Working: What We Do All Day เป็นสารคดีสั้นความยาว 4 ตอนที่สร้างโดย Working: What We Do All Day บริษัทของประธานาธิบดีโอบามา ที่หันมาเอาดีเรื่องการทำสื่อหลังลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี ฉายทาง Netflix มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2023
Working: What We Do All Day ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือปี 1974 ที่ดังมากเล่มหนึ่งชื่อยาวมาก Working: People Talk About What They Do All Day and How They Feel About What They Do เขียนโดย Studs Terkel นักเขียน-นักจัดรายการวิทยุฝ่ายซ้าย ที่ลงไปสัมภาษณ์ชาวอเมริกัน 100 คน ว่าทำ “งาน” อะไร มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ถือเป็นหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์เรื่อง “งาน” ของชาวอเมริกันในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี
สารคดีชิ้นนี้มองว่ารูปแบบของ “งาน” เปลี่ยนไปจากยุคนั้นมากแล้ว คนรุ่นปัจจุบันมีปัญหาเรื่อง “งาน” ในวิถีที่แตกต่างไปจากเดิมมาก จึงลงไปสัมภาษณ์ “คนทำงาน” ประเภทต่างๆ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต และปัญหาของคนแต่ละกลุ่ม
สารคดีมีด้วยกันทั้งหมด 4 ตอน แยกตามระดับ “ชั้น” ของงาน
- Service Jobs คนทำงานระดับล่าง คนใช้แรงงาน งานบริการ แม่บ้าน
- The Middle งานระดับที่สูงขึ้นมา เช่น หัวหน้าคนงาน (supervisor) โอเปอเรเตอร์รับโทรศัพท์แขกในโรงแรม
- Dream Jobs งานใช้สมอง ค่าตอบแทนดี เช่น โปรแกรมเมอร์ ล็อบบี้ยิสต์ ผู้จัดการโรงแรม
- The Boss งานระดับสูงสุด ซีอีโอ ประธาน เจ้าของธุรกิจ
Working เลือกไปสัมภาษณ์เจาะลึกงานทั้ง 4 ระดับใน 3 องค์กร ได้แก่ โรงแรมหรู Pierre Hotel ในนิวยอร์ก, บริษัทสตาร์ตอัพรถยนต์ไร้คนขับ Aurora และ บริษัทรับจ้างดูแลคนป่วยตามบ้านชื่อ At Home Care โดยทั้ง 3 องค์กรจะสัมภาษณ์ทั้ง 4 ระดับ (รวม 12 เซ็ต)
รูปแบบการนำเสนอเป็นการตามถ่ายชีวิตของ “คนทำงาน” แต่ละคน รวมถึงคนข้างเคียง ครอบครัว พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ให้เล่าเรื่องจากมุมมองของตัวเอง โดยที่ไม่มีพิธีกรโผล่มาในกล้องให้เห็น อาจมีบางซีนที่โอบามาลงไปเป็นคนสัมภาษณ์เองด้วย เราจึงมีโอกาสได้เห็นโอบามาได้ลองทำงานเป็นคนส่งอาหารในออฟฟิศ เดินซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต เยี่ยมบ้านของผู้คนจนถึงห้องนอน ไปจนถึงสัมภาษณ์ประธานบริษัท Natarajan “Chandra” Chandrasekaran ประธานของ Tata Group บริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดีย ที่เป็นเจ้าของ Pierre Hotel
