in Technology

The Lost Decade of NASA

อ่านบทความเรื่อง The SLS rocket is the worst thing to happen to NASA—but maybe also the best? ของ Eric Berger นักเขียนสายอวกาศของ NASA แล้วน่าสนใจมาก ในแง่ “ยุคมืด” ของ NASA ที่สะท้อนผ่านโครงการจรวด SLS

ในฐานะคนที่ติดตามโครงการ Artemis อยู่ห่างๆ การมีคนที่รู้จริงเรื่องอวกาศและการเมืองของ NASA มาอธิบายเรื่องเหล่านี้ให้ฟังแล้วจึงน่าตื่นตาตื่นใจมาก

ผู้เขียนเริ่มเรื่องโดยการชี้ให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาส่งคนไปดวงจันทร์รอบที่แล้ว ใช้เวลาประมาณ 11 ปี นับตั้งแต่ประธานาธิบดี Eisenhower เซ็นกฎหมายตั้ง NASA ในปี 1958 เริ่มทุกอย่างใหม่หมดจากศูนย์ และประสบความสำเร็จในการส่งคนไปลงดวงจันทร์ (Apollo 11) ในปี 1969

การส่งคนไปดวงจันทร์ภายใต้ชื่อโครงการ Artemis รอบใหม่นี้ เริ่มต้นจากประธานาธิบดี Obama เซ็นกฎหมายในปี 2010 ตอนนี้ผ่านมา 12 ปีแล้ว ปี 2022 เราเพิ่งได้จรวด Space Launch System (SLS) ที่ใช้เทคโนโลยีเก่าจากยุคกระสวยอวกาศ (Space Shuttle) และกำลังจะเริ่มยิงทดสอบในวันที่ 29 สิงหาคม ส่วนการส่งคนไปลงดวงจันทร์จริงๆ น่าจะต้องรอถึงปี 2025 เลย

งานแบบเดียวกัน (ส่งคนไปลงดวงจันทร์) เริ่มต้นจากศูนย์ใช้เวลา 11 ปี แต่คราวนี้มีทุกอย่างพร้อม มีคน มีงบประมาณ มีทรัพยากร มีเทคโนโลยี มีความเชี่ยวชาญ ทำไม 11 ปีแล้วยังไม่เกิดอะไรเลย และอาจต้องรอกันถึง 15 ปี

แสดงว่าระหว่างทางมันต้องทำอะไรผิดไปสักอย่างสิน่า… ผิดไปเยอะเลยด้วย

คำตอบก็คือ ความมีขั้นมีตอน (bureaucracy) อันวุ่นวาย รวมถึงการเมืองทั้งภายในและภายนอกของ NASA นั่นเอง

สิ่งที่เป็นภาพสะท้อนความล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพเหล่านี้ได้ดีที่สุด คือ จรวด SLS นี่เอง

NASA’s Space Launch System (SLS) rocket with the Orion spacecraft aboard is seen atop the mobile launcher as it is rolled up the ramp at Launch Pad 39B, Wednesday, Aug. 17, 2022, at NASA’s Kennedy Space Center in Florida. NASA’s Artemis I mission is the first integrated test of the agency’s deep space exploration systems: the Orion spacecraft, SLS rocket, and supporting ground systems. Launch of the uncrewed flight test is targeted for no earlier than Aug. 29. Photo Credit: (NASA/Joel Kowsky)

จุดเริ่มต้นของ SLS เกิดจากเหตุการณ์กระสวยอวกาศ Columbia ระเบิดในปี 2003 ทำให้แผนการด้านอวกาศของอเมริกาต้องรีเซ็ตใหม่ ช่วงนั้นมีเหตุการณ์อื่นเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันคือ การก่อตั้งบริษัทอวกาศเอกชน SpaceX ในปี 2002, และจีนส่งนักบินขึ้นอวกาศคนแรกได้สำเร็จในปี 2003

ในยุคของประธานาธิบดี Bush ตั้งเป้าหมายให้ NASA 3 ข้อคือ 1) ก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติให้เสร็จปี 2010 2) พัฒนาระบบจรวดและยานอวกาศใหม่ในปี 2014 และ 3) ส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ปี 2020 ซึ่งมาถึงตอนนี้เรารู้แล้วว่าทำข้อแรกสำเร็จเพียงข้อเดียว ข้อ 2-3 ล้มเหลว

