in Economics, Movies

Working: What We Do All Day

Working: What We Do All Day เป็นสารคดีสั้นความยาว 4 ตอนที่สร้างโดย Working: What We Do All Day บริษัทของประธานาธิบดีโอบามา ที่หันมาเอาดีเรื่องการทำสื่อหลังลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี ฉายทาง Netflix มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2023

Working: What We Do All Day ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือปี 1974 ที่ดังมากเล่มหนึ่งชื่อยาวมาก Working: People Talk About What They Do All Day and How They Feel About What They Do เขียนโดย Studs Terkel นักเขียน-นักจัดรายการวิทยุฝ่ายซ้าย ที่ลงไปสัมภาษณ์ชาวอเมริกัน 100 คน ว่าทำ “งาน” อะไร มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ถือเป็นหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์เรื่อง “งาน” ของชาวอเมริกันในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

สารคดีชิ้นนี้มองว่ารูปแบบของ “งาน” เปลี่ยนไปจากยุคนั้นมากแล้ว คนรุ่นปัจจุบันมีปัญหาเรื่อง “งาน” ในวิถีที่แตกต่างไปจากเดิมมาก จึงลงไปสัมภาษณ์ “คนทำงาน” ประเภทต่างๆ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต และปัญหาของคนแต่ละกลุ่ม

สารคดีมีด้วยกันทั้งหมด 4 ตอน แยกตามระดับ “ชั้น” ของงาน

  1. Service Jobs คนทำงานระดับล่าง คนใช้แรงงาน งานบริการ แม่บ้าน
  2. The Middle งานระดับที่สูงขึ้นมา เช่น หัวหน้าคนงาน (supervisor) โอเปอเรเตอร์รับโทรศัพท์แขกในโรงแรม
  3. Dream Jobs งานใช้สมอง ค่าตอบแทนดี เช่น โปรแกรมเมอร์ ล็อบบี้ยิสต์ ผู้จัดการโรงแรม
  4. The Boss งานระดับสูงสุด ซีอีโอ ประธาน เจ้าของธุรกิจ

Working เลือกไปสัมภาษณ์เจาะลึกงานทั้ง 4 ระดับใน 3 องค์กร ได้แก่ โรงแรมหรู Pierre Hotel ในนิวยอร์ก, บริษัทสตาร์ตอัพรถยนต์ไร้คนขับ Aurora และ บริษัทรับจ้างดูแลคนป่วยตามบ้านชื่อ At Home Care โดยทั้ง 3 องค์กรจะสัมภาษณ์ทั้ง 4 ระดับ (รวม 12 เซ็ต)

รูปแบบการนำเสนอเป็นการตามถ่ายชีวิตของ “คนทำงาน” แต่ละคน รวมถึงคนข้างเคียง ครอบครัว พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ให้เล่าเรื่องจากมุมมองของตัวเอง โดยที่ไม่มีพิธีกรโผล่มาในกล้องให้เห็น อาจมีบางซีนที่โอบามาลงไปเป็นคนสัมภาษณ์เองด้วย เราจึงมีโอกาสได้เห็นโอบามาได้ลองทำงานเป็นคนส่งอาหารในออฟฟิศ เดินซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต เยี่ยมบ้านของผู้คนจนถึงห้องนอน ไปจนถึงสัมภาษณ์ประธานบริษัท Natarajan “Chandra” Chandrasekaran ประธานของ Tata Group บริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดีย ที่เป็นเจ้าของ Pierre Hotel

สารคดีชิ้นนี้เล่าเรื่องความยากลำบากของคนทำงานระดับล่าง ที่ต้องวิ่งหาเงินมาให้พอกับค่าใช้จ่ายเดือนต่อเดือน (ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ) แล้วเปรียบเทียบกับงานระดับบนๆ ที่เป็น “งานในฝัน” ของใครหลายคน อย่างไรก็ตาม วิธีการเล่าเรื่องเป็นแบบไปเรื่อยๆ ตั้งคำถามโดยไม่มีข้อสรุปใดๆ ไม่มีการขมวดปมให้คนทำงานแต่ละระดับต้องมาปะทะกัน ออกไปในเชิงว่า แต่ละคนมีวิถีชีวิตแตกต่าง มีข้อจำกัดของแต่ละคนแตกต่างกันไปมากกว่า

จุดเดียวที่โอบามาวิจารณ์เรื่องค่าตัวของ CEO เทียบกับพนักงานระดับล่าง ที่ความถ่างเพิ่มขึ้นมาก เป็นเพราะแนวคิดเรื่องธุรกิจต้องทำกำไรสูงสุดจากนักเศรษฐศาสตร์ Milton Friedman ที่เริ่มแพร่หลายในยุครัฐบาลเรแกน (ซึ่ง Friedman เป็นที่ปรึกษาให้) แต่ก็เป็นการวิจารณ์ไปที่ตัวแนวคิดของ Friedman โดยตรง ไม่ได้วิจารณ์เหล่า CEO ที่ไปถ่ายทำแต่อย่างใด

ซีนที่ชอบที่สุดคือตอนที่ 2 ที่กลุ่มพนักงานสัญญาจ้างของ Aurora มานั่งคุยกันว่าเคยทำงานอะไรมาบ้าง ทุกคนมีความสุขกับการอัพเกรดจากชีวิตพนักงานแบบ service jobs เพราะได้ค่าตอบแทนดีขึ้น สวัสดิการมากขึ้น พนักงานคนหนึ่งเล่าว่าชีวิตของเขาเคยต้องเลือกระหว่างใช้เงินเติมน้ำมัน กับซื้อของสดเข้าบ้าน เพราะถ้าเติมน้ำมันเยอะเกินไปจะไม่มีเงินซื้อของสด แต่หลังจากเขามาทำงานนี้ (กับ Aurora) เขาสามารถเติมน้ำมันได้ตามต้องการแล้ว

ดูจบแล้วคงไม่ได้คำตอบนักว่า เราจะแก้ปัญหาเรื่อง “งาน” และความเหลื่อมล้ำในโลกสมัยใหม่ได้อย่างไร แต่ก็เข้าใจบริบทของปัญหามากขึ้น ได้เห็นชีวิตของคนทำงานในแง่มุมที่แตกต่างไป โดยเฉพาะชีวิตของคนทำงานใน At Home Care Inc. ซึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่นในรัฐมิสซิสซิปปี้ ทางตอนใต้ของอเมริกา คนทำงานเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิงผิวดำ (ด้วยบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองท้องถิ่น) และได้รับผลกระทบจากนโยบายระดับรัฐ ที่ทำให้เงินชดเชยจากโครงการ Medicaid มาจ่ายคนทำงานลดลง เป็นสิ่งที่อาจไม่ได้ปรากฏให้เห็นในสื่อกระแสหลักมากนัก

หมายเหตุ: Aurora เป็นสตาร์ตอัพรถยนต์ไร้คนขับที่ก่อตั้งโดย superstar ของวงการรถยนต์ไร้คนขับรุ่นบุกเบิก 3 คนได้แก่