in Manga

ชิมะ โคซาคุ ภาคประธานบริษัท

คำเตือน: มีการ spoil เนื้อหาในเรื่อง

ผมเป็นแฟนของการ์ตูนซีรีส์ “ชิมะ โคซาคุ” และตามอ่านแบบเงียบๆ มาได้สักพักใหญ่แล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้เขียนถึงยาวๆ สักที เมื่อไม่นานมานี้ทาง Siam Inter นำภาค 6 มาขายลดราคาแบบยกชุด เลยเป็นโอกาสดีที่จะซื้อแล้วอ่านรวดเดียวจบ จบแล้วก็ควรแก่การเขียนถึง

ชิมะ โคซาคุ เป็นการ์ตูนผู้ใหญ่ (Seinen) ที่มีเนื้อหาซีเรียสจริงจังกว่าการ์ตูนเด็ก-วัยรุ่น (Shonen) ตีพิมพ์ในนิตยสาร Morning มาตั้งแต่ปี 1983 มาถึงตอนนี้คือสี่สิบกว่าปี เนื้อเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์เงินเดือนหรือ salaryman ชื่อว่าชิมะ โคซาคุ ซึ่งทำงานในบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นชื่อ ฮัตสึชิบะอิเล็กทริกส์ (ชื่อเลียนแบบมาจาก Matsushita ชื่อเดิมของบริษัทแม่ Panasonic เพราะผู้เขียนการ์ตูนเคยทำงานที่นี่จริงๆ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนมาเขียนการ์ตูนเรื่องนี้)

เรื่องราวของชิมะ โคซาคุ เล่าตั้งแต่เขายังเป็นพนักงานตัวเล็กๆ แล้วไต่เต้า เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเรื่อยๆ ในแต่ละภาค ถ้านับภาคหลักทั้งหมดตอนนี้เข้าสู่ภาคที่ 9 แล้ว (ยังไม่จบด้วยนะ รายชื่อภาคทั้งหมด)

ส่วนที่พิมพ์ภาษาไทยโดย Siam Inter Comics ตอนนี้มาถึงภาคที่ 6 คือ “ภาคประธานบริษัท” ซึ่งเป็นช่วงที่ชิมะพระเอกของเรา ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในทางบริหาร โดยหลังจากจบภาคนี้ เขาจะย้ายตำแหน่งไปเป็นประธานกรรมการ (ประธานบอร์ด) ก่อนลดตำแหน่งลงเป็นที่ปรึกษาต่อไป

ในฐานะที่ตามอ่านมาทุกภาค ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่าภาค 1 สนุกที่สุด ด้วยเหตุว่าเนื้อเรื่องแปลกใหม่ ชิมะยังเป็นพนักงานระดับกลางๆ (อายุประมาณ 40 เป็นหัวหน้าแผนก) มีชีวิตโลดโผนโจนทะยาน ได้เดินทางไปทำงานยังที่ต่างๆ พัวพันกับสตรีมากหน้า และมีส่วนร่วมในการช่วงชิงอำนาจภายในฮัตสึชิบะผ่านก๊กเหล่าต่างๆ

ส่วนภาคถัดๆ มานั้น ชิมะเติบโตมากขึ้น ตำแหน่งใหญ่ขึ้น ความสนุก ตื่นเต้นเร้าใจแบบภาคแรกย่อมลดลงไป มีช่วงที่น่าเบื่ออยู่บ้าง กลายเป็นความผูกพันมากกว่า ที่เราอยากเห็นว่าชีวิตของชิมะจะไปสุดที่ตรงไหน ซึ่งในภาค 6 นี่ล่ะที่เขาได้เป็นประธานบริษัท (ระบบญี่ปุ่นเรียกประธาน ซึ่งหมายถึง CEO) เป็นเบอร์หนึ่งขององค์กรสักที

เนื้อหาของภาคประธานบริษัทยังมีความยาว 16 เล่ม ถือเป็นอันดับสองรองจากภาคแรกเท่านั้น พอชิมะมีบทบาทสำคัญทางบริหาร ภาคนี้จึงเล่าเรื่องยุทธศาสตร์ธุรกิจในภาพใหญ่ซะมากกว่าการผจญภัยยิบย่อยของชิมะ

เนื้อเรื่องของภาค 6 เกิดในช่วงปี 2008-2013 คือหลังโอลิมปิกที่ปักกิ่ง (มีกล่าวถึงในภาคที่แล้ว) ชิมะเข้ารับตำแหน่งประธานบริษัทคนแรกของ ฮัตสึชิบะ-โกะโย ที่เกิดจากการควบรวม (เทียบเท่ากับดีล Matsushita ซื้อ Sanyo ซึ่งผู้เขียนได้เขียนถึงก่อนที่จะเกิดขึ้นในโลกจริงด้วยซ้ำ) เล่าผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ ในโลกจริง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ ทำเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก, งาน Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้, แผ่นดินไหวญี่ปุ่นปี 2011, น้ำท่วมใหญ่ที่ไทยปี 2011/2554 (ไม่ได้มีฉากในเรื่อง แต่มีกล่าวถึงว่าสายการผลิตในไทยได้รับผลกระทบ)

