in Movies

Murder on the Orient Express

ปกติแล้วไม่ได้เป็นแฟนนิยายนักสืบเท่าไรนัก ถ้านับซีรีส์ปัวโรต์ (Poirot) ของ Agatha Christie เคยอ่านนิยายแค่ 1-2 เล่มเมื่อนานมากแล้ว และไม่ใช่นิยายเล่มดังๆ ด้วย (ลืมหมดแล้วว่าเล่มไหน)

เมื่อนิยายชุด Poirot ถูกนำมาทำเป็นหนังใหม่อีกครั้ง เลยลองดูสักหน่อยว่าเป็นอย่างไร เริ่มจาก Murder on the Orient Express หนังปี 2017 ที่ทั้งเล่นและกำกับโดย Kenneth Branagh นักแสดงชาวอังกฤษ (Gilderoy Lockhart ในหนัง Harry Potter ภาค 2) โดยมีดาราดังๆ มาร่วมเล่นเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมอย่างคับคั่ง เช่น Penélope Cruz, Willem Dafoe, Judi Dench, Johnny Depp, Michelle Pfeiffer, Daisy Ridley

Murder on the Orient Express เป็นนิยายชุด Poirot ในปี 1934 ช่วงความสงบชั่วคราวระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 (interwar) นักสืบชาวเบลเยียม Hercule Poirot (อ่านว่า แอคูล ปัวโร ตามภาษาฝรั่งเศส) ต้องมายุ่งกับคดีฆาตกรรมบนรถไฟด่วนสาย Orient Express โดยบังเอิญ

ในยุคที่การเดินทางด้วยเครืองบินยังไม่มี การเดินทางในภาคพื้นยุโรปต้องใช้รถไฟเป็นหลัก มีรถไฟตู้นอนหรูหราสำหรับเศรษฐีและไฮโซ (เหมือนกับเครื่องบินชั้น first class ทุกวันนี้) โดยรถไฟเส้นทาง Orient Express เป็นชบวนที่มีอยู่จริง วิ่งจากปารีสไปสุดที่เอเชียคืออิสตันบูล เป็นการเชื่อมต่อยุโรปตะวันตกเข้ากับ “โลกตะวันออก” คือเอเชียตะวันตก

การเดินรถด่วน Orient Express เริ่มครั้งแรกในปี 1883 แล้วค่อยๆ เสื่อมลงในทศวรรษ 1970s จากการมาถึงของเครื่องบินและรถไฟความเร็วสูง แต่ช่วงพีคที่สุดคือราวทศวรรษ 1930s ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับเหตุการณ์ในเรื่อง

เหตุการณ์ในเรื่องเป็นรถด่วนสาย Simplon-Orient Express (เส้นสีเขียว) โดยปัวโรต์เดินทางจากอิสตันบูลกลับไปลอนดอน แต่รถเกิดอุบัติเหตุเจอหิมะถล่มราง ในบริเวณใกล้กับเมือง Vinkovci-Brod ของยูโกสลาเวีย (ในเวลานั้น) ปัจจุบันคือทางฝั่งตะวันออกของโครเอเชีย เลยเมือง Belgrade ในภาพมานิดหน่อย

ภาพเส้นทาง Orient Express สายต่างๆ (จาก Wikipedia)

Murder on the Orient Express คงแกนหลักของนิยายนักสืบ นั่นคือ เกิดเหตุฆาตกรรมในพื้นที่ปิด (ในที่นี้คือ รถไฟด่วนที่แล่นกลางหิมะ แล้วตกราง ต้องหยุดรอซ่อมรางสองคืน) จำกัดความเป็นไปได้ของบุคคลที่เป็นฆาตกร (ไฮโซทั้งหมดที่อยู่ในตู้นอนเดียวกัน เพราะตู้ถูกล็อคในตอนกลางคืน) ปัวโรต์จึงต้องค้นหา “ฆาตกรที่อยู่ในหมู่พวกเรา” ผ่านร่องรอยต่างๆ ที่ผู้เขียนใส่มาระหว่างเรื่อง

ผมคิดว่าความเจ๋งของพล็อต Murder on the Orient Express ฉบับนิยาย มาจาก 2 เรื่อง อย่างแรกคือเซ็ตติ้งที่ exotic มาก (รถไฟหรูหราที่ถูกกักอยู่กลางเขา ซึ่งนำมาจากเหตุการณ์จริง และประสบการณ์ของผู้แต่งที่เคยขึ้น Orient Express) กับกลวิธีการฆาตกรรมที่แยบยล และเฉลยออกมาได้น่าประทับใจ

Murder on the Orient Express เวอร์ชันภาพยนตร์ สามารถถ่ายทอดความ exotic ได้อย่างดีเยี่ยม รถไฟหรูหราอลังการ โปรดักชั่นสวยงาม ดาราระดับท็อปๆ ของวงการมาเล่นกันเต็มเรื่อง แต่กลับเล่ากลวิธีฆาตกรรมได้ไม่ดีนัก

เหตุผลสำคัญหนึ่งคงมาจากว่า ระยะเวลาเล่าเรื่องมีไม่เยอะมากพอ เพราะแกนหลักของปมฆาตกรรมใน Murder on the Orient Express มาจากความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของผู้โดยสารทุกคนในตู้ (ที่ผู้อ่านต้องค่อยๆ แกะปมเหล่านี้ผ่านสายตาของปัวโรต์) ทำให้หนังความยาว 1 ชั่วโมง 54 นาที ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีเท่าที่ควร

เราจึงเห็นการแนะนำตัวละครในตู้รถไฟอย่างรีบเร่ง จนแทบจำไม่ได้ว่าใครคือใคร และหลังเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้นแล้ว การสืบสวนของปัวโรต์ก็ต้องรีบเร่งตามไปด้วย ตัดสลับไปมาอย่างรวดเร็ว ยังไม่มีเวลาให้ผู้ชมภาพยนตร์ได้ตกตะกอนความคิดมากนัก และในอีกทางก็ “เสียดาย” นักแสดงระดับเทพที่รวมตัวกันขนาดนี้ (เห็นโปสเตอร์หนังนี่คิดว่า Fantastic Beasts) กลับมีเวลาได้ออกบนหน้าจอคนละนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น

หมายเหตุ: ประเด็นเรื่องความยาวของหนัง อาจต้องดูหนังเวอร์ชันปี 1974 ที่ยาวกว่ากันเล็กน้อย (2 ชั่วโมง 8 นาที) มาเทียบกันด้วย เพราะหนังใช้โครงเรื่องเดียวกัน ดารานักแสดงชื่อดังของยุคเหมือนกัน แต่ได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีกว่า (ของยุคนั้น)

ดูจบแล้วรู้สึกว่า ควรไปหานิยายมาอ่านน่าจะได้อิ่มเอมกับพล็อตได้อย่างเต็มที่ แม้ว่ารู้เฉลยแล้วก็ตาม

หมายเหตุ: ดูจบเพิ่งรู้ว่าเพลงประกอบของเรื่อง (มาตอนขึ้นเครดิตจบ) Never Forget ร้องโดย Michelle Pfeiffer ซึ่งถือเป็นตัวละครนำหญิงของเรื่อง  (แต่ในเทรลเลอร์ข้างบนใช้เพลง Believer ของ Imagine Dragons)