in Movies

The Sandman

The Sandman เป็นซีรีส์ดาร์คแฟนตาซี Netflix ที่ดัดแปลงมาจากคอมิกของ DC ชื่อเดียวกัน (ตีพิมพ์ 1989-1996) ที่เขียนเรื่องโดย Neil Gaiman นักเขียนนิยายแฟนตาซีชาวอังกฤษ และมีนักวาดหลายคนมาวาดภาพให้

ตัวคอมิก The Sandman เวอร์ชันของ Gaiman นั้นเป็นการ “รีบูต” มาจากคอมิก The Sandman เวอร์ชันต้นฉบับปี 1939 และเวอร์ชันสองปี 1974–1976 (วาดโดย Jack Kirby ตำนานนักวาดของ DC) อีกทีหนึ่ง แต่การตีความใหม่ของ Gaiman ที่ลุ่มลึก ทำให้ The Sandman เวอร์ชันนี้โด่งดังมาก

ส่วนตัวแล้วไม่ใช่สายอเมริกันคอมิก จึงไม่เคยอ่าน The Sandman มาก่อนเลย และไม่เคยอ่านงานของ Gaiman อื่นๆ มาด้วยทั้งหมด แถมตกใจมากที่เขาเป็นคนแต่ง Stardust นิยายแฟนตาซีใสๆ ที่ถือเป็นสุดยอดหนังอีกเรื่องหนึ่งด้วย (คนละเรื่องเลยกับความดาร์คของ The Sandman ที่มีทั้งเซ็กซ์และความรุนแรง)

ซีรีส์ The Sandman เวอร์ชัน Netflix ได้ตัว Gaiman มาร่วมทำด้วยในฐานะโปรดิวเซอร์ จึงมั่นใจได้ในแง่ความเคารพต่อต้นฉบับมาก (การดัดแปลงเรื่องจากต้นฉบับคอมิก เช่น การเปลี่ยนเพศตัวละคร ล้วนแต่เป็นไอเดียของ Gaiman เอง) ส่วนคนอื่นในทีมผู้สร้างคือ David S. Goyer ที่ดัดแปลงซีรีส์ Foundation (ไม่รู้ว่าจะเป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนดี เพราะดัดแปลงจนเละ 555) และ Allan Heinberg คนเขียนบท Wonder Woman

ตัวคอมิก The Sandman มีความยาว 75 เล่มอเมริกันคอมิก มารวมเล่มยุคใหม่สำหรับนักสะสมได้เป็น 4 เล่มใหญ่ ความยาวของเรื่องถือว่ายาวพอสมควร ดังนั้นซีรีส์ซีซันแรก 10 ตอน จึงจับความเฉพาะเรื่อง 2 องค์แรกในคอมิกคือ Preludes & Nocturnes กับ The Doll’s House อย่างละ 5 ตอน

เนื้อเรื่องของ The Sandman เวอร์ชัน Gaiman เป็นเรื่องของ “เทพเจ้า” ที่เรียกว่า Endless ทั้งหมด 7 องค์ ชื่อขึ้นต้นด้วยตัว D ทั้งหมด (จิตวิญญาณแห่ง D) คือ Death, Destiny, Dream, Destruction, Desire, Delirium, Despair รับหน้าที่ดูแลด้านต่างๆ ของมนุษย์ตามชื่อแต่ละคน เช่น Death รับหน้าที่พาคนตายย้ายจากโลกคนเป็นไปสู่โลกคนตาย

ตัวเอกของเรื่องคือ Dream เทพเจ้าแห่งความฝัน หรืออีกชื่อคือ Morpheus เทพแห่งความฝันตามตำนานกรีก (ชื่อเดียวกับตัวละครของ The Matrix) หน้าที่ของเขาคือจัดการกับความฝันของมนุษย์ทั้งฝันดีและฝันร้าย เขามีความสามารถในการควบคุมความฝันของมนุษย์ สามารถเดินทางข้ามไปยังความฝันของบุคคลต่างๆ ได้

เทพแต่ละองค์ยังมีดินแดน (realm) และข้าทาสบริวารของตัวเอง โดยดินแดนของ Dream ชื่อว่า Dreaming

