in Knowledge

Oort Cloud

อ่านเรื่อง Oort Cloud (อูร์ตคลาวด์) กลุ่มเศษน้ำแข็งที่ลอยอยู่ด้านนอกสุดของระบบสุริยะ (Solar System) เลยมาจดบันทึกไว้

  • ณ ปัจจุบันนี้ Oort Cloud ยังเป็นเพียงข้อเสนอในเชิงทฤษฎีของ Jan Oort นักดาราศาสตร์ชาวดัทช์ ที่เสนอไว้เมื่อปี 1950 เท่านั้น ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถตรวจจับได้ว่า ที่ขอบรอบนอกของระบบสุริยะ มีกลุ่มเศษหินเศษน้ำแข็งเหล่านี้อยู่จริงๆ ด้วยเหตุผลว่า วัตถุมีขนาดเล็กและอยู่ไกล ด้วยเทคโนโลยีด้านกล้องโทรทรรศน์ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถตรวจจับได้
  • ข้อเสนอว่ามี Oort Cloud เกิดจากปรากฏการณ์ “ดาวหาง” (comet) ในระบบสุริยะ โดยดาวหางมี 2 ประเภทคือ
    • ดาวหางระยะสั้น (short-period comet) เช่น ดาวหางฮัลเลย์ โคจรมาทุก 75 ปี วงโคจรไปถึงแค่แถวๆ เลยดาวเนปจูนไปอีกหน่อย ดาวหางประเภทนี้มีแหล่งที่มาจากแถบคุยเปอร์ (Kuiper Belt) กลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่อยู่เลยดาวเนปจูนออกไป (เสนอโดย Gerard Kuiper นักดาราศาสตร์ชาวดัทช์อีกเหมือนกัน เสนอไว้ปี 1951) ดาวพลูโตและดาวเคราะห์แคระอื่นๆ อยู่ในบริเวณนี้
    • ดาวหางระยะยาว (long-period comet) วงโคจรรอบดวงอาทิตย์จะยาวนานกว่ามาก เช่น 200 ปีไปจนถึงแสนๆ ปี นักวิทยาศาสตร์เลยตั้งคำถามว่าแล้วแหล่งที่มาของมัน ช่วงที่ไม่มาใกล้ดวงอาทิตย์ นั้นมาจากไหนกัน เลยเป็นทฤษฎีขึ้นมาว่ามาจากแถบเศษหินที่ไกลกว่า Kuiper Belt และนั่นคือ Oort Cloud

เส้นระยะทางของระบบสุริยะ (เป็น log scale) ภาพจาก NASA

  • แถบ Kuiper Belt มีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 30-50 AU (AU คือหน่วยวัดระยะจากโลกถึงดาวอาทิตย์) ส่วน Oort Cloud ไกลกว่านั้นมากคือ 2,000-200,000 AU
    • ยานอวกาศที่ไปไกลจากโลกที่สุดคือ Voyager 1 ตอนนี้อยู่ห่างจากโลกประมาณ 163 AU (ณ ปี 2024) ต้องใช้เวลาอีก 300 ปีกว่าจะไปถึงระยะที่คาดว่าจะมี Oort Cloud

  • หน้าตาของ Kuiper Belt เป็น “แถบ” (belt) หรือ “แผ่นจาน” (disc) ทรงสองมิติ ตามระนาบ (plane) การหมุนของดวงอาทิตย์ (Ecliptic Plane) เช่นเดียวกับวงโคจรของดาวเคราะห์ทั้ง 8 ดวง
  • แต่หน้าตาของ Oort Cloud สันนิษฐานกันว่าต่างไป โดยมีส่วนที่เป็นทั้งแผ่นจาน และส่วนที่เป็นทรงกลม (sphere) ครอบระบบสุริยะทั้งหมดเอาไว้
    • ส่วนด้านในที่เป็นแผ่นจาน มีอีกชื่อว่า Hills cloud เสนอโดยนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน Jack G. Hills ในปี 1981 โดยมองว่า Oort Cloud น่าจะมีชิ้นส่วนชั้นในอยู่ด้วย
    • ส่วนภายนอกอยู่ไกลออกไปมาก วัตถุใน Oort Cloud ด้านนอกจึงเคลื่อนที่ได้อิสระกว่า ไม่ต้องเคลื่อนตามระนาบ Ecliptic Plane เหมือนกับ Hills Cloud

ภาพจาก ESA

  • การเกิดขึ้นของ Oort Cloud คาดว่าเป็นวัตถุที่หลงเหลือจากการหลอมรวมเป็นดาวเคราะห์ใน 4.6 พันล้านปีก่อน ส่วนที่ไม่ได้ถูกรวมเป็นดาวเคราะห์ก็ล่องลอยไปเรื่อยๆ โดยกลุ่มที่อยู่ตรง Oort Cloud คือไม่ได้อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จนถูกดูดเข้ามาเป็นดาวเคราะห์ และไม่ได้อยู่ไกลจนลอยออกไปในอวกาศเวิ้งว้างนอกระบบสุริยะ แต่ติดกับดักแรงโน้มถ่วงของระบบสุริยะอยู่แถบๆ นี้

บทความเก่าที่เกี่ยวข้อง

  • Planet Nine ดาวเคราะห์ดวงที่เก้า มีจริงหรือไม่

อ้างอิง