Raya and the Last Dragon ผลงานแอนิเมชันประจำปี 2021 ของ Disney ที่รอบนี้หันมาใช้ธีมเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีหลายส่วนหลักๆ ที่ใช้วัฒนธรรมของไทยด้วย
ดูจบสักพักแล้ว เพิ่งว่างมาเขียนสรุป มีเรื่องที่อยากเขียนถึง 3 ประเด็นคือ
- วิธีการเล่าเรื่องเน้น Diversity
- วิธีการเล่าเรื่องแบบ anime ญี่ปุ่น
- วิธีการเล่าเรื่องแบบไม่มีตัวร้าย
ทั้งสามประเด็นถือเป็นทิศทางที่น่าสนใจของ Disney/Pixar ที่พาการเล่าเรื่องของตัวเองเข้าสู่ยุคใหม่
Diversity of Race
ในฐานะคนไทย สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของ Raya ย่อมหนีไม่พ้นการอ้างถึงวัฒนธรรมไทย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก
เนื่องจาก Raya มีคนไทยอยู่ในทีมด้วยคือคุณฝน วีระสุนทร แอนิเมเตอร์คนไทยใน Disney ที่เป็น Head of Story ของ Raya ทำให้เราได้รู้เบื้องหลังการแต่งเรื่องและเซ็ตติ้งค่อนข้างละเอียด เช่น กระบวนการสร้างเริ่มจากการตั้งเป้าว่าจะทำเรื่องเอเชีย แต่สุดท้ายโฟกัสมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบรวมๆ นอกจากคุณฝนแล้ว ในทีมก็ยังมีคนเขียนบทชาวมาเลเซียและเวียดนามด้วย (บทสัมภาษณ์ในไทยรัฐ, The Standard)
ผมคิดว่า Raya เป็นตัวอย่างที่ดีของ Disney ที่ต้องการตอบสนองต่อวิธีคิดเรื่องความหลากหลาย (diversity) ทั้งในเชิงเชื้อชาติ วัฒนธรรม เพศ ฯลฯ ที่กำลังมาแรงในโลกตะวันตกช่วงหลัง และในอีกแง่ก็เป็นการขยายฐานแฟนใหม่ๆ ให้รู้สึกใกล้ชิดกับตัวละครของดิสนีย์มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลในทางธุรกิจไปยังช่องทางอื่นๆ เช่น การซื้อของที่ระลึกหรือการไปร่วมประสบการณ์ใน Disneyland เป็นต้น
หากย้อนไปดูในอดีต Disney เองก็พยายาม “เล่าเรื่อง” ที่ไม่ได้มีตัวเอกหลักเป็นคนผิวขาวมาแล้วหลายครั้ง เช่น
- ยุค 90s มี Aladdin (1992), Pocahontas (1995), Mulan (1998) กรณีของ Aladdin ฉบับการ์ตูนอาจไม่ได้ชัดมากเพราะมีความเป็นนิทานสูง แต่เคสของ Mulan นั้นชัดมาก (ถ้าใครเคยดู Pocahontas 2 ฉบับวิดีโอ จะมีพูดถึงประเด็นการปรับตัวในโลกคนขาวของโพคาฮอนทัสด้วยเหมือนกัน)
- ยุค 2000s มีเรื่องเดียวคือ The Princess and the Frog (2009) ที่เป็นนางเอกผิวดำคนแรกของค่าย สถานที่ยังเลือกเป็น New Orleans ซึ่งเป็นพื้นที่ประเด็นเรื่องความแตกต่างของสีผิวและวัฒนธรรมสูง
- ยุค 2010s มีหลายเรื่อง ทั้งประเด็นผู้หญิง Frozen (2013)/Frozen II (2019), ชาวเกาะ Moanna (2016), ความเหลื่อมล้ำของเผ่า Zootopia (2016)
แนวทางของ Disney ใน ยุค 2020s ต้องมองว่าเป็นความต่อเนื่องจากยุค 2010s ตอนปลาย โดยมีทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Raya (2021) และละตินอเมริกัน Encanto (2021) ที่เพิ่งเข้าฉาย
เทรนด์นี้รวมไปถึงฝั่ง Pixar ที่เริ่มมีเรื่องต่างวัฒนธรรมมากขึ้น เช่น Coco (เม็กซิกัน), Luca (อิตาลี), Soul (ตัวเอกคนดำ) หรือเรื่องถัดไปคือ Turning Red (เด็กหญิงเชื้อจีนในแคนาดา)
ไม่รู้ความเป็นคนไทยมีผลด้วยหรือไม่ ผมไม่ค่อยอินนักกับการยำๆ รวมชื่อตัวละครจากหลายเผ่าพันธุ์เข้ามาใน Raya ทำไมคนชื่อ บุญ ทอง น้อย ถึงมาอยู่ร่วมกับ ซิซู หรือ นามาริ ได้ โดยที่ไม่มีแพทเทิร์นที่ชัดเจน เช่น หมู่บ้านนี้ชื่อคนไทย อีกหมู่บ้านชื่อคนจีน คนเวียดนาม (แต่คนดูในโลกตะวันตกอาจไม่รู้สึกแปลกแยกนัก และอาจรู้สึกว่า exotic ดีก็เป็นได้)
