ออกตัวว่าไม่ได้ถึงขั้นเป็นแฟนพันธุ์แท้ของคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ถ้าย้อนไปตั้งแต่ยุคนิตยสาร Open ผมก็เคยอ่านหนังสือของคุณภิญโญอยู่บ้าง แม้ไม่เยอะนักก็ตาม
ในช่วงที่หนังสือชุด “ปัญญา” โด่งดังอย่างสูง ผมเป็นหนึ่งในคนที่ซื้อ “ปัญญาอนาคต” และ “ปัญญาอดีต” มาอ่านด้วยเช่นกัน ความเห็นในตอนนั้นคือประทับใจกับการปลุกใจของคุณภิญโญ ที่ชี้ว่าพวกเรากำลังอยู่ในวิกฤตนานานับประการ วิธีเดียวที่ใช้เอาตัวรอดได้คือ พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นในด้านต่างๆ และอาศัยความกล้าหาญในการบุกฝ่าฟันไปข้างหน้า ดังเช่นพระเจ้าตากทุบหม้อข้าวตีเมืองจันทร์ ตามที่คุณภิญโญเขียนถึงไว้หลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม หนังสือในชุดปัญญายังเป็นแค่การปลุกใจให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่ได้ชี้ชัดนักว่าให้ทำอะไรกันแน่ ซึ่งผมเข้าใจ (เอาเอง) ว่าผู้เขียนตั้งใจทิ้งไว้ให้เป็นที่ว่างของผู้อ่านแต่ละคนได้คิดกันเอง ตามบริบทของชีวิตแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันเลย
หลังจากนั้นมา ผมก็ไม่ได้อ่านหนังสือของคุณภิญโญอีก ซึ่งมีหลายเล่มออกตามมา เช่น ปัญญาชาจีน ปัญญาอิตาลี ฯลฯ เหตุผลไม่ได้เป็นเพราะไม่ชอบ แต่เป็นเพราะช่วงนั้นผมเองอ่านหนังสือน้อยลงมาก (แทบทุกประเภท)
แล้วเส้นทางนักอ่านของผมกับหนังสือของคุณภิญโญก็เหินห่างกันไป จนกระทั่งผมได้รับหนังสือเล่มใหม่ Aladdin & Luddite (ชื่อภาษาไทยคือ อาละดินกับลัดไดต์) จึงมีโอกาสได้อ่านหนังสือของคุณภิญโญอีกครั้ง
จากการค้นคว้าสักเล็กน้อย ก็ทำให้ทราบว่าคุณภิญโญหายจากวงการหนังสือไประยะหนึ่งเช่นกัน ด้วยเหตุผลเรื่อง COVID-19 (“วิกฤต” ที่ยิ่งใหญ่กว่าที่คุณภิญโญพยากรณ์เอาไว้) บวกกับการย้ายตัวเองไปอยู่เชียงใหม่อย่างถาวร
ช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา คุณภิญโญกลับไปทบทวนตัวเองใหม่ และเตรียมการแปลหนังสือชุดใหม่ ซึ่งระบุว่าเป็นหนังสือที่เสนอ “กระบวนทัศน์ใหม่” (new paradigm) อย่างเป็นระบบ อาจเป็นการตอบโจทย์ที่ขาดไปตั้งแต่หนังสือชุดปัญญา ว่าตกลงแล้วเราควรลุกขึ้นมาเรียนรู้เรื่องอะไรกันแน่
Aladdin & Luddite เปรียบเสมือน “บทนำ” ของหนังสือชุดใหม่ที่ว่านี้ โดยคุณภิญโญนำใจความสำคัญของหนังสือ 5 เล่มที่อยู่ในโครงการแปลและจัดพิมพ์ มาเขียนเล่าว่ามันสำคัญอย่างไร และเชื่อมโยงกันอย่างไร
หนังสือ 5 เล่มนี้ได้แก่
- The World Order โดย Henry Kissinger อดีต รมว. ต่างประเทศสหรัฐผู้ยิ่งใหญ่ (และแกยังไม่ตาย! ปีนี้ 100 ขวบแล้ว)
- Doom: The Politics of Catastrophe โดย Niall Ferguson เล่าประวัติศาสตร์ของ “หายนะ” ประเภทต่างๆ ที่มนุษยชาติเคยเผชิญ และชี้ว่าเรารับมือหายนะเหล่านี้ได้แย่ลงเรื่อยๆ เพราะปัจจัยด้านสังคม-การเมืองของมนุษย์
- The Technology Trap โดย Carl Benedikt Frey วิเคราะห์ผลกระทบจากการปฏิวัติเทคโนโลยีต่อสังคม โดยเทียบกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
- Redesigning Work โดย Lynda Gratton การออกแบบ “งาน” ยุคใหม่ โดยเฉพาะยุคหลัง COVID ที่บริบทของสังคมเปลี่ยนไป
- The Metaverse โดย Sangkyun Kim อาจารย์ชาวเกาหลีที่ศึกษาเรื่องเกม ข้อมูลของเขาที่เป็นภาษาอังกฤษมีไม่เยอะนัก (ตัวอย่าง) เข้าใจว่าหนังสือจะแปลมาจากภาษาเกาหลีโดยตรง เน้นเรื่องจักรวาลคู่ขนานจากชีวิตจริง และการ “อวตาร” ตัวเราไปอยู่ในโลกเสมือน
