in Football

Half-Space in Football

ช่วงหลังๆ เราเริ่มได้ยินคำว่า Half-Space ในการวิเคราะห์แท็คติคฟุตบอลมากขึ้นเรื่อยๆ เลยไปนั่งค้นข้อมูลสักหน่อยว่ามันคืออะไร

Half-Space เป็นแนวคิดแบบหนึ่งในการวิเคราะห์พื้นที่บนสนามฟุตบอล แนวคิดนี้เริ่มมาจากโค้ชสายเยอรมันมาสักระยะหนึ่งแล้ว คำว่า Half-Space แปลมาจากภาษาเยอรมันว่า “Halbraum” ซึ่งหลายคนมองว่าไม่ใช่คำภาษาอังกฤษที่ตรงความหมายนัก (ผมคิดว่า Inter-Space น่าจะตรงกว่า แต่ชื่อ Half-Space ดันติดตลาดไปแล้ว)

ผู้ที่ทำให้คำว่า Half-Space เป็นจุดสนใจในระดับนานาชาติคือ René Marić ซึ่งปัจจุบันเป็นโค้ชทีมเยาวชน U19 ของบาเยิร์นมิวนิก โดยเมื่อปี 2014 เขา (ซึ่งตอนนั้นอายุเพียง 22 ปีและเป็นโค้ชทีมสมัครเล่น) ได้เขียนบล็อกชื่อ The Half-Spaces วิเคราะห์พื้นที่ Halbraum เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้แนวคิดนี้ถูกเผยแพร่ในวงกว้างขึ้นมาก

ผมลองอ่านบล็อกของ Marić แล้วค่อนข้างยาวและมีรายละเอียดมาก คิดว่าถ้าอยากเข้าใจความหมายของ Half-Space แบบรวบรัด อาจดูคลิปที่มีหลายช่องทำไว้ เช่น Tifo Football ของ The Athletic ก็เข้าใจง่ายดี

อีกบทความที่เขียนอธิบายดี เข้าใจง่าย มีภาพประกอบคือของ The Coach’s Voice

เท้าความแบบสั้นๆ ระบบการวิเคราะห์พื้นที่ในสนามฟุตบอลมีหลายสูตรมาก ที่เคยได้ยินคือสูตรตีช่องกริด 3×3 ในแต่ละครึ่งสนาม รวมเป็น 18 ช่อง (ผมเคยได้ยินสูตรนี้ครั้งแรกตอนเยอรมันชนะแชมป์โลกปี 2014) ซึ่งจะตีกริดแบบเท่ากันทุกช่องก็ได้ หรือจะใช้สูตรช่องตรงกลางกว้างหน่อยเท่ากับเส้นเขตโทษก็ได้ (René บอกว่า Louis van Gaal ใช้สูตรนี้)

แต่สูตรการมองสนามแบบ Half-Space ใช้วิธีตีเส้นแนวยาวของสนาม แบ่งเป็น 5 เลน ได้แก่

  • เลนด้านริมเส้น (Außen) x2
  • เลนระหว่างนั้น (Halbraum) x2
  • เลนตรงกลางสนาม (Zentrum) x1

การพาลูกฟุตบอลบุกไปยังเลนตรงกลาง เป็นเส้นทางที่ตรงไปตรงมาที่สุด สั้นที่สุด แต่ฝ่ายตรงข้ามก็จะป้องกันแบบแน่นที่สุดเช่นกัน

หากโยกไปเล่นฝั่งริมเส้น ก็จะเจอข้อจำกัดว่าต้องเลี้ยงบอลไต่เส้นไม่ให้ออก และมุมที่ใช้ส่งลูกให้เพื่อนร่วมทีมมีจำกัดคือด้านข้าง 180 องศาเท่านั้น

แนวคิดของ Half-Space หรือ Halbraum คือพาลูกไปยังเลนระหว่างกลาง ซึ่งผสานคุณสมบัติของเลนตรงกลางและเลนริมเส้นเข้าด้วยกัน โดยที่การเล่นใน Half-Space ยังอยู่ใกล้หน้าประตูมากกว่าเลนริมเส้น

เลน Half-Space ยังมีข้อดีตรงที่ผู้เล่นจะวิ่งเอียงๆ (เช่น ฉีกมาจากเลนกลาง) ทำให้มุมที่มองเห็นและสามารถส่งบอลได้เป็นมุมแทยงไปข้างหน้า (diagonal pass) ต่างจากเลนกลางที่กองหน้ามักต้องหันหลังให้ประตูเพื่อรับบอลจากเพื่อน การพลิกยิงทำได้ยาก หากรับเฉียงๆ ในพื้นที่ Half-Space จะลดการพลิกตัวตรงนี้ลงไป

ตัวอย่างโค้ชที่ใช้ Half-Space ได้เก่งคงหนีไม่พ้น Pep Guardiola โดยในบล็อกต้นฉบับของ René ที่เขียนในปี 2014 (ตอนนั้นเป๊ปย้ายมาอยู่บาเยิร์นแล้ว) ก็ยกตัวอย่างสูตรของเป๊ปตอนอยู่บาร์เซโลนาอยู่บ่อยครั้ง

หรือถ้าหาคลิปตัวอย่างใน YouTube ส่วนใหญ่จะเป็นนักเตะทีมของเป๊ปอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็น David Silva, Bernado Silva หรือ DKB

หมายเหตุ: เพื่อความแฟร์ Jurgen Klopp ก็เป็นโค้ชอีกคนที่ใช้งาน Half-Space ได้ดีเช่นกัน โดยนักเตะที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้มากคือ Roberto Firmino

ในปี 2021 เว็บไซต์ The Athletic เขียนวิเคราะห์เรื่อง Half-Space โดยเชิญ René มาให้สัมภาษณ์ด้วยในโอกาสที่เขียนบล็อกนี้มาครบ 7 ปี

สิ่งที่ผมชอบคือ René ถ่อมตัวโดยบอกว่า Half-Space เป็นแค่เครื่องมือในการวิเคราะห์ “A half-space is just a visualisation,” ไม่ต่างอะไรกับสูตรการเล่นแบบ 4-4-2 หรือ 3-5-2 คือทุกอย่างเป็นแค่เครื่องมือในการมองหรือวิเคราะห์เกม ไม่ใช่เวทย์มนตร์ว่าจู่ๆ ใช้ Half-Space แล้วจะชนะ ประสบความสำเร็จไปซะทั้งหมด

René ยกตัวอย่างการเล่นของ Gundogan ในปี 2021 ที่วิ่งทะลุช่อง Half-Space ไปทำประตู เขาบอกว่านี่คือตัวอย่างที่เพอร์เฟคต์มาก เสียดายว่าเขาเป็นผู้ช่วยโค้ชของทีม Borussia Monchengladbach ที่ถูกทำประตูนี้

หลังจากฤดูกาลนั้น René Marić ก็ย้ายตามหัวหน้าคือ Marco Rose มาคุมดอร์ทมุนด์อยู่ 1 ฤดูกาล (2021-2022) แล้วย้ายมาเป็นผู้ช่วยโค้ชของ Jesse March ที่ลีดส์ในปี 2022-2023 ซึ่งหัวหน้าก็โดนปลดอีก หมดยุคของลีดส์แล้วจึงมาอยู่กับบาเยิร์นต่อ