จากกรณีข่าว Airbus A380 ยุติสายการผลิต สิ้นยุคสมัยของเครื่องบินซูเปอร์จัมโบ้ 2 ชั้นที่เมื่อก่อนถือว่าสุดยอดแห่งความหรู
ก็เกิดคำถามว่าเพราะเหตุใด A380 ถึงจบสิ้นกันอย่างนี้
พวกเราๆ อยู่นอกแวดวงการบินเลยอาจเซอร์ไพร์ส แต่จริงๆ ในวงการก็รู้กันมานานพอสมควร และทำนายเรื่องนี้ได้ไม่ยาก
เท่าที่อ่านมา ปัญหาของ Airbus A380 ไม่ได้อยู่ที่ตัว product แต่เป็นเพราะอุตสาหกรรมการบินต่างหากที่เปลี่ยนไป
เดิมที อุตสาหกรรมการบินมีโมเดลเส้นทางบินแบบ Hub & Spoke คือมี “ฮับการบิน” ตามภูมิภาคต่างๆ แล้วขนผู้โดยสารจากเมืองเล็กเมืองน้อย (Spoke) มารวมกันที่ Hub ด้วยเครื่องบินขนาดเล็ก จากนั้นค่อยขนผู้โดยสารจำนวนมากๆ ข้ามไปมาระหว่าง Hub ด้วยเครื่องบินลำใหญ่ๆ ที่ต้นทุนถูกกว่า นั่นก็คือ A380 เกิดมาเพื่อสิ่งนี้
ตัวอย่าง Hub ที่จับต้องได้และใกล้ตัวมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้น “ดูไบ” (ใครลองไปเดินสนามบินดูไบตอนกลางคืนสิ ไม่มีที่นั่ง) จึงไม่น่าแปลกใจที่ Emirates คือลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ A380 มานานหลายปี
แต่ภายหลัง โดยเฉพาะในยุค low-cost เฟื่องฟู โมเดลการบินแบบบินตรง (point-to-point) เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ความจำเป็นของการใช้เครื่องใหญ่บินจากฮับสู่ฮับจึงลดลงไป
เครื่องบินลำใหญ่จึงเกิดปัญหาว่าใหญ่เกิน จุผู้โดยสารได้ไม่เต็มลำ ไม่คุ้มค่าบินเหมือนเดิมอีกต่อไป นี่เป็นคำอธิบายว่าทำไม A380 ถึงได้รับความนิยมลดลงในช่วงหลังๆ มานี้
และในทางกลับกัน เครื่องที่เล็กลงมาอย่าง Boeing 737, Airbus A330 (สำหรับบินระยะสั้นในประเทศ) หรือ Boeing 787, Airbus A350 (สำหรับบินระหว่างประเทศ) ถึงได้รับความนิยมมากขึ้นแทน
การเปลี่ยนผ่านต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี (ออเดอร์ A380 ชุดสุดท้ายจะยังส่งมอบในอีก 2 ปีข้างหน้าให้กับ Emirates และ ANA) และ A380 ก็จะอยู่กับเราไปอีกหลายปี คล้ายกับที่ 747 เคยผ่านเส้นทางนี้มาก่อน
ลิงก์อ่านประกอบ : Washington Post, Quora