบมือ และอีกฝ่ายนั่งเงียบแทน

สิ่งที่คลิปนี้สะท้อนให้เห็นคือ “การนั่งเงียบ” ของแต่ละฝ่ายก็มีความหมายในเชิงการเมือง (ซึ่งในกรณีนี้ถูก dramatized ให้เร้าใจเป็นพิเศษโดยไม่ได้ตั้งใจ) และไม่ได้แปลว่าการอยู่เงียบๆ แปลว่าเป็นกลางเสมอไป

6)

กล่าวโดยสรุป ผมคิดว่า

  • ความเป็นกลางทางการเมืองไม่มีจริง เพราะแนวคิดหรือความเชื่อของเรา ย่อมไปเข้าทางหรือสนับสนุนใครบางคนเสมอ (แม้ว่าเราอาจไม่รู้ตัวก็ตาม)
  • แต่ความเชื่อทางการเมืองไม่จำเป็นต้องมีแค่ 2 ขั้ว และไม่จำเป็นต้องมีแต่เรื่องใหญ่ๆ ระดับประเทศ การโหวตว่านิติหมู่บ้านควรจะปิดฟิตเนสในช่วง COVID หรือไม่ รถมอเตอร์ไซค์ลงอุโมงค์ถูกกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นการ “เลือกข้าง” ทางการเมืองแบบหนึ่ง
  • สิ่งที่เราควรทำไม่ใช่แสดงตัวว่า “เป็นกลางทางการเมือง” เพราะมันไม่มีอยู่จริง แต่ควรประกาศตัวให้ชัดว่าสนับสนุนแนวคิดอะไร ด้วยเหตุผลอะไรอย่างตรงไปตรงมามากกว่า