สาเหตุของปัญหามีหลายเรื่องและซับซ้อน แต่สาเหตุสำคัญในมุมมองของผู้เขียน Berger คือ กลุ่มบริษัทอวกาศแบบดั้งเดิม (Big Aerospace) เช่น Boeing, Lockheed Martin, Northrop Grumman เข้ามาล็อบบี้นักการเมืองในสภาคองเกรส ให้ผลักดันนโยบายการพัฒนาจรวดรุ่นใหม่ ด้วยโมเดลการจัดซื้อจัดจ้างแบบดั้งเดิมเหมือนที่เคยทำมา

การพัฒนาจรวดรุ่นใหม่ของ NASA ในช่วงปี 2005 มีทางเลือก 2 ทาง 1) พัฒนาจรวดโดยใช้เทคโนโลยีเดิมของยุคกระสวยอวกาศ และ 2) ใช้เทคโนโลยีจรวดของฝั่งกองทัพสหรัฐ อย่าง Atlas และ Delta ที่เรียกรวมๆ กันว่า National Security Space Launch (NSSL) หรือชื่อเดิม Evolved Expendable Launch Vehicle (EELV) ซึ่งภายหลังถูกนำไปใช้กับจรวดของเอกชน เช่น SpaceX Falcon และ United Launch Alliance (ULA)

ผลคือในปี 2008 NASA เลือกแนวทาง 1) คือใช้ชิ้นส่วนเดิมของกระสวยอวกาศ a Shuttle-Derived Crew Launch Vehicle (CLV) ด้วยเหตุผลว่าเป็นเทคโนโลยีที่ NASA คุ้นเคย มีความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย และต้นทุนต่ำกว่า เพราะไม่ต้องพัฒนาทุกอย่างขึ้นมาใหม่

แนวทางของ NASA อาจฟังดูดีในทางทฤษฏี แต่ทางปฏิบัติแล้วทางเลือกนี้กลับ “เข้าทาง” บริษัท Big Aerospace เพราะจะได้เงินค่าจ้างมหาศาลจากการจ้างพัฒนาเทคโนโลยีที่ตัวเองคุ้นเคยอยู่แล้ว

ปัญหาคือโครงการของ NASA ที่ตอนนั้นใช้ชื่อว่า Constellation พัฒนาจรวด Ares I และ Ares V นั้นไม่สำเร็จตามแผน เพราะมีงบประมาณจำกัด + ไม่มีเจ้าภาพในยุครัฐบาล Bush มาคอยเร่งงาน บี้งาน (ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะไปสนใจประเด็นสำคัญกว่าอย่างสงครามอัฟกานิสถาน-อิรัก)

ในยุคของรัฐบาล Obama จึงรีเซ็ตโครงการใหม่ในปี 2011 โดยนำแผนเดิมบางส่วน เช่น ยานอวกาศ Orion มาใช้ต่อ เปลี่ยนจรวด Ares มาเป็นจรวด SLS แทน ตั้งเป้าว่าจรวดต้องออกแบบเสร็จในปี 2015

การรีเซ็ตแผนยุค Obama ยังปรับนโยบายของ NASA ว่าให้องค์กรรัฐแบบ NASA ทำภารกิจใหญ่ๆ คือการสร้างจรวดไปดวงจันทร์ แต่ภารกิจเล็กๆ เช่น ส่งของขึ้นวงโคจร ส่งคนขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติ ให้ใช้วิธีจ้างบริษัทอวกาศเอกชนมาช่วยทำแทน เพราะประหยัดกว่า และสามารถโยกงบส่วนนี้ไปใช้กับโครงการ SLS/Orion ได้เพิ่ม

ถ้ามองย้อนกลับไปตอนนี้ การตัดสินใจของรัฐบาล Obama มีทั้งผิดและถูก สิ่งที่ถูกคือการเปิดให้บริษัทอวกาศเอกชนพัฒนา สิ่งที่ผิดคือการให้ NASA ทำจรวด SLS ต่อด้วยโมเดลเดิม

เพราะว่าสุดท้ายแล้วโครงการ SLS ล่าช้าและบานปลายมาก เหตุเพราะวิธีการจ้างของ NASA ที่เอื้อให้บริษัท Big Aerospace ลากโครงการให้ยาวนานขึ้น (ได้ค่าจ้างเพิ่ม) แม้คอนเซปต์ของ SLS คือการใช้ชิ้นส่วนและเทคโนโลยีเก่าที่ราคาถูก แก้แบบนิดหน่อยก็ใช้งานต่อได้แล้ว

ยิ่งเมื่อเทียบจรวดภาคเอกชนคือ Falcon Heavy ของ SpaceX สามารถขนน้ำหนักได้ 70% ของ SLS แต่ราคาถูกกว่ากัน 10 เท่า ประสิทธิภาพต่างกันชนิดสู้ไม่ได้เลย

แถม Charles Bolden ผู้อำนวยการ NASA ยุคนั้น ยังเคยหยามไว้เมื่อปี 2014 ว่า Falcon Heavy ยังอยู่ระหว่างการออกแบบอยู่เลย ส่วน SLS สิเป็นของจริง (“The Falcon 9 Heavy may some day come about. It’s on the drawing board right now. SLS is real.”)

