ผมหัดเล่นหมากรุกในสมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต และแหล่งข้อมูลที่เป็นหนังสือก็ไม่ค่อยมีนัก ดังนั้นเด็กรุ่นเดียวกันแทบทุกคนจึงเรียนวิธีการเล่นแบบ oral training คือมีคนรู้จักสักคนมาเล่นให้ดู จำวิธีเดินให้ได้ แล้วก็เรียนรู้ทริคจากการลองผิดลองถูกบนกระดานจริงๆ
นอกจากนี้ การที่หมากรุกไทยมีกฎการเล่นที่แตกต่างจากหมากรุกฝรั่งอยู่บ้าง และคนไทยก็นิยมเล่นหมากรุกไทยมากกว่า ทำให้ผมไม่ค่อยมีโอกาสได้เล่นหมากรุกฝรั่งสักเท่าไรนัก
แค่โอกาสในการเล่นก็น้อยแล้ว โอกาสในการเรียนกฎหรือรายละเอียดของโลกหมากรุกฝรั่ง ยิ่งแทบไม่มีเลยด้วยซ้ำ เพราะไม่รู้จะไปหาอ่านจากที่ไหน
ข้ามเวลามาเกือบ 30 ปี ในโลกที่มีอินเทอร์เน็ตแล้ว ช่วงนี้กำลังดูซีรีส์เรื่อง The Queen’s Gambit จึงได้มีโอกาสศึกษากฎและเทคนิคของหมากรุกฝรั่ง ตามศัพท์ที่ถูกพูดถึงในเรื่องบ้าง (ส่วนซีรีส์ไว้ดูจบแล้วค่อยเขียนถึงต่อไป)
สิ่งแรกที่สงสัยคือ เทคนิคตามชื่อซีรีส์ Queen’s Gambit มันคืออะไรกันแน่?
หมากรุกฝรั่งเป็นศาสตร์ที่มีมายาวนานหลายร้อยปี เล่นกันในหมู่คนชั้นสูง ปัญญาชน นักวิชาการมายาวนาน จึงมีการศึกษาเทคนิคการเล่นอย่างจริงจัง เขียนเป็นตำรามากมาย
ช่วงเวลาแต่ละช่วงระหว่างการเล่นหมากรุกแต่ละกระดาน จึงมีชื่อเรียกคือ
- opening ช่วงเริ่มเกม เดินกันตาแรกๆ
- middlegame ช่วงกลางเกม
- endgame ช่วงท้ายเกม
เอาแค่ช่วงเปิดเกม วิธีเดินในช่วง 2-3 ตาแรกก็มีแพทเทิร์นมากมายเป็นพันๆ แบบ ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป (และนักกีฬาหมากรุก หรือผู้สนใจหมากรุก ต้องหัดเรียนรู้ ท่องจำให้ปรุ)
Queen’s Gambit เป็นชื่อท่าเดินช่วงเปิดเกม (opening) ยอดนิยมแบบหนึ่ง ที่นำมาตั้งเป็นชื่อซีรีส์ (น่าจะด้วยเหตุผลเพราะว่าตัวเอกเป็นผู้หญิง) แต่จริงๆ แล้วก็มีท่าเปิดที่เรียกว่า King’s Gambit ด้วยเช่นกัน
Queen’s Gambit
Queen’s Gambit เป็นท่าเปิดที่ค่อนข้างมาตรฐานของวงการหมากรุกฝรั่ง โดยเริ่มจาก
- หมากขาว เดินตัวเบี้ย (pawn) จากตำแหน่ง d2 –> d4
- หมากดำ เดินเบี้ย (pawn) มาชนกันคือ d7 –> d5
- หมากขาว เดินเบี้ยอีกตัวที่อยู่ข้างกัน จาก c2 –> c4
การเดินเบี้ยตัวที่สองของหมากขาว เป็นการท้าทาย (gambit) ให้เบี้ยดำ d5 มากินเบี้ยของเรา ซึ่งความเป็นไปได้มีอยู่ 2 ทางคือ