Anime Elements
ประเด็นถัดมาที่เห็นได้ชัดเจนมากใน Raya คือ การเล่าเรื่องแบบอนิเมะหรือเกมของญี่ปุ่น การที่มังกรในตำนานล่มสลาย คริสตัลแตกเป็น 5 ส่วนต้องไปเก็บทีละชิ้นจาก 5 เผ่า แถมได้พวกเพิ่มมาทีละเผ่า นี่มันพล็อต JRPG แบบ Final Fantasy ชัดๆ และค่อนข้างเซอร์ไพร์สที่ได้เห็นพล็อตแบบนี้ในแอนิเมชันตะวันตกแบบ Disney
เอาจริงนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Disney พยายามใช้อนิเมะแบบญี่ปุ่นมาก่อน เราเคยเห็นการ์ตูนอย่าง Big Hero 6 มาก่อนแล้ว หรืออย่างกรณี Frozen 2 ใช้เรื่องธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ (นี่มัน Bastard หรืออะไรกัน!) พอมาเป็น Raya ก็ชัดเจนมากว่าได้รับอิทธิพลมา
อย่างไรก็ตาม พล็อตการตามหาชิ้นส่วน พร้อมกับรวบรวมพรรคพวกลักษณะนี้ มันเหมาะกับการเล่าเรื่องแบบยาวๆ (เช่น เกม หรือ ทีวีซีรีส์) มากกว่าการเล่าแบบหนังใหญ่ ทำให้ Raya เจอปัญหาว่าต้องเร่งเล่าเรื่องอย่างรวบรัดมากๆ (จะเห็นว่าเนื้อเรื่องของ ทอง ในหมู่บ้านหิมะ นั้นสั้นมากๆ) ความผูกพันและมิตรภาพในกลุ่มของตัวเอกจึงไม่ค่อยเด่นนัก เพราะมีเวลาสร้างความผูกพันตรงนี้น้อย
ส่วนตัวผมจำชื่อไม่ได้ว่าใครอยู่หมู่บ้านไหน (เขี้ยว เล็บ หาง สันหลัง) มันปนๆ กันไปหมด
No Villain
ประเด็นนี้ได้ไอเดียมาจากบทความใน Polygon ที่เขียนถึงเทรนด์ของหนัง Disney ช่วงหลัง (Moanna, Frozen, Raya, Encanto) ว่าเปลี่ยนมาใช้แนวทาง “ไม่มีตัวร้าย” (no villain) ในที่นี้คือไม่มีตัวร้ายแบบ Maleficent หรือ Cruella ให้เห็นเป็นบุคคลชัดๆ แบบสมัยก่อน (the archetypal Disney villain) แต่ตัวเอก Disney ยุคหลังต้องมาสู้กับสถานการณ์ ปรากฏการณ์ หรือปัญหาบางอย่างแทน
แนวทางใหม่ของ Disney เริ่มจาก Moanna (2016) ที่ต้องสู้กับเกาะที่เสียสมดุล กลายเป็นเกาะภูเขาไฟระเบิด กรณีของ Frozen 2 ก็คล้ายๆ กันคือตัวเอกต้องสู้กับความไม่สมดุลของธรรมชาติ (นี่คือ Elza หรือ Greta!)
ส่วน Raya ต้องสู้กับเผ่าสัตว์ประหลาด Drunn ที่ทั้งเรื่องไม่อธิบายเลยว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร (แต่ละเผ่าเลิกทะเลาะกัน รวมพลังมิตรภาพ ชนะ จบ! ยังกับการ์ตูนโชเน็นยุค 80s)
ผมคิดว่าปัญหาในการเล่าเรื่องแบบไร้ตัวร้ายของ Disney อยู่ที่การไม่ค่อยอธิบายที่มาที่ไปของเรื่องมากนัก เราดู Raya จนจบแล้วยังไม่รู้เลยว่า Drunn คืออะไร ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับ Frozen 2 คือไม่รู้ว่าทำไมจู่ๆ ธรรมชาติถึงมาพิโรธเอาตอนนี้ (ทำไมไม่พิโรธตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน) การไม่อธิบายกลไกของโลกแฟนตาซี (world mechanic) ทำให้เรื่องไปไม่สุดนัก
กล่าวโดยสรุปคือ ผมไม่ค่อยชอบ Raya มากนัก ถึงแม้จะแสดงให้เห็นเทรนด์ใหม่ของ Disney 3 เรื่อง แต่ execution กลับทำได้ไม่ดีในทั้ง 3 เรื่อง
- Diversity ถือว่าพอได้ในแง่ความพยายาม แต่หาแพทเทิร์นของเชื้อชาติที่เอามายำรวมกันไม่ได้
- Anime Elements ตามหาชิ้นส่วน 5 ชิ้น มันเร่งเกินไปสำหรับหนังใหญ่ รวบรัดจนไม่สนุก
- No Villain ไม่อธิบายอะไรใดๆ เกี่ยวกับโลกในเรื่อง
งานภาพทำได้สวยงามดีสมราคา Disney, บุคลิกของตัวเอก Raya ออกแบบมาเท่ดี น่าเสียดายว่าความสัมพันธ์ love-hate กับ Namari น่าจะทำได้ลงลึกกว่านี้ นานทีปีหนเราค่อยเห็นตัวเอก Disney มีคู่ปรับ (rival) ชัดเจนแบบนี้ แต่กลับทำได้ไม่น่าจดจำเท่าไร