in Thoughts

ประสบการณ์ IMETMAX – Class เรียนที่ไร้ Class Room

โพสต์ต้นฉบับจาก Facebook

“Class เรียนที่ไร้ Class Room”

เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา (22-23 มิถุนายน 2024) ได้ร่วมทริป IMETMAX #6 ไปดูงานและร่วมกิจกรรมนอกสถานที่ ที่ จ. สกลนคร และนครพนม ถือเป็นทริปที่คุ้มค่าอย่างมากในแง่ประสบการณ์ชีวิต จึงอยากมาแชร์มุมมองและเรื่องราวให้เพื่อนๆ คนอื่นด้วย

หลังจากผมได้เข้าร่วมโครงการ IMETMAX รุ่นที่ #6 เมื่อต้นปี คนรู้จักหลายคนรอบๆ ตัวก็มักถามถึงอยู่เรื่อยๆ ว่าตกลงแล้วมันคือโครงการอะไร เขาไปทำอะไรกัน ซึ่งเป็นสิ่งตอบได้ยากมาก เพราะรูปแบบของโครงการ IMETMAX ต่างจากหลักสูตรหรือโครงการอื่นๆ ในประเทศไทยอย่างมาก จึงไม่สามารถตอบแบบสั้นๆ รวบรัดได้เลยว่า “เหมือนหลักสูตร … ไง” ให้คนอื่นฟังแล้วเข้าใจได้ทันที

แต่หลังจากทริปล่าสุด ผมคิดว่าพอหานิยามของ IMETMAX ได้แล้ว มันคือ “Class เรียน” แต่ไม่มี “Class Room”

ย้อนความสั้นๆ ว่า IMETMAX เป็นโครงการของมูลนิธิ IMET (ซึ่งเป็นมูลนิธิด้านการจัดการยุคเก่า ก่อตั้ง พ.ศ. 2526) มีเป้าหมายเพื่อหา “ผู้นำรุ่นใหม่” (จำกัดช่วงอายุที่ 35-45 ปี) ที่มีศักยภาพสูง (High Potential Leaders คำนี้สำคัญมาก) แต่ยังไปไม่สุดด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง มาปลดล็อคและยกระดับขึ้นไปอีกชั้น เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ประเทศในด้านต่างๆ ที่ตัวเองถนัดต่อไป

กระบวนการของ IMETMAX ไม่มีชั้นเรียน ไม่ต้องเข้าคลาสใดๆ และที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ฟรีหมด (มีแค่ค่าเดินทาง-ที่พักตอนไปต่างจังหวัดที่ต้องจ่ายเองเท่านั้น) ตรงนี้จึงต่างจากหลักสูตรคลาสเรียนอื่นๆ ที่ต้อง “เข้าเรียน” นั่งฟังเลกเชอร์จากวิทยากร

IMETMAX ใช้วิธีถ่ายทอดความรู้เหมือนกรีกโบราณ ยุคเพลโต โสเครตีส นั่นคือเชิญอาจารย์ที่เป็นผู้บริหารรุ่นพี่มากประสบการณ์ ประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน และที่สำคัญคือ “เคยผ่านช่วงอายุเหล่านี้” มาแล้ว มาประกบด้วยสัดส่วน 1 ต่อ 3 เพื่อความใกล้ชิดทั่วถึง แต่ละกลุ่มนัดเจอกันเองเดือนละครั้ง เพื่อคุยกันในเรื่องต่างๆ ซึ่งจากการพบเจอกันที่ผ่านมา ผมก็พบว่าพอสนิทกันมากขึ้น ไว้ใจกันมากขึ้น หัวข้อสนทนานั้น “ลึก” ลงไปเรื่อยๆ เรียกว่าลงลึกไปถึงเรื่องที่แอบซ่อนอยู่ในใจ ความฝัน ความหวัง อุปสรรค ปมในชีวิต ถูกนำมาตีแผ่ ท้าทาย ถกเถียง ในระดับที่ว่าเราอาจไม่เคยพูดเรื่องพวกนี้กับใครมาก่อนเลยด้วยซ้ำ แม้แต่กับตัวเอง

