เป้าหมายที่เปิดบล็อกนี้ขึ้นมาในเดือนมกราคม 2019 คือ Offloading Facebook หรือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดการใช้ Facebook ลง
หลังจากประกาศและลองทำได้มาประมาณครึ่งปี ก็มีมิตรสหายหลายท่านมาสอบถามว่าผลเป็นอย่างไรบ้าง ผลออกมาว่าทำได้ค่อนข้างดี เลยอยากมาบันทึกเรื่องนี้ไว้สักหน่อย (จริงๆ จะเขียนช่วงครึ่งปีพอดี แต่คือว่าเพิ่งว่าง)
ความสัมพันธ์ 3 ระยะห่าง
ช่วงหลังผมพบว่าคนพูดถึงประเด็นว่า Facebook ทำให้เกิด distraction หรือ depression มาก (ไม่รวมปัญหาอื่นๆ อย่าง privacy หรือพฤติกรรมที่ไม่ค่อยเป็นคนดีเท่าไรนัก) เลยพยายามหาคำอธิบายว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
คำตอบที่ได้คือทฤษฎี Three Rings of Social (ตั้งชื่อเองให้เท่ๆ) ที่เราสามารถแบ่งระดับความสัมพันธ์บนโซเชียลได้เป็น 3 ระยะ ตามความใกล้-ห่างในชีวิตจริง
- inner = คนใกล้ชิดในชีวิตจริง เช่น ครอบครัว พ่อแม่ คนรัก เพื่อนสนิท
- acquaintance = เพื่อนแบบห่างๆ (ซึ่งคำนิยามของมันก็ลื่นไหลไม่ตายตัว) เช่น เพื่อนเก่าสมัยประถม เพื่อนที่ทำงานคนละฝ่าย หรือคนรู้จักบนโลกออนไลน์
- far from real life = คนที่เราติดตามแบบไกลๆ เช่น คนดัง ดารา เซเล็บ นักกีฬา นักฟุตบอล
ผมคิดว่ากลุ่ม inner นั้น “โดยส่วนใหญ่แล้ว” เป็นความสัมพันธ์ที่เราพบว่ามีคุณค่า อยากคุยกับพวกเขาบ่อยๆ ในเรื่องที่เป็นส่วนตัว (private matters) เช่น ถ่ายรูปกิจกรรมตลกๆ ส่งไปให้ดู และอาจมีส่วนน้อยที่ชวนให้รำคาญ เช่น ส่งข่าวปลอม fake news มาให้เรา ส่งรูปดอกไม้มาให้ดูทุกเช้า ฯลฯ
ส่วนกลุ่ม far from real life มีความห่างที่ไกลตัวเรามาก เราคงรู้สึกเฉยๆ ที่คริสเตียโน่ โรนัลโด้ จะโพสต์อะไรบางอย่างที่เราไม่ชอบ หรือวันนี้โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตด่าใครสักคน ส่วนใหญ่ก็คือติดตามไว้เพื่อรู้ไว้ใช่ว่า หรืออ่านแก้เบื่อยามว่าง
กลุ่มที่เป็นปัญหาที่สุดคือ acquaintance เพราะความสัมพันธ์มันกึ่งๆ จะใกล้ชิดก็ไม่ใช่ จะไกลจนไม่รู้จักเลยก็ไม่เชิง และเมื่อเราเห็นคนกลุ่มนี้โพสต์อะไรสักอย่าง (ไม่ว่าจะในเชิงบวกหรือลบ) มันมีโอกาสสูงที่จะทำให้เราหดหู่ อิจฉา สมเพช โกรธเคือง ฯลฯ (ตัวอย่างเช่น เพื่อนสมัยประถมโพสต์รูปถอยลัมโบกินี่มาหนึ่งคัน หรือ เพื่อนที่ทำงานเก่าโพสต์ด่าการเมืองแบบสุดขั้ว)
จัดกลุ่มโซเชียล แยกเครื่องมือให้ถูกกลุ่ม
คนเรามีหลากหลายโหมด หลากหลายความสนใจ หลากหลายความสัมพันธ์ แต่ปัญหาของ Facebook คือมันออกแบบให้เราใช้เครื่องมือเพียงตัวเดียว (Facebook News Feed) กับความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ เราจึงเห็นทุกอย่างปนกันมั่วไปหมดใน News Feed และเมื่อเจอกับโพสต์แย่ๆ ที่ไม่ถูกใจเรา ทำให้เรา distract หรือ depress
