in Gadgets

Mobile Productivity

เมื่อวานนี้ Microsoft เปิดตัว Surface Duo อย่างเป็นทางการ ด้วยราคา 1,399 ดอลลาร์ ที่คงพูดได้เต็มปากว่า “แพง” แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่าง

ถ้าลองดูในโพสต์เปิดตัวของไมโครซอฟท์ คำที่โดดเด่นชัดเจนคือคำว่า mobile productivity

โดยเนื้อแท้แล้ว Surface Duo มันก็คือ “โทรศัพท์ Android” นั่นแหละ เพียงแต่คำว่า “โทรศัพท์” ทุกวันนี้มีความหมายในเชิงกว้าง ในขณะที่ Surface Duo เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เจาะจงกว่านั้น

ทุกวันนี้เราใช้โทรศัพท์ aka สมาร์ทโฟนทำอะไรหลายอย่าง ซึ่งต่างกันไปตามแต่บุคคล เช่น บางคนใช้โทรศัพท์เล่นเกมหรือดูซีรีส์ (ในขณะที่ผมไม่ใช้งานทั้งสองอย่างนี้เลย เพราะทำบนอุปกรณ์อื่นแทน) เคสของ Duo มันคือเจาะกลุ่มที่ใช้ “ทำงาน” (productivity)

เมื่อพูดถึง productivity ก็คงไม่มีบริษัทไหนโดดเด่นเท่ากับไมโครซอฟท์ ที่เป็น “เจ้าพ่อ” แห่งวงการงานแบบดั้งเดิม (pre-mobile world) เช่น เอกสาร (Office+SharePoint) อีเมล (Outlook) และภายหลังก็ขยายมายังตลาดใหม่ๆ เช่น แชท (Teams) และตลาดจัดการงานส่วนตัว personal productivity เช่น จดโน้ต (OneNote) จดรายการงาน (To Do) เก็บไฟล์ส่วนตัว (OneDrive) เป็นต้น

ส่วนตัวแล้วผมเป็นผู้ใช้กลุ่มนี้แหละ (ปัจจุบันใช้แอพของไมโครซอฟท์ข้างต้นหลายตัว + G Suite + Slack ในการทำงาน) และการเลือกใช้งานโทรศัพท์จึงเลือกฟีเจอร์เชิง productivity เป็นหลักคือ Galaxy Note

ปัญหาที่พบคือการทำงาน productivity บางอย่างบนมือถือมันทำได้ยากจริงๆ เช่น การอ่านเมล +  อ่านเอกสารที่แนบมาในเมล + ตอบแชทว่าคิดอย่างไร ซึ่งกระบวนการทำงานเราต้องสลับแอพไปมา 3 ที ถึงแม้มือถือมีฟีเจอร์แบ่งจอครึ่งบน-ล่าง แต่เอาจริงก็ไม่ค่อยได้ใช้เพราะมันยุ่งยาก เนื้อที่แสดงผลน้อยเกินไป

สุดท้าย งานหลายอย่างที่มีความซับซ้อนสักหน่อย จึงไม่สามารถ “จบ” ได้ง่ายนักด้วยโทรศัพท์ (จบได้แต่ต้องพยายามมากๆ) และมักต้องเปิดโน้ตบุ๊กขึ้นมาทำ (ซึ่งก็ตามมาด้วยปัญหาต่อไปคือ ลืม หรือ ต้องมาไล่ซิงก์งานกันใหม่บนโน้ตบุ๊กว่าเปิดอะไรค้างไว้บนมือถือ)

ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะมีคนพบเจอกันมาก ไมโครซอฟท์เองก็เขียนอธิบายไว้ในโพสต์

We designed Surface Duo for people who want to get more done with the device in their pocket. Our internal research shows that three out of four people report struggling to complete complex tasks while away from their computer. That’s because smartphones with a single screen aren’t designed for you to easily do multiple things at once. Think about it. You continually have to switch between apps to get even the most essential things done – breaking focus, breaking flow.

อ่านแล้วคือใช่เลย เรานี่แหละคือกลุ่มลูกค้าของ Surface Duo

แนวทางแก้ไขของ Duo (รวมถึงอุปกรณ์กลุ่ม dual screen อื่นๆ เช่น Galaxy Fold ด้วย) คือ สองจอย่อมดีกว่าในเรื่อง “breaking flow”

Just like using two monitors at your desk, having two distinct screens lets you open up two apps side by side, cross-reference information, and drag and drop to effortlessly move images, text and files between screens so you can get things done quicker. We know dual-screen devices not only help people complete complex tasks faster but also require less cognitive effort, making them universally preferred for productivity tasks.

ดูวิดีโอกันน่าจะพอเห็นภาพ

อย่างไรก็ตาม Surface Duo รุ่นแรกถือเป็นกึ่ง prototype (ไม่ต่างอะไรกับ Surface Pro X หรือ Galaxy Fold) ที่ต้องใช้เวลาอีกสักพักในการพัฒนาให้พร้อมเต็มที่ ทั้งฝั่งฮาร์ดแวร์ (ยังขาดฟีเจอร์สำคัญหลายอย่าง เช่น ปากการวมมาเลยได้ไหม ขอกล้องเพิ่มได้ไหม) และซอฟต์แวร์ (แอพต้องซัพพอร์ต แม้แต่แอพไมโครซอฟท์เองก็ต้องใช้เวลา) ดังนั้นจึงไม่ต้องรีบซื้อ และยังไม่แนะนำให้ใครซื้อด้วย

ถ้าจินตนาการไปไกลกว่านั้น Surface Duo น่าจะมาแทนโทรศัพท์มือถือแบบดั้งเดิมได้ (สำหรับบางคนที่ต้องการ mobile productivity ส่วนคนที่ไม่ต้องการก็ใช้โทรศัพท์แบบเดิมต่อไปได้) สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปคือ เราควรใช้ Surface Duo กับอะไร ซึ่งเชื่อว่าคำตอบก็น่าจะมีหลายแบบ ซึ่งขึ้นกับชนิดของงานด้วย

  • แท็บเล็ตแบบดั้งเดิม (เช่น Surface Pro, iPad ที่อาจมีคีย์บอร์ด)
  • แท็บเล็ตแบบ 2 จอ (เช่น Surface Neo)
  • โน้ตบุ๊กแบบดั้งเดิม

ส่วนตัวแล้วลองจินตนการดู คิดว่าถ้าสามารถทำงานประมาณ 80-90% แล้ว “ครบจบในตัว” ด้วย Surface Duo เราก็ไม่น่าจะต้องการแท็บเล็ตอีกตัวแล้ว และน่าจะต้องพกพาคู่กับโน้ตบุ๊กแบบดั้งเดิม สำหรับงานที่ต้องการ full productivity จริงๆ มากกว่า