หลังจากแยกกลุ่มไปพูดคุยกันเองมาได้ 3 เดือนกว่าๆ ทางโครงการก็นำผู้เข้าร่วมทุกคน ทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก จับขึ้นเครื่องบินไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน 2 วัน 1 คืนเต็มๆ (ห้ามหนีกลับก่อน 555) ถือเป็นการยกระดับการสนทนาและถ่ายทอดประสบการณ์ไปอีกชั้น

กลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการรุ่นเล็ก หรือที่เรียกว่า mentee มีทั้งหมด 36 คน (ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวน mentor มี 12 คน จึงรับได้เท่านี้) มาจากหลากหลายพื้นเพ ทั้งเจ้าของธุรกิจ ผู้สืบทอดธุรกิจ ผู้บริหารมืออาชีพในองค์กร ข้าราชการ อาจารย์ สื่อ ฯลฯ หลังจากได้ใช้ชีวิตร่วมกันมาสักพักหนึ่ง ความรู้สึกของผมเหมือนกับได้กลับเข้ามาในโรงเรียนอีกครั้ง ได้มี “เพื่อนร่วมรุ่น” (classmate) ที่วัยวุฒิพอๆ กัน คุณวุฒิหรือความคิดอ่านพอๆ กัน จำนวน 35 คนซึ่งก็มีขนาดประมาณ 1 ห้องเรียนพอดี

แต่มันคือห้องเรียนที่มีแต่คนตัวท็อป มีพลัง มีความสามารถในรูปแบบต่างๆ อารมณ์ประมาณ X-Men First Class หรือจะเป็น My Hero Academia ก็พอได้ เราจึงได้เห็นและสัมผัสยอดมนุษย์เหล่านี้ออกมาสลับกัน “ปล่อยของ” เล่าเรื่องราวและประสบการณ์ในแวดวงของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่หน้าเกทที่สนามบิน บนโต๊ะกินข้าว บนรถบัส แม้กระทั่งตอนยื่นฉี่ข้างกันในห้องน้ำ ในแง่ความหนาแน่นของพลังงาน (energy density) จึงเข้มข้นมากที่สุดเท่าที่เคยสัมผัสมา

ในอีกด้าน เราก็ได้เห็นอีกมิติของคนเหล่านี้ว่าพวกเขาก็เป็นคนธรรมดาเหมือนกัน มีความ struggle มีปัญหาในชีวิตที่เหมือนและต่างกันไป เพียงแต่อาจไม่เคยถูกถ่ายทอดมาให้คนอื่นเห็นกันง่ายนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ครอบครัว ลูก work-life balance สุขภาพ หน้าที่การงาน ธุรกิจ ลูกน้อง เจ้านาย ปัญหาในองค์กร ฯลฯ กระบวนการ bonding ของทีมผู้จัดที่ค่อยๆ เคาะกำแพงเหล่านี้ออกมา จึงทำให้ mentee ค่อยๆ เปิดใจให้กัน เล่าเรื่องของตัวเองให้ลงลึกขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาโครงการที่ดำเนินไป (ซึ่งตามมารยาท เราก็จะเก็บเรื่องส่วนตัวของแต่ละคนไว้เป็นความลับ)

การนำ mentee พลังสูงเหล่านี้มากินนอนอยู่ด้วยกัน พอสนิทกัน คุ้นเคยกัน เปิดใจให้กันในระดับหนึ่งแล้ว พลังของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเองจึงแข็งแรงมาก ดังคำของพี่วู้ดดี้ ธนพล ศิริธนชัย ประธานโครงการ ที่พูดเอาไว้เสมอว่า “เหล็กลับคมด้วยเหล็ก คนลับคมด้วยคน” อันนี้กระจ่างแล้วว่ามันเป็นอย่างไร

แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะ IMET สามารถเชิญพี่ๆ mentor ผู้บริหารระดับสูงของโลกธุรกิจไทยมาร่วมทริปนี้ได้ด้วย เราจึงมีเหล่าซีอีโอ ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรยักษ์ใหญ่ของไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน มาร่วมทริปไปด้วย พลังของการถ่ายทอดประสบการณ์จึงทวีคูณขึ้นไปอีกชั้น เราจมีโอกาสได้ใช้ชีวิต พูดคุย กินข้าว กับผู้บริหารระดับท็อปของประเทศไทยอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองตลอด 2 วัน 1 คืน ไม่ว่าจะเป็นหน้าเกทสนามบิน บนโต๊ะกินข้าว ตอนรอกดกาแฟในบุฟเฟต์อาหารเช้า และเช่นเคย รวมถึงเวลายืนฉี่ข้างกันในห้องน้ำ (ความเสียดายประการเดียวคือมีโอกาสคุยได้ไม่ครบทุกคน เพราะพวกพี่ๆ เขามากันเยอะ แบ่งร่างไปคุยไม่ไหว)

ในอีกด้านเช่นกัน เรามีโอกาสได้เห็นผู้บริหารระดับท็อปๆ เหล่านี้ใช้ชีวิตเหมือนบุคคลทั่วไป ลากกระเป๋าขึ้นเครื่อง บินโลว์คอสต์ กินส้มตำ บางท่านมานั่งรถบัสปนกับน้องๆ เพื่อให้คุยกันใกล้ชิดตลอดทาง ช็อตประทับใจของผมคือเห็นซีอีโอใหญ่ เบอร์หนึ่งของบริษัทมูลค่าหลายแสนล้าน เดินฝ่าแดดเข้าห้องน้ำปั๊ม แวะซื้อขนมร้านสะดวกซื้อเหมือนกับคนทั่วไป อีกช็อตคือในงานเลี้ยงตอนเย็น ผู้บริหารหญิงสองท่านขึ้นไปร้องเพลงร่วมกัน แถมร้องเพราะด้วย ผมตั้งชื่อภาพที่เห็นเบื้องหน้าว่าเป็น “เกิร์ลกรุ๊ปที่มีมูลค่าสูงที่สุดในไทย” ไม่กล้าไปบวกเลขว่าข้างบนเวทีมี market cap รวมกันเท่าไร (แต่ที่แน่ๆ มีเพื่อนร่วมกลุ่มของผมขึ้นไปแจมในวงเกิร์ลกรุ๊ปด้วย 555) ภาพพวกนี้ไม่มีทางได้เห็นเมื่อไปเจอพี่ๆ เหล่านี้ข้างนอกในที่สาธารณะ ประสบการณ์พวกนี้เงินซื้อไม่ได้จริงๆ

แต่ไฮไลท์จริงๆ อยู่ที่กระบวนการพูดคุยในวันอาทิตย์ตอนเช้า เมื่อเราถูกจับคู่ใหม่ให้อยู่กับทั้ง mentor และ mentee ที่ไม่เคยพูดคุยใกล้ชิดกันมาก่อน (แต่ mentor ทุกคนผ่านกระบวนการ mentoring กันมาโชกโชน บางคนถึงขั้นไปลงคอร์สเรียนจริงจัง) เมื่อทุกคนเปิดใจ และบรรยากาศผ่อนคลาย ห้วงเวลามหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น และถ้ามองย้อนกลับมาในภายหลัง เช้าวันนี้น่าจะเป็นจุดพลิกผันในชีวิตของเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนเลยก็ว่าได้

ผมคงไม่สามารถแชร์เรื่องราวลึกๆ ของเพื่อนในกลุ่มที่มาแชร์ struggle ของตัวเองอย่างลงลึกได้ แต่บทเรียนในแง่กระบวนการที่เรียนรู้มาจากเช้าวันนี้คือ “คำถามสำคัญกว่าคำตอบ” จาก อ.หมี ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ที่วนเวียนเป็น mentor ให้กลุ่มของผมพอดี