Preludes & Nocturnes

เนื้อเรื่องในองค์แรกของ The Sandman เป็นเหตุบังเอิญที่ Dream พลาดโดนจับโดยนักเล่นแร่แปรธาตุชื่อ Roderick Burgess ที่ทำพิธีจับเทพแห่งความตาย (Death) แต่กลายเป็นจับ Dream มาแทน (เหตุผลที่เทพเจ้าอย่าง Dream โดนมนุษย์ธรรมดาจับไปแบบง่ายๆ จะค่อยๆ ขยายผลต่อไปในเรื่อง)

Dream ถูกยึดอาวุธวิเศษ 3 อย่าง ได้แก่ ทราย (sand), หมวก (helm) และทับทิม (ruby) แล้วถูก Burgess จับขังไว้นาน 106 ปี การที่เทพแห่งความฝันถูกจับตัวไป ส่งผลสะเทือนต่อโลกแห่งความฝัน Dreaming พังทลาย ข้าทาสบริวารหนีหาย ส่วนโลกมนุษย์เกิดผลกระทบว่าคนที่นอนหลับฝันอยู่ในจังหวะที่ Dream โดนจับก็กลายเป็นบุคคลนิทราไปเลย

หมายเหตุ: เหตุผลที่เทพแห่งความฝัน ต้องใช้ทรายและใส่หน้ากากหน้าตาแปลกๆ ก็มาจากรากเหง้าของคอมิกเวอร์ชันต้นฉบับที่แต่งตัวแบบนี้ ซึ่งต้นฉบับเองก็ดัดแปลงมาจากนิทานพื้นบ้านของยุโรปเรื่อง มนุษย์ทราย (sandman) ที่ใช้ทรายทำให้คนหลับฝันดี

หน้ากากของ Sandman (พี่ได้กลับมาแล้วไม่เห็นใช้เลย)

Dream โดนจับขังไว้ที่คุกใต้ดินของ Burgess จนถึงรุ่นลูก และเกิดอุบัติเหตุทำให้ Dream หนีออกมาได้ เขาจึงต้องตามหาอุปกรณ์วิเศษเพื่อให้พลังอำนาจกลับคืนมา ในตอนที่ 2 เป็นต้นมาเราก็เริ่มเรียนรู้ถึงจักรวาลของ The Sandman ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ในขณะที่ตอน 3-4-5 เป็นการตามหาอุปกรณ์ทีละชิ้นได้จนครบ กลับมามีพลังเหมือนเดิม

  • Sand อยู่ในตอนที่ 3 ตามหาเอาจาก Johanna Constantine นักปราบผีสาว ลูกหลานของตระกูล Constantine (ตัวละครนักปราบผี John Constantine ที่ Keanu Reeves เคยเล่นนั้นเป็นฮีโร่ของจักรวาล DC ด้วย แต่ในเวอร์ชันของ Netflix เลือกให้เป็นผู้หญิงแทน)
  • Helm อยู่ในตอนที่ 4 ต้องไปตามหาในนรก (Hell) โดยต่อสู้กับเทพอีกองค์คือเจ้านรก Lucifer Morningstar (ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม Endless แต่เป็นตัวละครสำคัญอีกตัวในจักรวาล DC) รับบทโดย Gwendoline Christie ที่เราคุ้นหน้าจาก Game of Thrones
  • Ruby อยู่ในตอนที่ 5 ทับทิมอยู่กับ John Dee ลูกชายนอกสมรสของ Burgess ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญอีกคนในจักรวาล DC เช่นกันคือ Doctor Destiny (แต่ในซีรีส์ไม่ได้มีฉายาอื่น) ทับทิมมีพลังทำให้ความฝันเป็นจริง และ John Dee นำไปลองใช้กับมนุษย์ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง

Johanna Constantine

ตอนที่ 5 ที่ชื่อ 24/7 ดัดแปลงจากคอมิกชื่อตอน 24-Hour เป็นเรื่องในร้านอาหาร (diner) แห่งหนึ่งที่มีพนักงานและแขกหลายคนเวียนวนกันมา ทุกคนมีชีวิต ความฝัน ความหวังของตัวเอง แต่ปกปิดเอาไว้ตามธรรมเนียมสังคม เมื่อทุกคนต้องมาอยู่รวมกัน และได้รับอิทธิพลจากทับทิมของ John Dee ให้เปิดเผยความต้องการที่แท้จริงออกมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อชีวิต ทั้งเรื่องเซ็กซ์และความรุนแรง