ผลคือ Falcon Heavy ขึ้นบินปี 2018 ส่วน SLS ยังไม่เคยขึ้นบินแล้วด้วยซ้ำในปี 2022

ผู้เขียน Berger บอกว่า NASA หมดเงินไปกับ Constellation, SLS, Orion รวมกันแล้วประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.8 ล้านล้านบาท) แต่สิ่งที่สูญเสียมากกว่านั้นคือ ค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ซึ่งอ่านแล้วคุ้นๆ เหมือนรถไฟความเร็วสูงของบ้านเรา

อย่างไรก็ตาม ความไร้ปะสิทธิภาพของ NASA กลับส่งผลให้บริษัทอวกาศภาคเอกชนที่นำโดย SpaceX มีโอกาสพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว เดิมที SLS วางตัวเองในฐานะจรวดไฮเอนด์ ไม่มอง Falcon เป็นคู่แข่ง (แม้ Falcon ทำทีหลังเสร็จก่อน) ภายหลังพอทำช้า ก็ขยับมาเทียบกับจรวดรุ่นถัดไปของ SpaceX คือ Starship แทน (ขยับเป้าหมายไปเรื่อยๆ แบบนี้ก็ได้เหรอ)

Berger ชี้ว่า SLS อาจได้ขึ้นบินก่อน Starship จริงๆ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราอาจได้เห็นจรวดราคาแพง SLS ได้บินเพียง 3 ครั้งตามภารกิจของ Artemis I-III (2022-2025) ในขณะที่เราอาจได้เห็น Starship มีภารกิจบินประมาณ 30 ครั้งระหว่างภารกิจ Artemis I และ II ดังนั้น มองในแง่ความคุ้มค่าแล้วคุ้มกว่ากันมาก

สิ่งที่นโยบายของรัฐบาล Obama ทำถูกต้องมากๆ คือ จ้างเหมาบริการขนส่งอวกาศภาคเอกชน โดยกำหนดราคาตายตัว (fixed-price contract) นั่นคือ ภาคเอกชนที่ชนะสัญญาจะต้องหาวิธีลดต้นทุนของตัวเองลงให้ได้มากที่สุด ในแง่ประสิทธิภาพต่อราคาจึงคุ้มกว่า NASA ทำเองมาก (รวมถึงเปิดทางให้บริษัทเอกชนได้เกิด) ซึ่งความสำเร็จนี้ย่อมทำให้ NASA นำไปใช้กับโครงการอื่นๆ ในอนาคต แทนการกำหนดเองทุกอย่างแล้วค่อยจ้างแยกส่วนรายโครงการแบบที่ทำกับ SLS

ในภาพรวมแล้ว SLS จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของ NASA จากโลกเก่าที่ภาครัฐทำเอง ไม่มีประสิทธิภาพจากขั้นตอนที่วุ่นวาย การล็อบบี้จากอุตสาหกรรมเดิม มาสู่โลกใหม่ที่มี “กองทัพภาคเอกชน” (commercial space) เข้ามาช่วยผลักดันเทคโนโลยีอวกาศให้ก้าวหน้า โดยที่ NASA ทำตัวเป็นแค่ regulator คอยกำหนดทิศทางภาพใหญ่ และจ่ายเงินค่าจ้างเท่านั้น

Berger ชี้ว่า SLS คือ “ราคาที่ NASA ต้องจ่าย” เพื่อแลกกับการที่นักการเมืองในคองเกรส (ที่ถูกล็อบบี้โดยบริษัทอุตสาหกรรมเก่า) กลับมาสนใจผลักดันนโยบายการสำรวจอวกาศอย่างจริงจังอีกครั้ง

SLS อาจกลายเป็นจรวดรุ่นสุดท้ายของ NASA ก็เป็นได้ เพราะยุคทองของโจรสลัดอวกาศได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว