in Movies

The Queen’s Gambit

The Queen’s Gambit เป็นมินิซีรีส์ความยาว 7 ตอนที่ฉายบน Netflix ในปี 2020 โดยดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Walter Tevis นักเขียนชาวอเมริกันที่ตีพิมพ์ในปี 1983

เนื้อเรื่องของ The Queen’s Gambit เป็นเรื่องของนักหมากรุกหญิง Elizabeth Harmon ในอเมริกายุค 1960s

ความสำเร็จของ The Queen’s Gambit ช่วยปลุกให้กระแสนิยมหมากรุกกลับมาใหม่ กระดานหมากรุกกลับมาขายดีจนขาดตลาด ส่วนชื่อเรื่องก็มาจากท่าเดินตอนเปิดกระดาน

โดยแกนหลักของเรื่องแล้ว The Queen’s Gambit ตั้งแต่ฉบับนิยาย เป็นการเล่าเรื่อง coming-of-age (เพิ่งรู้ว่ามีศัพท์เรียกเฉพาะเป็นภาษาเยอรมันว่า Bildungsroman) พูดถึงชีวิตและการเติบโตของนางเอก Beth Harmon ที่เป็นอัจฉริยะแห่งการเล่นหมากรุก

วิธีเล่าเรื่องเป็นแบบนิยายหรือหนังทั่วไป ที่ใช้การเล่าเรื่องแบบ 3 องค์คือ เปิดเรื่อง เจออุปสรรค และเอาชนะอุปสรรคได้สำเร็จ

แต่สิ่งที่ทำให้ The Queen’s Gambit โดดเด่น คือ การใช้เซ็ตติ้งเป็นการแข่งหมากรุก ซึ่งถือว่าค่อนข้างแปลกอยู่แล้ว

บวกด้วยการให้ตัวเอกเป็นผู้หญิง เลยยิ่งเกิดความคอนทราสต์ระหว่างความโดดเด่นของตัวเอกหญิง ในวงการที่มีแต่ผู้ชาย

และบวกด้วยปมของนางเอกที่กำพร้าแต่เด็ก โหยหาความรักและการยอมรับจากคนรอบตัว ซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเธอในอนาคตด้วย ยิ่งทำให้เรื่องมีมิติขึ้นอีกมาก

ลำพังแค่พล็อตหลักในนิยายก็โดดเด่นมากอยู่แล้ว พอถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์ได้ดี องค์ประกอบรายล้อมพร้อมสรรพ ไม่ว่าเป็นการเขียนบทที่คมคาย, การแสดงที่โดดเด่นของ Anya Taylor-Joy, งานโปรดักชั่นระดับสุดยอด ฉากและเสื้อผ้าหน้าผม, การถ่ายทำและตัดต่อ ไปจนถึงดนตรีประกอบ

ย่อมทำให้ The Queen’s Gambit เป็นซีรีส์ที่สมบูรณ์มากๆ ที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยดูทีเดียว

ดูจบแล้วผมถึงขั้นต้องไปหาเบื้องหลังมาอ่าน-มาดูเลยว่า ฉากของเรื่องนี้อลังการมาก เนรมิตโลกยุคปี 60s ขึ้นมาได้อย่างไร

คำตอบแบบสั้นๆ คือ ฉากอลังการส่วนใหญ่ในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นลาสเวกัส ปารีส มอสโก เม็กซิโกซิตี้ ยุค 60s ล้วนถ่ายทำในเบอร์ลิน และบางส่วนถ่ายในแคนาดา (บทความพร้อมภาพเปรียบเทียบของจริง-ในหนัง) ส่วนหัวหน้าทีมโปรดักชันดีไซน์คือ Uli Banisch ชาวเยอรมัน ก็มีผลงานในหนังดังหลายเรื่อง (IMDb)

ในเรื่องของรายละเอียดการเดินหมากรุก ถึงแม้ในหนังไม่ได้โฟกัสให้เราเห็นแทคติกบนกระดานมากนัก แต่ในฉบับนิยาย ผู้เขียน Walter Tevis ก็ปรึกษากับเซียนหมากรุก Bruce Pandolfini (ซึ่งเป็นคนตั้งชื่อเรื่อง The Queen’s Gambit ด้วย) และอีก 37 ปีต่อมา Pandolfini ก็มาเป็นที่ปรึกษาเรื่องหมากรุกให้ฉบับซีรีส์ด้วย