ตอนที่ 5 ของซีรีส์ ถือเป็นหนึ่งในการเขียนบทและดัดแปลงเป็นหนังที่เฉียบคมที่สุดอันหนึ่งที่เคยดูมา วิธีการเล่าเรื่องออกแนวเดียวกับราโชมอน ที่หลอกคนดูไปมา (แม้ตอนท้ายจะโหดๆ ไปบ้าง) อันนี้ไม่ได้คิดไปเองคนเดียว เพราะ The Guardian ยกย่องว่าเป็น 2022’s single greatest hour of TV drama เลยทีเดียว

สำหรับคนที่สนใจอ่านต่อ ในบล็อกของ Netflix มีสัมภาษณ์ Gaiman ไว้อย่างละเอียดถึงเบื้องหลังของตอนนี้

John Dee

The Doll’s House

หลังจาก The Sandman ได้อุปกรณ์คืนมาครบ พลังอำนาจกลับมาเต็ม และฟื้นฟูอาณาจักรคืนมาสำเร็จ ในครึ่งหลังคือตอนที่ 6 เป็นต้นไป เป็นเรื่องการตามหา “ลูกน้อง” ที่หายไป 3 ตน ได้แก่ Gault, Corinthian, Fiddler’s Green โดยที่ Corinthian ในฐานะ “ฝันร้าย” (nightmare) รับบทเป็นตัวร้ายหลักของเรื่ององค์นี้

เรื่องในองค์หลังยังเกี่ยวพันกับ Rose Walker หญิงสาวผิวดำที่โชคชะตานำพาให้เป็น “Vortex” มนุษย์พิเศษที่มีพลังแห่งความฝันระดับเดียวกับ Dream ที่จะเกิดขึ้นทุก 2-3 พันปี เนื้อเรื่องหลักคือการตามหาน้องชายที่พลัดพรากจากกันของ Rose โดยมีลูกน้องของ Sandman ทั้ง 3 ตนมายุ่งเกี่ยว

จุดที่น่าสนใจคือ Corinthian ฝันร้ายที่หลุดออกมาตั้งแต่ Dream โดนจับ ได้ออกมาสร้างลัทธิผู้นิยมฆาตกรรม (collectors) มายาวนาน และกลุ่มคนเหล่านี้มีงานสัมมนาประจำปีของตัวเองชื่อ “Cereal Convention” (ล้อกับคำว่า Serial Killers) ในโรงแรมธรรมดาทั่วไป และต้องพยายามพรางตัวให้คนทั่วไปไม่รู้ว่าทำอะไรกันอยู่ โดยมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสมาคมบังคับเอาไว้ ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ว้าวมาก (แบบโหดๆ)

Corinthian

เกร็ดเล็กๆ อีกอันคือตัวละคร Lyta Hall เพื่อนของ Rose Walker นั้น ในคอมิกแท้จริงแล้วเป็นลูกสาวของ Wonder Woman ด้วย (จักรวาล DC โยงกันมั่วไปหมด 55)

นอกจากนี้ในครึ่งหลังของเรื่อง เรายังได้เห็น “พี่น้อง” เหล่า Endless มาปรากฏตัวอีก 3 ตน คือ Death พี่สาวแห่งความตายที่อ่อนโยน, Desire น้องชายผู้เร่าร้อนและเป็นตัวร้ายที่อยู่เบื้องหลัง, Despair น้องสาวฝาแฝดกับ Desire ที่ยังไม่มีบทบาทมากนัก ซึ่งตามหลักก็จะค่อยๆ มีบทเพิ่มขึ้นในซีซันถัดๆ ไป

Despair และ Desire

Sidestory

นอกจากเนื้อเรื่องหลัก 10 ตอนแล้ว เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ยังมีการปล่อยตอนพิเศษเป็นตอนที่ 11 เพิ่มมาด้วย โดยแยกเป็น 2 ตอนย่อยต่อกัน

  • Dream of a Thousand Cats เป็นตอนสั้นแบบ CG ล้วน เรื่องของแมวที่ไปเจอกับ Dream ในความฝัน และออกมาเล่าเรื่องนี้ให้ชุมชนแมวตัวอื่นๆ ฟัง
  • Calliope เรื่องคู่ขนานระหว่างที่ Dream ถูกจับ โดยเป็นเรื่องของเทพี Calliope (คัลลิโอพี) ซึ่งเป็นเทพี muse ตามตำนานกรีก ที่เก่งเรื่องศิลปะ งานเขียน แต่ถูกจับโดยมนุษย์ (เทพเรื่องนี้ถูกจับง่ายจัง) เพื่อมาเป็นพลังสร้างสรรค์ให้กับนักเขียนชื่อดังที่เขียนงานไม่ออก แต่ภายหลังมาเฉลยว่า Calliope เป็นเมียเก่าของ Dream ตั้งแต่ยุคบรรพกาลและเคยมีลูกด้วยกันคือ Orpheus กวีที่เดินทางไปตามหาเมียในนรกตามตำนานกรีก ทำให้ตอนหลังเมื่อ Dream หลุดออกมาได้แล้ว ต้องมาช่วยให้ Calliope เป็นอิสระบ้าง

ทั้งสองตอนนี้ถือเป็นเรื่อง standalone ที่อยู่ในคอมิกช่วงแรกๆ (ตอนที่ 17-18)

บทสรุป

The Sandman เป็นซีรีส์ที่ดูแล้วประทับใจในความเก่งของ Neil Gaiman ตั้งแต่เวอร์ชันต้นฉบับ ว่าเออแกคิดมาลึกมากๆ เป็นปรัชญามากๆ เช่น เหตุผลที่ต้องมีตัวละครฝั่ง “ฝันร้าย” (nightmare) ไม่ใช่เป็นเพราะแค่ต้องมีตัวร้าย (แบบโง่ๆ) แต่เป็นเพราะมนุษย์ต้องมีฝันร้ายเพื่อให้เตรียมใจกับสิ่งที่หลีกเลี่ยงในชีวิตยามตื่น (คมมากๆ บาดเลือดอาบ) รวมถึงการออกแบบตัวละคร และจักรวาลที่มีรายละเอียดเยอะมาก

หากดูผลงานเก่าของ Gaiman (The Matter มีรวบรวมไว้ หลายเล่มมีแปลไทยด้วย) จะเห็นว่าแกเก่งเรื่องเทพปกรณัมมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่สามารถหยิบจับเอาตำนานโน้นนี่มาดัดแปลงได้อย่างแหลมคม

นักแสดงหลายๆ คนก็รับบทได้โดดเด่น ที่เด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น Corinthian ตัวร้ายหลักของซีซันแรก แต่คนอื่นก็เล่นดีทั้งหมด เช่น Death พี่สาวที่อ่อนโยน, Rose Walker วัยรุ่นสับสน และ John Dee ตัวร้ายที่มีปม

The Sandman ถูกพยายามดัดแปลงเป็นหนังหรือซีรีส์มานาน 30 ปีแต่ไม่สำเร็จสักที (เทียบกับตัวละครอื่นของ DC) เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะ CG โลกแห่งความฝันมันทำยากด้วย แต่พอมาดัดแปลงในยุคสมัยที่ CG พัฒนาไปไกลมากแล้ว เราจึงได้เห็นซีรีส์ Sandman ที่มีโลกแฟนตาซีอลังการ เอฟเฟคต์เนียนตาสมจริง

ข้อเสียของ The Sandman มีนิดหน่อยตรงวิธีที่เล่าเรื่อง ที่เห็นว่าเคารพต้นฉบับคอมิกอย่างมาก (มีการเปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น) เนื่องจากไม่เคยอ่านคอมิกมาก่อน ถ้าดูซีรีส์อย่างเดียว วิธีการเล่าเรื่องไม่ได้เป็นเส้นตรงสักเท่าไรนัก ชวนให้งงกับการกระทำหรือเหตุการณ์ต่างๆ (แม้มาเฉลยตอนหลัง ไม่หลุด แต่ระหว่างทางคืองงไง) แถมช่วงตอนแรกๆ ที่ต้องปูพื้น จังหวะของเรื่องมันเนิบมากชวนหลับไปหน่อย

สรุปแล้วให้คะแนน 8.5/10 หักคะแนนตรงวิธีการเล่าเรื่องสักหน่อย