ชิมะยังนำการรีแบรนด์ชื่อบริษัทใหม่จาก “ฮัตสึชิบะ-โกะโย” มาเป็น TECOT เพื่อให้แบรนด์กระชับ เหมาะกับการบุกตลาดโลกมากขึ้น ตรงนี้เทียบได้กับดีล Matsushita ตัดสินใจรีแบรนด์ชื่อบริษัทเป็น Panasonic ในปี 2008

หากเนื้อเรื่องของภาคแรกๆ เล่าถึงความรุ่งเรืองของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่น ที่บุกยึดอเมริกา ติดป้ายโฆษณาขนาดยักษ์บนตึกในนิวยอร์ก ซื้อกิจการสตูดิโอภาพยนตร์ (หมายถึงดีล Panasonic ซื้อ Universal ในปี 1990)

ธีมเหตุการณ์ในภาคหลังๆ เล่าความเสื่อมถอยลงของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่น ที่สนใจแต่ตลาดภายใน (ในเรื่องใช้คำว่า “กาลาปากอส” คืออยู่กันเฉพาะในเกาะตัวเอง) แล้วต้องพ่ายแพ้ให้บริษัทจากเกาหลีใต้ (ในเรื่องคือ “ซอมซัน” และ “PG” คงไม่ต้องอธิบายว่าหมายถึงบริษัทไหน)

ในเรื่องยังได้กล่าวถึงพัฒนาการของวงการอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่น เช่น การขายกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้กับ “นิจิชิบะ” (น่าจะหมายถึง Toshiba) แลกกับการที่ TECOT ซื้อกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าจากนิจิชิบะมาแทน

นอกจากนี้ยังนำเสนอแผนการ (ที่ยังไม่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง) คือการควบรวมบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นให้เหลือแค่ 2 รายคือ TECOT (Panasonic) และ โซลาร์ (Sony) เพื่อสเกลใหญ่ขึ้น สามารถแข่งขันกับบริษัทจากเกาหลีใต้ได้

TECOT และ Solar ยังจับมือกันพัฒนาทีวีราคาถูก เลิกผลิตเอง หันมาใช้ผู้ผลิต ODM จากไต้หวันชื่อว่า “ไห่หง” (Hon Hai หรือ Foxconn) ซึ่งถือว่าเป็นข้อเสนอที่เฉียบคมและสะท้อนทิศทางในโลกความเป็นจริงได้ตรงมากทีเดียว

ทิศทางธุรกิจของ TECOT ภาคนี้ยังขยับไปทำแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเริ่มมาแรงในช่วงที่เขียน พอมาอ่านเรื่องนี้ในปี 2024 ที่รถยนต์ไฟฟ้าล้นโลก แล้วยิ่งประทับใจในแง่วิสัยทัศน์ของผู้เขียนมาก

ในภาคประธานบริษัท ยังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างญี่ปุ่นกับจีนที่ย่ำแย่ลงมาก  โดยในเรื่องได้เขียนถึง ข้อพิพาทหมู่เกาะเตียวหยู / เซ็นกากุ ในปี 2012-2013 ซึ่งเหตุการณ์ในการ์ตูนเกิดขึ้นก่อนในโลกจริงอีกด้วย ต้องยอมรับว่าความรู้ด้านเศรษฐกิจการเมืองของผู้เขียนนั้นแม่นจริงๆ

ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีน บวกกับปัญหาค่าแรงจีนเริ่มแพง (ในยุคนั้น) ทำให้ TECOT ต้องวางแผนย้ายออกจากจีน ที่เคยเป็นพื้นที่ให้ชิมะได้โชว์ผลงานในภาคก่อนๆ เนื้อเรื่องของภาคนี้ทำให้ชิมะต้องเดินทางไปดูประเทศกลุ่ม BRICS ที่กำลังมาแรง (ในช่วงเวลาที่เขียนการ์ตูนคือประมาณปี 2010) ได้แก่ รัสเซีย บราซิล และอินโดนีเซีย รวมถึงกล่าวถึงการไปดูเหมืองลิเทียมที่โบลิเวียด้วย

เราได้เห็นตัวละครเก่าๆ อย่าง ลอร่า อดีตเลขาชาวฟิลิปปินส์ของชิมะ (ถ้าจำไม่ผิดโผล่มาในภาค 1 ตอนท้ายๆ ที่ชิมะโดนย้ายไปฟิลิปปินส์) กลับมาอีกครั้งในฐานะภรรยาของนักการเมืองอินโดนีเซีย (เป็นพล็อตที่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไรนัก 555 แต่ก็ดีที่ได้เห็นตัวละครเก่าๆ ย้อนกลับมา)

