in Economics

Impact of War on Russia Economy

ภาพจาก ทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย

ครบรอบ 1 ปีของเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนไปเมื่อไม่กี่วันก่อน คำถามหนึ่งที่ทุกคนคงสงสัยคือ รัสเซียทุ่มทรัพยากรกับสงครามไปมากมาย แถมยังโดนชาติตะวันตกแซงค์ชันอีกมหาศาล เศรษฐกิจรัสเซียเป็นอย่างไรบ้าง

ในช่วงไล่เลี่ยกันก็มีตัวเลขเศรษฐกิจปี 2022 ของรัสเซียออกมา ซึ่งออกมาดีกว่าที่ชาติตะวันตกคาดกันในตอนแรก นั่นคือ GDP -2.1% อีกทั้งยังคาดว่า GDP จะกลับมา +0.3% ได้ด้วยซ้ำในปี 2023 (France24) ทั้งที่ในช่วงต้นๆ ของสงคราม ชาติตะวันตกคาดว่า GDP รัสเซียจะถึงขั้น -10% หรือ -15% เลยด้วยซ้ำ

คำถามถัดมาคือรัสเซียแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร?

คำตอบคือมีหลายปัจจัยร่วมกัน เว็บไซต์ Quartz เขียนเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างละเอียด ข้อแรกคือ รัสเซียเตรียมพร้อมสำหรับการโดนแซงค์ชันทางเศรษฐกิจมานานพอสมควรแล้ว (ตั้งแต่บุกยึดไครเมียในปี 2014) โดยเรียกกันว่า Fortress Russia

เหตุการณ์ที่ธนาคารรัสเซียจะถูกตัดออกจากระบบ SWIFT เป็นสิ่งที่ถูกคาดการณ์เอาไว้ก่อนแล้ว และมีระบบทดแทนที่เตรียมสำรองเอาไว้แล้ว, บริษัทและธนาคารของรัสเซียยังเริ่มลดสัดส่วนของหนี้ต่างชาติลงจาก 41% ของ GDP ในปี 2016 ลงมาเหลือ 27% ของ GDP ในปี 2021

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันและก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นยังคอยช่วยพยุงเศรษฐกิจรัสเซียเอาไว้ และยังสามารถขายน้ำมันและก๊าซให้กับอินเดียหรือจีน นำเงินเข้าประเทศได้ (แม้ในราคาถูกกว่าปกติ) ฝั่งของสินค้าคอนซูเมอร์ยังสามารถนำเข้าได้จากจีน ตุรกี คาซัคสถานแทนได้ ผู้ประกอบการรัสเซียมีความสามารถในการพลิกแพลงสูง บทสัมภาษณ์นักธุรกิจรายหนึ่งใน France24 บอกว่า “เราอยู่กับปัญหามาตลอด”

พูดง่ายๆ ว่าในระยะสั้น รัสเซียยัง “พอ” เอาตัวรอดได้ดีกว่าที่หลายคนคิด

แต่ถ้าลงลึกไปในรายละเอียด ผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียในระยะยาวนั้น “ลงลึก” อยู่เยอะ ปัญหาเศรษฐกิจของรัสเซียจะยืดเยื้อยาวนาน การฟื้นตัวจะไม่ง่าย ไม่เร็ว เพราะรากฐานสำคัญหลายอย่างถูกทำลายไปมาก

บทวิเคราะห์ของ Carnegie Endowment เขียนไว้ได้ละเอียด แม้เขียนมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2022 แล้วก็ตาม

  • รายได้จากน้ำมันและก๊าซเพิ่มขึ้นจริง แต่ส่วนสำคัญมาจากการขึ้นภาษีรีดเงินจาก Gazprom (บริษัทน้ำมันแห่งชาติ) เข้ารัฐเพิ่มด้วย
  • ภาคอุตสาหกรรมหดตัวแค่ 0.1% แต่เป็นเพราะได้กำลังการผลิตจากสงคราม มาช่วยพยุงไว้ ทั้งอุตสาหกรรมเสื้อผ้า (ชุดทหาร) และเหล็ก (รถถัง อาวุธ) ตัวเลขเลยบดบังปัญหาของอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การผลิตรถยนต์ลดลงไปเกือบครึ่ง (ตัวเลขจากบางที่คือลดไป 59%) หรืออุตสาหกรรมผลิตไม้/เครื่องจักร
  • การแซงค์ชันทางเศรษฐกิจทำให้รัสเซียเข้าไม่ถึงชิ้นส่วนไฮเทคจากชาติตะวันตก (เช่น ชิปที่ใช้ในรถยนต์) ถึงแม้อาจหาชิ้นส่วนเทียบเคียงจากชาติอื่นๆ มาทดแทนได้บ้าง แต่คุณภาพของสินค้าจะลดลง ซึ่งมันจะไม่แสดงออกให้เห็นใน GDP
  • การค้าพลังงานกับชาติยุโรปหายไป แม้มีจีนกับอินเดียมาช่วยซื้อบ้าง แต่ก็ทดแทนได้ไม่หมด ตลาดในประเทศก็ไม่ได้ใหญ่มากพอสำหรับอุดหนุนสินค้ารัสเซีย (GDP รัสเซียเล็กกว่าแคนาดาด้วยซ้ำ แต่มีประชากรมากกว่า 3.8 เท่า – เคยเขียนไว้ใน Russia is a Small Country)
  • โครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งกับชาติฝั่งตะวันออก ไม่ได้ดีเท่ากับชาติฝั่งตะวันตก เช่น ท่าเรือ รถไฟ ท่อส่งก๊าซ ตอนนี้ใช้เต็มกำลังแล้ว และการขยายเพิ่มก็ไม่ง่ายเพราะรัสเซียไม่มีเงิน + ต้องใช้เวลาอีก แต่โครงสร้างพื้นฐานฝั่งตะวันตกที่มีอยู่พร้อม กลับไม่ถูกใช้งาน
  • การส่งสินค้าบางอย่างที่รัสเซียไม่ได้ส่งเอง เช่น ทางเรือ ก็โดนบีบจากบริษัทเดินเรือของต่างชาติ ปฏิเสธไม่ยอมขนส่งให้ แถมยังบังคับต้องจ่ายเงินเป็นดอลลาร์/ยูโร ซึ่งก็โดนแซงค์ชันอีก
  • ภาคธุรกิจเอกชนของรัสเซียไม่ลงทุนในประเทศเพิ่มแล้ว เพราะไม่แน่ใจในอนาคตที่ไม่แน่นอนของสงคราม การลงทุนภาคเอกชนจะหายไป ส่วนการลงทุนภาครัฐยังมีอยู่ แต่ 1/3 คืองบอุดหนุนสงครามและความมั่นคง ในขณะที่การลงทุนทางเศรษฐกิจ-สังคมมีสัดส่วนลดลง
  • คนรัสเซียถูกเกณฑ์ทหารไปแล้ว 300,000 คน ส่งผลกระทบต่อ GDP ราว 0.5% และยังน่าจะมีเกณฑ์ทหารเพิ่มอีก
  • คนรัสเซียที่ไม่พอใจรัฐบาล ยังหนีออกไปอยู่ต่างประเทศกัน ตัวเลขอยู่ราว 5 แสน-1 ล้านคน แถมเป็นแรงงานฝีมือระดับสูงด้วย นอกจากปัญหาสมองไหล ขาดทรัพยากรบุคคลแล้ว ความต้องการแรงงานยังทำให้คนที่เหลืออยู่มีค่าจ้างแพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในทางอ้อม (เงินเฟ้อปี 2022 เพิ่ม 12% และน่าจะเพิ่มอีก 5-7% ในปี 2023)
  • ข้อมูลของ France24 ยังเสริมว่า มาตรการแบนการขายพลังงานของ EU เพิ่งมีผลในเดือนธันวาคม 2022 สำหรับน้ำมันดิบ (8 เดือนหลังเริ่มสงคราม) และเดือนกุมภาพันธ์ 2023 สำหรับน้ำมันแปรรูปแล้ว โดยชาติยุโรปจ่ายค่าน้ำมันให้รัสเซียไปแล้ว 84 พันล้านยูโรระหว่างสงคราม ตัวช่วยนี้จะไม่มีให้รัสเซียในปี 2023

Carnegie Endowment ประเมินว่า หากสงครามสงบ มาตรการต่างๆ เหล่านี้กลับด้านกัน อาจต้องใช้เวลา 3-5 ปีถึงจะพลิกเศรษฐกิจรัสเซียให้กลับมาเติบโตเป็นบวกได้

และหากปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันและก๊าซเปลี่ยนไป เศรษฐกิจรัสเซียที่พึ่งพารายได้จากพลังงานมาก ก็ย่อมได้รับผลกระทบหนักกว่านี้