Netflix นำ The Godfather สองภาคแรกมาฉาย เลยมีโอกาสได้ดูอีกรอบหลังจากเคยอ่านนิยาย-ดูหนังมาเมื่อนานมาแล้ว
- องค์แรกของภาพยนตร์ (30 นาทีแรก) นับตั้งแต่ฉากแต่งงานของ Connie มาจนถึงฉากหัวม้า ถือว่าเพอร์เฟคต์มาก ทั้งในแง่การค่อยๆ แนะนำตัวละครในครอบครัว Corleone และการแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของ Don Vito ผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ
- หนังโดยรวมยาวถึง 3 ชั่วโมง ต้องแบ่งดู 3 วันถึงจบ (สมาธิคนเราสั้นลงมาก) แต่ก็เข้าใจเหตุผลว่าตัว source material ฉบับนิยายมีรายละเอียดมาก การอัดลงมาในหนัง 3 ชั่วโมงถือว่าทำได้ยอดเยี่ยมมากแล้ว
- แม้หนังยาวถึง 3 ชั่วโมง แต่พอได้ดูอีกรอบก็พบว่า หนังจำเป็นต้องละทิ้งรายละเอียดสำคัญจากหนังสือไป 2 จุดหลักๆ
- ลูกน้องในตระกูล Corleone เองที่มีหลายคน ในหนังสือมีเวลาอธิบายเรื่องนี้พอสมควร แต่ในหนังเราแทบไม่เห็นคนอื่นเลย นอกจาก Luca Brazi ที่โผล่มาแป๊ปเดียวก็ตาย กับ Clemenza ที่มีบทบาทเยอะหน่อย แต่จริงๆ จุดพลิกของหนังคือการเฉลยว่าใครคือคนทรยศ ซึ่งก็คือ Tessio ที่กว่าจะถูกเอ่ยชื่อในหนัง ก็แทบใกล้จบเรื่องแล้ว
- กลุ่มมาเฟีย 5 ตระกูล ที่มีสายสัมพันธ์ระหว่างกันซับซ้อน และตัวร้ายจริงๆ คือ ตระกูล Barzini ที่แอบชักใยอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเราแทบไม่เห็นโผล่มาสักเท่าไรเลย มาทีเดียวตอนการประชุมผู้นำมาเฟีย ที่ Don Vito บอกว่ารู้แล้วว่าใครคือผู้บงการ แต่ในหนังสือมีรายละเอียดตรงนี้อยู่พอสมควร
- อีกฉากที่ดีมากคือตอนจบ ฉาก Michael Corleone “เอาคืน” กลุ่ม 5 ตระกูล โดยตัดสลับกับฉากพิธีอาบน้ำทารก เป็นสัญญะเรื่องเกิด vs ตายที่ชัดเจน
เกร็ดอื่นๆ ที่เพิ่งทราบในการดูหนังรอบนี้คือ
- Francis Ford Coppola ผู้กำกับเรื่องนี้ อายุแค่ 33 ปีตอนที่หนังฉาย และอายุ 30 ปีตอนเริ่มโปรเจค เรามักเห็นภาพ Coppola ตอนแก่ๆ อย่างเดียว แต่แกกำกับเรื่องนี้ตอนที่ยังค่อนข้างหนุ่มพอสมควรเลย (Al Pacino อายุพอๆ กันคือ 32 ตอนที่หนังฉาย) เขาให้สัมภาษณ์ว่าตอนแรกไม่อยากทำ แต่จำเป็นต้องหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวเลยต้องรับ
- วิธีการทำงานของ Coppola คืออ่านนิยายแล้วฉีกหนังสือเป็นแผ่นๆ นำมาแปะลงกระดาษที่แผ่นใหญ่กว่า แล้วเขียนโน้ตถึงไอเดียต่างๆ ที่เขานึกได้ของแต่ละฉาก ว่าฉากนี้ควรเล่นใหญ่ ฉากนี้ไม่ควรมีอะไรบ้าง รวมเป็นแฟ้มเอาไว้เป็นคัมภีร์อ้างอิงระหว่างตอนถ่ายทำหนัง มีภาพตัวอย่างให้ดูในบทความของ Hollywood Reporter และมีฉบับก็อปปี้พิมพ์ขายเมื่อปี 2016 สำหรับนักสะสม
- Richard Conte คนที่รับบทเป็น Don Barzini มาแคสต์ชิงบท Don Vito ด้วย แต่สุดท้ายไม่ได้เป็น
- บ้านที่ใช้ถ่ายหนังเป็นบ้านของตระกูล Corleone ปัจจุบันก็ยังอยู่ (อยู่ที่เกาะ Staten ในนิวยอร์ก) แต่กำแพงและประตูบ้านที่เราเห็นกลุ่มมาเฟียไปยืนเฝ้า จอดรถเฝ้านั้น สร้างขึ้นเฉพาะตอนถ่ายหนัง พอถ่ายเสร็จก็เอาออก – Source
- ร้านอาหาร Louis Restaurant ที่ Michael สังหาร Sollozzo นั้นเป็นร้านอาหารจริงๆ แต่ปิดตัวไปนานแล้ว ปัจจุบันกลายเป็นร้านขายของอื่น – Source
- หัวม้าในเรื่องคือหัวม้าของจริง แต่ไม่ได้ฆ่าเพราะใช้ถ่ายหนัง แต่นำมาจากบริษัทผลิตอาหารหมาที่ต้องฆ่าม้าเอาเนื้ออยู่แล้ว
- ฉากที่ Sonny ขับรถแล้วถูกฆ่าที่ด่านทางด่วน ไม่มีทางด่วนจริงๆ เป็นถนนในสนามบิน แล้วสร้างบูธเก็บเงินทางด่วนขึ้นมาใช้ถ่ายหนัง
- เมืองบนเขาในเกาะซิซิลี ที่ใช้ถ่ายหนังคือเมือง Savoca
อีกประเด็นที่ควรค่าแก่การเขียนถึงคือ มุมมองของ Coppola ต่อการถ่ายทอดหนังเรื่องนี้ สรุปธีมหลักของหนังในสายตาผู้กำกับออกมาได้ดีมาก
“Upon that second reading, much of the book fell away in my mind, revealing a story that was a metaphor for American capitalism in the tale of a great king with three sons:
- the oldest was given his passion and aggressiveness,
- the second his sweet nature and childlike qualities,
- and the third his intelligence, cunning, and coldness.”
น่าเสียดายเหมือนกันว่าในหนังมีบทของ Fredo ในฐานะลูกคนที่สอง ด้านที่อ่อนแอของ Vito น้อยไปสักนิดหนึ่ง