ชื่อหนังสือ Aladdin & Luddite มาจากบทที่สามที่กล่าวถึงหนังสือ The Technology Trap เพราะพูดถึงกลุ่ม “ลัดไดต์” ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ผู้ปฏิเสธเทคโนโลยีจำพวกเครื่องทอผ้า ถึงขนาดรวมตัวกันเพื่อบุกทำลาย และทางการอังกฤษถึงขั้นต้องปราบปรามด้วยกองทหาร
ส่วน “อาละดิน” นั้น คุณภิญโญเปรียบเทียบเทคโนโลยี AI เป็นยักษ์จินนี่จากตะเกียงวิเศษ มีอิทธิฤทธิ์มากมาย เจ้าของตะเกียงอย่างอาละดิน หรือมนุษย์ยุคปัจจุบัน จะสามารถควบคุมยักษ์ AI ที่หลุดออกมาจากตะเกียงได้อย่างไร
Aladdin & Luddite เป็นเหมือนความเรียงที่เกริ่นถึงหนังสือ 5 เล่มที่จะจัดพิมพ์ โดยเนื้อหาของ Aladdin & Luddite อาจไม่เยอะนัก (วัดจำนวนข้อความแล้วน่าจะสั้นกว่า “ปัญญาอนาคต” ด้วยซ้ำ) แต่ด้วยวิธีการจัดหน้าและดีไซน์อาจทำให้หนังสือดูใหญ่และหนากว่า
คุณภาพการพิมพ์ต้องบอกว่าไม่มีที่ติ หนังสือชุดใหม่ของ Open ใช้ดีไซน์หน้าปกหุ้มแบบหลายสีที่สวยงาม (แต่ละเล่มไม่เหมือนกัน เลือกสีเองได้ ตัวอย่าง) หน้าปกด้านในเลือกใช้ภาพ Wanderer above the Sea of Fog ของ Caspar David Friedrich ผมตีความเอาเองว่าคุณภิญโญต้องการสื่อถึงความมุ่งมั่นที่จะเผอิญอุปสรรคในโลกข้างหน้า แม้ไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไร ตามธีมที่พยายามสะท้อนออกมาในหนังสือตั้งแต่ชุดปัญญาแล้ว
เล่มที่ผมได้มาเป็นปกหุ้มสีฟ้าอ่อนเทอร์ควอย ในปกเขียนว่าเป็นสีที่ได้แรงบันดาลใจมาจากมัสยิด Isfahan ในอิหร่าน ซึ่งต้องบอกว่ารสนิยมวิไลอย่างมาก (ในโพสต์แนะนำหนังสือ บอกว่าอีกสีคือชมพู ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนครชัยปุระในอินเดีย)
ถ้าให้วิจารณ์กันตรงๆ ผมคิดว่า Aladdin & Luddite อาจมีเนื้อหาเบาไปหน่อย อยู่ในกลุ่มหนังสือที่ไม่ต้องซื้อก็ได้ (หากไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของ Open) แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่าคงเป็นแผนการพิมพ์หนังสือ 5 เล่มชุดที่กล่าวไปแล้ว
ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าหนังสือของ Kissinger น่าสนใจที่สุด และไม่นึกว่ามีคนกล้าแปลไทยและพิมพ์ออกมา ถ้าใครเคยเห็นหนังสือเล่มภาษาอังกฤษของ Kissinger จะรู้ว่ามันหนามาก (รวมถึงเล่ม On China เล่มก่อนหน้าของเขาด้วย) บวกกับเนื้อหาที่ซีเรียสจริงจัง พูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งน่าจะขายได้ยากพอสมควร แต่เมื่อคุณภิญโญกล้าพิมพ์ออกมาขาย เราก็กล้าซื้อ!
ในบทนำของหนังสือ คุณภิญโญพูดถึง “นกฮูกของมิเนอร์วา” (หรืออาธีน่าหากเป็นชื่อแบบกรีก) โดยเขียนเอาไว้ว่า
เมื่อยุคสมัยเก่ากำลังจะสิ้นสุดและยุคสมัยใหม่กำลังจะเริ่มต้น มิเนอร์วาจะสั่งให้นกฮูกของตนบินไปยังขอบฟ้า เพื่อสำรวจว่ายุคสมัยใหม่นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร
หลังจากอ่านหนังสือจบ ผมเข้าไปในเพจของ Openbooks แล้วพบว่าเปลี่ยนโลโก้เป็นนกฮูก เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2023 คงเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า คุณภิญโญต้องการทำตัวเป็น “นกฮูกของมิเนอร์วา” และบอกเล่ายุคสมัยใหม่ผ่านสิ่งที่ถนัดและเชี่ยวชาญที่สุด นั่นคือหนังสือนั่นเอง