ปัญหาและอุปสรรคชีวิตของเหล่า mentee หลายคนรวมถึงตัวเองด้วย ส่วนหนึ่งเกิดจากเพราะว่าพอเติบโตใช้ชีวิตมาในระดับนึง ชีวิตมันก็แบกอะไรสะสมเอาไว้เยอะจนหนักและเหนื่อย แต่พอจะวางลงบ้างก็ห่วงหน้าพะวงหลัง ตัดสินใจเองก็ไม่ได้ แม้ว่าคำตอบจะอยู่เบื้องหน้าแต่ก็มองไม่เห็น อาจมีอะไรบดบังตา หรือหัวใจไม่แกร่งกล้าพอที่ตัวเองจะยอมรับมัน

การมี mentor ที่ดี ผู้มีประสบการณ์มาก่อนเรา ผู้ซึ่งเรารู้ว่าหวังดีกับเราเต็มที่ ไม่มีประโยชน์แอบแฝงใดๆ มาเป็นผู้ “ตั้งคำถาม” ถามในสิ่งที่ตัวเราเองยังไม่เคยคิดจะถามตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากๆ ยิ่งเมื่อเจอกับคำถามที่ตรงไปตรงมา ต่อเนื่อง และขุดลงไปยังรากฐานของปัญหาในชีวิต ผมคิดว่าเป็นหลักการเดียวกับ first principle ในทางคณิตศาสตร์-ปรัชญาที่ขุดหาคำตอบไปลงลึกถึงรากฐาน เพียงแค่เราไม่ได้นำมันมาใช้กับวิทยาการความรู้ภายนอก แต่เป็นการตั้งคำถามกับชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณของเราเอง เมื่อปลดล็อคสิ่งที่อยู่ภายในใจได้ สิ่งที่อยู่ภายนอกก็ไม่มีอะไรน่ากลัวอีกต่อไป

ต้องขอบคุณเพื่อนร่วมกลุ่มที่ร่วมแชร์เรื่องราวลึกสุดใจให้แก่กัน มันเป็นอีกวันที่ผมจะต้องจดจำไปอีกนาน

กระบวนการเหล่านี้มันไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเกิดขึ้นมาได้เอง คือต่อให้เราจับคนชุดเดียวกันเป๊ะๆ มานั่งคุยแบบเดียวกัน มันก็ไม่มีทางได้บทสนทนาที่ลุ่มลึกและทรงพลังแบบนี้ เพราะมันต้องผ่านกระบวนการ bonding ให้สนิทสนม เชื่อใจกันมาพอสมควรถึงจะสามารถคุยกันให้ลึกขนาดนี้ได้ (เป็นการเรียนรู้แบบที่ไม่มี classroom แต่มีเพื่อนร่วมรุ่นเป็น classmate ตามที่เขียนไว้แต่แรก) ตรงนี้ต้องคารวะทีมผู้จัดที่ออกแบบกระบวนการพวกนี้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม สมกับคำว่า “trust the process” ที่พูดกรอกหูพวกเราอยู่ตลอดเวลา

โครงการ IMETMAX แต่ละรุ่นใช้เวลาประมาณเกือบปี เริ่มช่วงต้นปีและจบลงช่วงปลายปี ตอนนี้ผมยังมาได้เพียงครึ่งทาง อาจยังสรุปไม่ได้ว่าภาพรวมทั้งหมดเป็นอย่างไรบ้าง แต่ระหว่างเส้นทางที่ผ่านมา ก็เห็นพัฒนาการของตัวเองและเพื่อนร่วมรุ่นได้อย่างชัดเจน หวังว่าครึ่งหลังของโครงการที่เหลือคงมีเรื่องราวประทับใจอื่นๆ มาเล่าให้แก่กันต่อไป