ปัญหาของชิมะ โคซาคุ ในแง่พล็อตเรื่องที่บางครั้งดูฝืดๆ ไปบ้างก็ยังมีอยู่เช่นเดิม เช่น ชิมะเดินทางไปร้านอาหารลับตาคนในต่างประเทศ แล้วเจอหัวหน้าของบริษัทคู่แข่ง (ซอมซัน) มาคุยธุรกิจลับๆ กันเลยได้ยินเข้าโดยบังเอิญ, เลขาของชิมะไปบราซิลแล้วโดนนักฟุตบอลดาวรุ่งมาจีบ ทั้งที่อายุน้อยกว่ากัน 20 ปี หรือ สงครามยึดอำนาจภายในบริษัทที่รอบนี้จบแบบง่ายๆ ไม่ตื่นเต้นเหมือนสมัยชิมะยังเป็นพนักงานตัวเล็กๆ อย่างไรก็ตาม ปัญหาพวกนี้ก็ถือว่าพอยอมรับได้ เพราะตัวโครงเรื่องใหญ่ยังสนุกอยู่

ในแง่ความรักของชิมะ ภาคหลังๆ ไม่ได้ผจญภัยมากเท่ากับภาคแรกๆ แล้ว แต่พัฒนาการสำคัญของภาคนี้คือ ในที่สุดชิมะก็ได้แต่งงานกับนางเอกของเรื่องคือ โอมะจิ คุมิโกะ สักที

โอมะจิ คุมิโกะ ถือเป็นตัวละครที่เด่นมากในเรื่อง เธอโผล่มาตอนกลางๆ ของภาคแรกในฐานะลูกน้องของชิมะ แต่จริงๆ แล้วเธอเป็นลูกสาวนอกสมรสของประธานผู้ก่อตั้งบริษัท กับสาวเกอิชาที่คบกัน ทำให้เธอได้มรดกเป็นหุ้นจำนวนมหาศาลของฮัตสึชิบะด้วย แต่ด้วยความที่ใช้ชีวิตแบบขาดพ่อมาตั้งแต่เด็ก แม่ก็มีไลฟ์สไตล์เปลี่ยนผู้ชายไม่ซ้ำหน้า ทำให้เธอมีชีวิตรักแบบฟรีสไตล์ ไม่ยึดติดหรือคิดจะลงหลักปักฐานกับใครด้วย แม้ว่าชอบชิมะมาก แต่ก็มีอิสระในการไปคบกับคนอื่น ทำให้เส้นทางของชีวิตทั้งสองคนคบกันกึ่งๆ คนรัก หึงกันไปมา แต่ก็ไม่ยอมแต่งงานกัน

ต้องยอมรับว่าผู้เขียนสร้างตัวละครคุมิโกะออกมาได้น่าสนใจมากจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ภาคนี้ชีวิตของเธอมีพลิกผันตรงค้นพบว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็ง แม้ผ่าตัดเรียบร้อยดี แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตทำให้เธอตัดสินใจขอชิมะแต่งงานก่อนวันผ่าตัด ซึ่งเป็นการจดทะเบียนเงียบๆ ไม่ได้บอกใครเลย ถือเป็นฉากแต่งงานที่เหมาะมากสำหรับคู่นี้ที่คบกันแบบ on-off มายาวนาน

ในภาคประธานบริษัท ยังมีตอนพิเศษเป็นเรื่องเล่าของชิมะในวัยนักเรียนมัธยม (Student Shima Kozaku) จุดเปลี่ยนชีวิตที่เขาได้รู้จัก “เพนเฟรนด์” เป็นสาวสวยลูกครึ่งญี่ปุ่น-เกาหลีเหนือ และทำให้เขาตัดสินใจเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยที่โตเกียว เพราะอยากไปเจอกับเธออีกครั้งด้วย (อยู่ในรวมเล่มฉบับ 14)

กล่าวโดยสรุปแล้ว การได้เห็นชีวิตของชิมะ โคซาคุ ในจุดสูงสุดตำแหน่งประธานบริษัท ในฐานะแฟนๆ ก็ถือว่า fulfill เหมือนกัน เพราะติดตามชีวิตของเขามานานจนอยากรู้ว่าจะไปสุดที่ตรงไหน หลังจากนี้ ชิมะในวัย 60 กว่าๆ (เขาเกิดปี 1947 ในเรื่องอายุ 64 ตอนจบภาค) จะรับงานนอกบริษัทมากขึ้น มีบทบาทในนโยบายเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะนโยบายด้านอุตสาหกรรม-การค้าระหว่างประเทศตามที่เขาถนัด ก็คงต้องรอ Siam Inter พิมพ์ออกมาขายกันต่อไป