ภาพประกอบ nagualdesign / Tom Ruen (Wikipedia)
ปี 1846 เราค้นพบดาวเนปจูน ในฐานะดาวเคราะห์ดวงที่แปด
ปี 1930 เราค้นพบดาวพลูโต ในฐานะดาวเคราะห์ดวงที่เก้า
แต่พลูโตก็ถูกวิจารณ์ว่ามีขนาดเล็กเกินไป จนสุดท้ายเสียสถานะดาวเคราะห์ (planet) กลายเป็นดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) ทำให้ตำแหน่งดาวเคราะห์ดวงที่เก้า (Planet Nine) ว่างลง
ที่ว่างตรงนี้ จึงมีทฤษฎีขึ้นมาในหมู่นักดาราศาสตร์ว่า มันน่าจะยังมีดาวเคราะห์ดวงที่เก้าอยู่จริงๆ สิ แต่ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ แถมความเห็นก็มีหลากหลาย เช่น บ้างก็ว่ามันควรเป็นดาวเคราะห์ยักษ์ (giant planet) ดวงที่ห้า ถัดจากดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน
หรือบ้างก็ว่า ดาวมันไม่ใหญ่หรอก ประมาณโลกหรือดาวอังคารนี่ล่ะ ในบทความล่าสุดที่อ่าน ก็พูดถึง Planet Nine ในแง่นี้
พออ่านแล้วเลยไปรื้อฟื้นความรู้ดาราศาสตร์กลับคืนมาบ้าง พบว่ามนุษย์ค้นพบวัตถุหลายอย่างที่อยู่ถัดจากดาวเนปจูนออกไป (extreme trans-Neptunian objects – ETNO) ถ้านับเฉพาะกลุ่มดาวเคราะห์แคระ ก็อย่างเช่น Pluto (ใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้), Eris (2005), Haumea (2004), Makemake (2005), Gonggong (2007), Quaoar (2002), Sedna (2003)
ชื่อแปลกๆ เหล่านี้มาจากการตั้งชื่อดาวเคราะห์แคระตามเทพเจ้าของประเทศต่างๆ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือผู้ค้นพบดาวเคราะห์เหล่านี้คือทีมของ Michael E. Brown จากมหาวิทยาลัย Caltech ที่เจอเยอะมากในช่วงปี 2003-2008
Brown กับเพื่อนร่วมงานอีกคน Konstantin Batygin ยังเป็นแกนหลักสำคัญในการเสนอทฤษฎี Planet Nine ด้วย
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่เรายังหา Planet Nine ไม่เจอ อาจเป็นเพราะวงโคจรของมันไกลมากๆ ซึ่งดาวเคราะห์แคระ Sedna ก็เป็นดาวตัวอย่างที่มีวงโคจรไกลมาก จากภาพตัวอย่างใน Wikipedia วงสีม่วงคือวงโคจรของ Pluto ส่วนสีแดงคือ Sedna จะเห็นว่าห่างกันหลายเลเวลเลย
ตัวอย่างข้อเสนอวงโคจรที่น่าจะเป็นไปได้ของ Planet Nine
ข้อมูลเพิ่มเติม
อัพเดต กรกฎาคม 2024