ครั้นจะเลิกใช้ Facebook ไปทั้งหมดเลยก็ลำบาก เพราะเรายังมีคนบางกลุ่มที่ยังอยากปฏิสัมพันธ์ด้วยอยู่ (เช่น กลุ่ม inner) ทางแก้จึงต้องเป็นการจัดระเบียบเครื่องมือสื่อสารใหม่ ให้ตรงกับเพื่อนในแต่ละกลุ่มความสัมพันธ์
- กลุ่ม inner เป็นการคุยเรื่องส่วนตัว เหมาะกับการสื่อสารในกลุ่มปิด ซึ่งไม่มีอะไรตรงไปกว่าระบบแชท ส่วนจะใช้ตัวไหน Messenger, Line, WhatsApp, WeChat, Snapchat, Slack ก็คงแล้วแต่กลุ่ม (กรุ๊ปครอบครัวใน Line ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในความชัดเจน)
- กลุ่ม far from real life เหมาะสำหรับการติดตามแบบไกลๆ ความสัมพันธ์แบบดารา <-> แฟนคลับ (1-to-many) ดังนั้นเครื่องมือที่เหมาะสมคือ Twitter, YouTube, Reddit หรือบางคนอาจใช้ Instagram ไว้ฟอลโลว์ดาราเพียงอย่างเดียว แบบนี้ก็เข้าข่าย
- กลุ่ม acquaintance หรือกลุ่มที่อยู่ตรงกลางๆ เพื่อนแบบห่างๆ คนรู้จักในโลกออนไลน์ อันนี้คือเหมาะกับ Facebook (หรือบางคนก็ใช้ Instagram ฟอลโลว์เพื่อนระยะห่างนี้)
ยุทธศาสตร์ที่ผมใช้คือ
- กลุ่ม inner ย้ายมาใช้ระบบแชทห้องปิดให้หมด เพราะเป็นการสนทนาวงเล็ก พูดคุยได้สะดวกใจกว่า เลือกกลุ่มคนที่เราอยากสื่อสารได้ (ใครน่ารำคาญก็ไม่ต้องคุย!)
- กลุ่ม far from real life เอาไว้ติดตามแก้เบื่อได้ เพราะอยู่ไกลจนทำให้รู้สึกว่าห่างจากโลกความเป็นจริงของเรา แต่ควรทำเฉพาะยามว่างเท่านั้น และควรปิด notification ทั้งหมด 100%
- กลุ่ม acquaintance ยังอยู่ในจักรวาลของ Facebook ซึ่งเราต้องลดการใช้งานมันลง ด้วยการลดโพสต์, ปิด notification และเข้ามาใช้งานเมื่อว่าง
กลยุทธ์ในการลดการใช้งาน Facebook ลง
1) หยุดโพสต์
vicious circle หรือวัฏจักรแห่งความเลวร้ายของ social คือ อ่าน -> โพสต์ -> มีคนไลค์/คอมเมนต์ -> แจ้งเตือนใน notification -> แวะเข้าไปอ่านและ interact -> แจ้งเตือนอีก -> interact ไม่รู้จบ
ทางแก้จึงต้องหยุดที่การเริ่มต้นวัฏจักรนี้ นั่นคือ หยุดโพสต์ หรือ โพสต์ให้น้อยลง
เมื่อโพสต์น้อยลงแล้ว notification จะลดน้อยลงเอง (อาจมีเพื่อนแท็กมาบ้างแต่จำนวน notification น้อยกว่าเนื้อหาที่เราโพสต์เองมาก)
2) ปิด push notification, เข้าไปอ่านแบบ pull
notification คือสิ่งที่สร้าง distraction แถมส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิด productivity ด้วย ทางแก้คือปิด notification ทั้งหมดบนมือถือ และถ้าจะให้ดีคือ ลบแอพ Facebook ออกจากมือถือไปเลย
แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้าไปดู Facebook ทางเว็บเบราว์เซอร์บนคอมพิวเตอร์ เพื่อบีบให้เราเข้าไปเช็คในช่วงที่ว่างจริงๆ เท่านั้น (เช่น กลางคืนก่อนนอน) และปิดแท็บ Facebook เสมอเมื่ออ่านเสร็จแล้ว ไม่ต้องเปิดค้างไว้
เทคนิคนี้จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่เราถูกระบบ Facebook push เข้าใส่ กลายเป็นเราเข้าไปเช็คเองเมื่อถึงเวลาอันสมควร (pull) และไม่เป็นการหักดิบจนเกินไป จนตัดความเคลื่อนไหวของสังคมเลย
เมื่อลดการใช้งาน Facebook ลงมาได้สักพัก ก็จะรู้สึกว่า เออ ชีวิตเราไม่ต้องรู้เรื่องพวกนี้ ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรสักเท่าไรเลยนี่นา
3) หาช่องทางสนทนาอื่น แก้เหงาปาก
คนเราโพสต์ Facebook เพราะเหงาปาก อยากคุยอยากบ่นให้โลกรู้ แต่เมื่อการโพสต์ Facebook ก่อให้เกิดผลเสีย (เช่น ไปด่าคนอื่นจนความสัมพันธ์แย่ หรือ distraction) และเราไม่สามารถลดการโพสต์ได้เพราะเหงาปาก ทางแก้ก็คือไปโพสต์ที่อื่น
ส่วนจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ชอบ แล้วแต่ไลฟ์สไตล์ เช่น บางคนไปเปิดบัญชี Private Twitter เพื่อโพสต์ในสิ่งที่ใจคิดเพราะไม่ต้องแคร์ใคร หรือ เขียนบล็อก (อย่างในกรณีนี้) เพื่อถ่ายทอดความคิดเห็นแบบยาวๆ ออกไปจากหัวได้
4) หาอะไรอย่างอื่นอ่าน ที่ไกลตัวและไม่ทำร้ายใคร
การเสพเรื่องราวของชีวิตคนอื่นเป็นเรื่องสนุกเสมอ (คนเราขี้เสือกกันหมด) แต่การเสือกชีวิตชาวบ้านอาจทำให้เราหดหู่หรือ depress (ทั้งอิจฉา หรือสังเวช) เพราะเป็นคนที่เรารู้จักและเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกด้วยกันได้
ทางแก้คือ ไปเสพอะไรอย่างอื่นที่ไกลตัวมากๆ และเป็นเรื่องที่เบาสมองไม่ทำร้ายใคร คงไม่มีใครรู้สึกเป็นทุกข์จากการอ่านข่าว อังตวน กรีซมันน์ ย้ายไปบาร์เซโลนา (ยกเว้นซิมิโอเน่!), ดูคลิปฝรั่งนักเดินทางสักคนไปดำน้ำที่ศรีลังกา หรือ อ่านบทความ Super Mario Odyssey ได้คะแนนรีวิว perfect score
เมื่อไรก็ตามที่รู้สึก depress ก็ควรเปิดหาอะไรพวกนี้จากเว็บประจำอ่านเพื่อคลายสมองลง อ่านเอาเพลินๆ แก้เบื่อ และเพื่อให้ลืมเรื่องชีวิตชาวบ้านที่อ่านมาก่อนหน้านั้น
สรุปผล
โดยส่วนตัวแล้วผมอ่านข่าวเกมกับฟุตบอล เมื่อต้องการคลายเครียดหรือหลีกหนีจากโลกความเป็นจริง แต่คนอื่นจะเลือกแนวทางไหนก็คงขึ้นกับความชอบของแต่ละคน
ลองหาสูตรเหล่านี้และทดลองทำมาประมาณครึ่งปี ก็พบว่าสำเร็จในระดับหนึ่ง (มีแอบไปติด Twitter แทนบ้างเป็นพักๆ ซึ่งรู้สึกว่าไม่ควร ก็พยายามลดอยู่) และชีวิตก็สบายมากขึ้นเช่นกัน