- เบี้ยดำยอมกินเบี้ยขาว มีชื่อเรียกว่า Queen’s Gambit Accepted (QGA)
- เบี้ยดำไม่ยอมกินเบี้ยขาว ไปเดินอย่างอื่นแทน เรียกว่า Queen’s Gambit Declined (QGD)
ซึ่งแต่ละทางก็มีเส้นทางไปต่ออีกหลายแบบ (variation) ที่ชาวหมากรุกมีชื่อเรียกซอยย่อยต่อกันไปอีก
ส่วนเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมีคำว่า Queen นำหน้าด้วยนั้น ก็เป็นเพราะเป็นการเดินเบี้ยช่อง d ที่อยู่ตรงหน้าตัวราชินี (Queen) นั่นเอง
หมายเหตุ: 2 ตาแรกที่เดินเบี้ยมาชนกัน (ก่อนเริ่ม gambit) ก็มีศัพท์เรียกว่า Closed Game
King’s Gambit
ถ้ามี Queen’s Gambit แล้ว ก็ต้องมี King’s Gambit ด้วยสิ หลักการของ King’s Gambit ก็เหมือนกันเป๊ะ เพียงแต่เปลี่ยนจากช่อง d/e มาเป็นช่อง e/f ที่อยู่หน้าตัวพระราชา (King) แทน
- หมากขาว เดินเบี้ย (pawn) จาก e2 –> e4
- หมากดำ เดินเบี้ย (pawn) มาชน จาก e7 –> e5
- หมากขาว เดินเบี้ย (pawn) จาก f2 –> f4 เพื่อล่อให้เบี้ยดำกิน
สถานการณ์ถัดจากตานี้ ก็แบ่งเป็น 2 สายคือ King’s Gambit Accepted และ King’s Gambit Declined เช่นกัน
หมายเหตุ: 2 ตาแรกที่เดินเบี้ยมาชนกัน (ก่อนเริ่ม gambit) ก็มีศัพท์เรียกว่า Open Game
Sicilian Defense
นอกจาก King’s Gambit และ Queen’s Gambit แล้ว ท่าเปิดอีกท่าที่เราได้ยินบ่อยๆ ในเรื่องคือ Sicilian Defense ถือเป็นท่าเปิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในวงการหมากรุก (จากสถิติคือ 25% ของเกมหมากรุก เปิดกันด้วยท่านี้)
- หมากขาว เดินเบี้ยจาก e2 –> e4
- หมากดำ เดินเบี้ยจาก c7 –> c5
คำว่า Sicilian Defense เป็นชื่อเรียกการป้องกัน (defense) ของหมากดำ เพราะเมื่อหมากขาวรุกเข้ามาที่ e4 การดันเบี้ยดำมาที่ c5 ช่วยให้หมากดำ “คุมเชิง” ปีกซ้ายของกระดานได้ โดยเฉพาะตำแหน่ง d4 ที่ถือเป็นจุดสำคัญกลางกระดาน (ถ้าไม่คุมตรงนี้ แล้วเบี้ยขาวตัวที่สองดันขึ้นมาที่ d4 อีกตัว เท่ากับเสียอำนาจคุมตรงกลางกระดานเลย)
ส่วนเหตุผลว่าทำไมต้อง Sicilian นั้นไม่แน่ชัด น่าจะเป็นการเรียกตามๆ กันมาของคนในยุคก่อน ซึ่งในวงการหมากรุกยุคเก่า ก็มีชื่อเรียกตามชาติหรือสถานที่แนวนี้อยู่พอสมควร เช่น Italian Game, Scotch Game, French Defense, English Defense, Indian Defense เป็นต้น คงเป็นจินตนาการหรือการพูดต่อๆ กันตามวิธีเล่นของคนแต่ละชาติในยุคก่อนๆ