สารคดีชิ้นนี้เล่าเรื่องความยากลำบากของคนทำงานระดับล่าง ที่ต้องวิ่งหาเงินมาให้พอกับค่าใช้จ่ายเดือนต่อเดือน (ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ) แล้วเปรียบเทียบกับงานระดับบนๆ ที่เป็น “งานในฝัน” ของใครหลายคน อย่างไรก็ตาม วิธีการเล่าเรื่องเป็นแบบไปเรื่อยๆ ตั้งคำถามโดยไม่มีข้อสรุปใดๆ ไม่มีการขมวดปมให้คนทำงานแต่ละระดับต้องมาปะทะกัน ออกไปในเชิงว่า แต่ละคนมีวิถีชีวิตแตกต่าง มีข้อจำกัดของแต่ละคนแตกต่างกันไปมากกว่า
จุดเดียวที่โอบามาวิจารณ์เรื่องค่าตัวของ CEO เทียบกับพนักงานระดับล่าง ที่ความถ่างเพิ่มขึ้นมาก เป็นเพราะแนวคิดเรื่องธุรกิจต้องทำกำไรสูงสุดจากนักเศรษฐศาสตร์ Milton Friedman ที่เริ่มแพร่หลายในยุครัฐบาลเรแกน (ซึ่ง Friedman เป็นที่ปรึกษาให้) แต่ก็เป็นการวิจารณ์ไปที่ตัวแนวคิดของ Friedman โดยตรง ไม่ได้วิจารณ์เหล่า CEO ที่ไปถ่ายทำแต่อย่างใด
ซีนที่ชอบที่สุดคือตอนที่ 2 ที่กลุ่มพนักงานสัญญาจ้างของ Aurora มานั่งคุยกันว่าเคยทำงานอะไรมาบ้าง ทุกคนมีความสุขกับการอัพเกรดจากชีวิตพนักงานแบบ service jobs เพราะได้ค่าตอบแทนดีขึ้น สวัสดิการมากขึ้น พนักงานคนหนึ่งเล่าว่าชีวิตของเขาเคยต้องเลือกระหว่างใช้เงินเติมน้ำมัน กับซื้อของสดเข้าบ้าน เพราะถ้าเติมน้ำมันเยอะเกินไปจะไม่มีเงินซื้อของสด แต่หลังจากเขามาทำงานนี้ (กับ Aurora) เขาสามารถเติมน้ำมันได้ตามต้องการแล้ว
ดูจบแล้วคงไม่ได้คำตอบนักว่า เราจะแก้ปัญหาเรื่อง “งาน” และความเหลื่อมล้ำในโลกสมัยใหม่ได้อย่างไร แต่ก็เข้าใจบริบทของปัญหามากขึ้น ได้เห็นชีวิตของคนทำงานในแง่มุมที่แตกต่างไป โดยเฉพาะชีวิตของคนทำงานใน At Home Care Inc. ซึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่นในรัฐมิสซิสซิปปี้ ทางตอนใต้ของอเมริกา คนทำงานเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิงผิวดำ (ด้วยบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองท้องถิ่น) และได้รับผลกระทบจากนโยบายระดับรัฐ ที่ทำให้เงินชดเชยจากโครงการ Medicaid มาจ่ายคนทำงานลดลง เป็นสิ่งที่อาจไม่ได้ปรากฏให้เห็นในสื่อกระแสหลักมากนัก
หมายเหตุ: Aurora เป็นสตาร์ตอัพรถยนต์ไร้คนขับที่ก่อตั้งโดย superstar ของวงการรถยนต์ไร้คนขับรุ่นบุกเบิก 3 คนได้แก่
- Chris Urmson อดีต CTO โครงการรถยนต์ไร้คนขับของ Google (ปัจจุบันคือ Waymo), จบ PhD หุ่นยนต์จาก CMU และเคยชนะ DARPA Grand Challenges ในปี 2007
- Sterling Anderson อดีต Director of Autopilot ของ Tesla, จบ PhD หุ่นยนต์จาก MIT
- Andrew (Drew) Bagnell จบ PhD หุ่นยนต์จาก CMU และเคยเป็นอาจารย์ Robotics Institute ที่ CMU ด้วย, เคยเป็นหัวหน้าทีม Autonomy ของ Uber เป็นช่วงสั้นๆ ซึ่งภายหลัง Aurora ซื้อทีมรถยนต์ไร้คนขับของ Uber เข้ามาในปี 2021