นอกจาก Pandolfini แล้ว อดีตแชมป์โลกชาวรัสเซีย Garry Kasparov (คนที่แพ้ให้กับคอมพิวเตอร์ Deep Blue ของ IBM) ก็มาเป็นที่ปรึกษาให้ด้วยเช่นกัน และ Kasparov ช่วยอัพเกรดระดับของการเดินหมากในเรื่องให้ด้วย (พลังของการมีเงินบวกมีกึ๋นพร้อมกันนี่มันช่างยิ่งใหญ่เสียจริง)

ที่ไม่ชมไม่ได้คือ การแสดงของนางเอกคือ Anya Taylor-Joy ที่เล่นได้ทุกบท แถมเป็นบทยากๆ ทั้งความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา พ่ายแพ้สูญเสีย จมดิ่งติดเหล้าและยา ไปจนถึงสวยเริ่ดเชิดหยิ่ง ประมือกับผู้ชายทั้งโลก (หมากรุก) ได้แบบไม่เป็นรอง

เกร็ดอื่นๆ

  • Allan Scott นักเขียนบทชาวสกอตแลนด์ อยากทำเรื่องนี้เป็นหนังมานาน ซื้อไลเซนส์มาตั้งแต่ปี 1992 และเคยเกือบทำสำเร็จในปี 2007 โดยจะให้นักแสดง Heath Ledger มากำกับ แต่ Ledger ตายก่อน เลยมาทำเสร็จในปี 2020 (ปัจจุบัน Scott อายุ 82 แล้ว)
  • ในนิยายมีจุดต่างจากฉบับซีรีส์อยู่บ้าง หลักๆ คือแม่ของ Beth ไม่ได้ฆ่าตัวตาย, Beth ไม่ได้เมาตอนไปแข่งกับ Borgov ที่ปารีส (สู้สุดฝีมือแล้วก็ยังแพ้), Townes มีบทน้อยกว่าในซีรีส์มาก
  • ตอนแรกรู้สึกว่าคนแสดงเป็น Benny Watts แชมป์หมากรุกของอเมริกา หน้าตาคุ้นมาก จนกระทั่งไปเปิดประวัติดูว่า Thomas Brodie-Sangster คือคนที่แสดงเป็นเด็กผู้ชายใน Love Actually ที่ขโมยซีน
  • ส่วน Harry Melling ผู้แสดงเป็น Harry Beltik แชมป์หมากรุกของรัฐเคนตักกี คือ Dudley Dursley ใน Harry Potter
  • คนที่แสดงเป็น Vasily Borgov แชมป์โลกหมากรุกชาวรัสเซีย คือ Marcin Dorociński นักแสดงชาวโปแลนด์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แสดงแต่หนังของโปแลนด์
  • Lexington Herald-Leader หนังสือพิมพ์ที่ Townes ทำงานให้ มีตัวตนอยู่จริงๆ และเป็นหนังสือพิมพ์ของเมือง Lexington ใน Kentucky จริงๆ (Tevis ผู้เขียนนิยาย เป็นชาวเมือง Lexington)
  • ชื่อตอนทั้ง 7 ตอน ล้วนแต่เป็นศัพท์ของวงการหมากรุกทั้งนั้น
    • Openings – ท่าเดินเปิดเกม
    • Exchanges – การแลกหมากกัน ต่างฝ่ายต่างกินหมากฝ่ายตรงข้าม
    • Doubled Pawns – เบี้ยสีเดียวกัน มาอยู่ในแถวเดียวกัน (หมายถึงความติดขัด)
    • Middle Game – วิธีการเดินช่วงกลางเกม
    • Fork – การเดินหมาก 1 ตัว แล้วจู่โจมฝ่ายตรงข้ามพร้อมกัน 2 ตา
    • Adjournment – การพักแข่งชั่วคราวแล้วไปแข่งต่อวันถัดไป
    • End Game – ท่าเดินไล่กันตอนท้ายเกม